วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2557

บริษัทจะหักค่าลาพักร้อนเกินสิทธิได้หรือไม่


            เรื่องที่ผมจะนำมาแชร์ในวันนี้ก็มักเป็นเรื่องที่เราพบเห็นกันได้ทั่วไป ซึ่งหลายบริษัทก็ทำตาม ๆ กันมาโดยคิดว่าถูกต้องและสามารถทำได้โดยไม่ผิด

          แต่สิ่งที่ทำตาม ๆ กันมาโดยคิดว่าก็บริษัทอื่น ๆ เขาก็ทำกันน่ะ หลาย ๆ ครั้งมันก็ผิดกฎหมายแรงงานได้เหมือนกันนะครับ !

            ดังเช่นกรณีนี้เป็นตัวอย่าง....ตามผมมาสิครับ....

            นายชิงชัย (นามสมมุติ) มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี (ที่ภาษาคนทำงานเขาเรียกว่า “ลาพักร้อน” แต่ให้ท่านทราบไว้ว่าภาษากฎหมายแรงงานเขาเรียกว่าเป็น “วันหยุดพักผ่อนประจำปี” ไม่ใช่วันลานะครับ)  ปีละ 13 วันทำงาน

            ในปี 2542 ที่ผ่านมานายชิงชัยก็ใช้สิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปี 13 วันไปจบสิ้นกันไปแล้วไม่มีปัญหาอะไร

            แต่พอปีรุ่งขึ้นคือในเดือนกุมภาพันธ์ 2543 นายชิงชัยขอลาพักร้อนโดยบริษัทก็อนุญาตให้ลาไปได้ 8 วันตามที่ขอ เรื่องมันมาเกิดก็ตรงที่นายชิงชัยดันมายื่นใบลาออกเอาในเดือนกลางเดือนมีนาคมนี่สิครับ

            บริษัทก็เลยมาคิดคำนวณดูว่านายชิงชัยมีสิทธิลาพักร้อนในปี 2543 ได้ 13 วัน แต่ถ้าคำนวณตามสัดส่วนแล้วนายชิงชัยควรจะมีสิทธิถึงกลางเดือนมีนาคมเพียงประมาณ 2.5 วัน เมื่อนายชิงชัยลาไปแล้ว 8 วัน บริษัทก็จะต้องหักวันลาพักร้อนส่วนเกินสิทธิคือ 5.5 วันคืนถึงจะถูกจริงไหมครับ

            วิธีคิดคำนวณสิทธิการลาพักร้อนตามส่วน (Prorate)  แบบนี้ผมเชื่อว่าหลาย ๆ บริษัทก็ทำอยู่จริงไหมครับ ?

            แต่....ช้าก่อน กรณีนี้มีการฟ้องศาลเพื่อให้วินิจฉัยว่าสิทธิวันลาพักร้อนในปี 2543 ของนายชิงชัยจะเป็น 2.5 วันตามสัดส่วนที่ทำงาน หรือจะเป็น 8 วันตามที่บริษัทอนุญาตไปแล้วกันแน่?

            แถ่น..แทน..แท้น..

            ศาลฎีกา (ฎ.8324/2544) ท่านได้มีคำพิพากษากรณีนี้ออกมาว่า....

            “....ในกรณีที่ลูกจ้างลาออก ลูกจ้างจะมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่ที่ลาออกนั้น  และปีก่อน รวมทั้งจะได้ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือไม่เพียงใด ต้องเป็นไปตาม พรบ.คุ้มครองแรงงานมาตรา 30 และมาตรา 56 ในปี 2543 ที่ลูกจ้างลาออก นายจ้างกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้าง 13 วัน และก่อนที่ลูกจ้างจะลาออกในเดือนมีนาคม 2543 นายจ้างอนุญาตให้ลูกจ้างหยุดพักผ่อนประจำปี 8 วัน การหยุดพักผ่อนประจำปีดังกล่าวเป็นการหยุดตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันโดยสุจริต เมื่อลูกจ้างหยุดพักผ่อนประจำปีตามสิทธิและวันที่ตกลงกับนายจ้างไปก่อนลาออก นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเต็ม 8 วันให้แก่ลูกจ้าง....

            สรุปง่าย ๆ ว่ากรณีของคุณชิงชัยนี้ เป็นกรณีที่มีการตกลงกันแล้วระหว่างพนักงานกับบริษัทและบริษัทก็อนุญาตให้พนักงานหยุดพักร้อนไปแล้ว ซึ่งเป็นการตกลงกันโดยสุจริตทั้งสองฝ่าย

เมื่อเป็นอย่างนี้คุณชิงชัยก็ย่อมจะมีสิทธิลาพักร้อนได้เต็ม 8 วันตามที่บริษัทอนุญาตไปก่อนหน้านี้ โดยบริษัทก็ไม่มีสิทธิมาหักค่าพักร้อนออก 5.5 วัน เพราะไปอนุญาตไปแล้วนั่นเอง

ผมเชื่อว่าเรื่องนี้คงจะทำให้ท่านได้ข้อคิดและนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันในการทำงานได้ไม่น้อยเลยจริงไหมครับ

และยืนยันสิ่งที่ผมได้บอกแล้วไปข้างต้นว่าอะไรที่ทำตาม ๆ กันมา และบอกว่า “คนอื่นเขาก็ทำกัน” นั่นน่ะ หลายครั้งเราก็ต้องหาข้อมูลข้อเท็จจริงให้ดีเสียก่อน เพราะสิ่งที่ทำตาม ๆ กันมาโดยที่เราคิดว่ามันถูกต้อง ก็อาจจะผิดพลาดได้เหมือนกัน

ดังนั้น ก่อนจะทำอะไรตาม ๆ กันไปท่านควรจะหาข้อมูลข้อเท็จจริง หาเหตุหาผลให้ดีเสียก่อนว่ามันทำได้จริงหรือไม่เพื่อจะได้ไม่ต้องมาตามแก้ปัญหากันในวันหน้าครับ


………………………………….