วันพุธที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2557

บริษัทจะกำหนดโอทีตามอัตราเงินเดือนได้หรือไม่ ?


            คำว่า “โอที” หรือ Overtime จะแปลว่าค่าล่วงเวลา ซึ่งถ้าจะว่ากันตามกฎหมายแรงงานแล้วค่าล่วงเวลาจะมี 2 แบบคือ 1. ค่าล่วงเวลาในวันทำงานปกติ และ 2. ค่าล่วงเวลาในวันหยุด แต่ในบางครั้งนายจ้างก็มีความจำเป็นจะต้องให้ลูกจ้างมาทำงานในวันหยุดตามเวลาทำงานปกติ เช่น ปกติบริษัทมีเวลาทำงาน 8.00-17.00 น. และมีวันหยุดประจำสัปดาห์คือวันเสาร์-อาทิตย์ แล้วบริษัทก็สั่งให้พนักงานมาทำงานในวันอาทิตย์ระหว่าง 8.00-17.00 น. อย่างนี้พนักงานก็จะได้ค่าทำงานในวันหยุด

            ดังนั้น คนทำงานจึงมักจะเรียกทั้งค่าล่วงเวลาในวันทำงานปกติ, ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดรวม ๆ ว่า “โอที” (หรือบางคนก็เรียกว่า “ค่าโอ”) ผมก็เลยเรียกรวม ๆ แบบคนทำงาน ซึ่งท่านผู้รู้เรื่องภาษาอาจจะเห็นว่าไม่ถูกต้องตามภาษาอังกฤษ แต่คนทำงานเขาเรียกกันอย่างนี้นะครับ

             คราวนี้ปัญหาเรื่องโอทีมีอยู่ว่า มีบางบริษัทที่กำหนดค่าโอทีให้กับพนักงานตามอัตราเงินเดือนแบบตายตัว ยกตัวอย่างเช่น

อัตราเงินเดือน           ค่าล่วงเวลาในวันทำงานปกติ    ค่าทำงานในวันหยุด    ค่าล่วงเวลาในวันหยุด

(1) ไม่เกิน  20,000 บาท      130 บาท/ชั่วโมง                         85 บาท/ชั่วโมง               250 บาท/ชั่วโมง

(2) 20,001-25,000 บาท      140 บาท/ชั่วโมง                         100 บาท/ชั่วโมง             280 บาท/ชั่วโมง

            อย่างนี้จะทำได้หรือไม่ ?

            อันที่จริงแล้วคำตอบในเรื่องนี้ไม่ยากนะครับ เพียงแต่ไปเปิดกฎหมายแรงงานมาตรา 61-63 โดยมีรายละเอียดดังนี้ครับ

มาตรา ๖๑  ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

 มาตรา ๖๒  ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดตามมาตรา ๒๘ มาตรา ๒๙ หรือมาตรา ๓๐ ให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตรา ดังต่อไปนี้

(๑)  สำหรับลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด ให้จ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างอีกไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำหรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

(๒)  สำหรับลูกจ้างซึ่งไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด ให้จ่ายไม่น้อยกว่าสองเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หรือไม่น้อยกว่าสองเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

มาตรา ๖๓  ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันหยุด ให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หรือไม่น้อยกว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

          จากวิธีการคำนวณโอทีตามกฎหมายแรงงานข้างต้นจึงคิดได้ดังนี้ครับ

1.      พนักงานที่ได้รับค่าจ้างเดือนละ 20,000 บาท ต้องได้ค่าทำโอทีในวันทำงานปกติไม่ต่ำกว่าชั่วโมงละ 125 บาท (20,000 หาร 240 = 83 แล้วคูณด้วย 1.5 = 125 บาท ที่หาร 240 เพราะทำงานเดือนละ 30 วัน ๆ ละ 8 ชั่วโมง) ส่วนค่าล่วงเวลาในวันหยุดจะต้องได้ชั่วโมงละ 250 บาท ดังนั้นตารางตาม (1) จึงไม่มีปัญหา แถมพนักงานที่เงินเดือนต่ำกว่า 20,000 บาทก็ยังได้ประโยชน์มากกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เสียอีก (ซึ่งในทางกฎหมายแรงงานถือว่าเป็นคุณกับลูกจ้าง) เช่น คนที่ได้รับค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท แทนที่จะได้รับโอทีชั่วโมงละ 94 บาท ก็ได้รับถึง 130 บาท เป็นต้น

2.       แต่พอมาดูตารางที่ (2) นี่สิครับ การจ่ายโอทีแบบนี้มีปัญหาแต่นอน เพราะพนักงานที่ได้รับค่าจ้างตั้งแต่ 22,400 บาทขึ้นไปจะเสียประโยชน์เนื่องจากบริษัทไปเหมาจ่ายให้ในอัตราที่ต่ำกว่ากฎหมายแรงงานกำหนดไว้ เช่น พนักงานที่มีเงินเดือน 23,000 บาท ควรจะต้องได้รับค่าโอทีในวันทำงานปกติคือชั่วโมงละ 144 บาท ก็ได้รับเพียง 140 บาท

ถ้าบริษัทยังบอกว่ากฎระเบียบของบริษัทเป็นอย่างนี้แล้วยังยึดถือการจ่ายตามกฎระเบียบของบริษัท ก็ต้องถือว่าขัดต่อกฎหมายแรงงาน  เมื่อไหร่พนักงานไปฟ้องศาลแรงงานบริษัทก็จะแพ้คดีและเสียชื่อเสียงได้

          ข้อแนะนำสำหรับผมก็คือ บริษัทควรจะคำนวณค่าโอทีแล้วจ่ายให้พนักงานตามกฎหมายแรงงานจะดีกว่าการมากำหนดอัตราโอทีแบบตายตัวตามฐานเงินเดือน (แถมยังมาทำตารางการจ่ายให้วุ่นวายเสียอีก) ซึ่งจะได้ไม่มีปัญหาการร้องเรียนหรือฟ้องร้องกันในภายหลังครับ
...............................................