วันพุธที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2556

พนักงานไม่ผ่านทดลองงานและไม่ยอมเขียนใบลาออกจะทำยังไงดี ?


            หลายคนคงจะเคยเจอปัญหาที่เมื่อรับพนักงานเข้ามาทำงาน (ซึ่งองค์กรส่วนใหญ่ก็มักจะกำหนดระยะเวลาทดลองงานเอาไว้ 120 วัน) แล้วระหว่างทดลองงานพนักงานใหม่ก็ทำงานไม่เข้าตาหัวหน้างาน เมื่อประเมินผลแล้วก็ไม่ผ่านทดลองงาน ซึ่งบางแห่งก็อาจจะมีการต่อทดลองงานออกไปแต่ก็ยังไม่ผ่านอยู่ดี
            จะทำยังไงดี ?
            โดยทั่วไปการแจ้งไม่ผ่านทดลองงาน (หรือผ่านทดลองงาน) จะต้องเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของหัวหน้างานนะครับ ไม่ใช่ไปโบ้ยให้ฝ่าย HR เป็นคนแจ้ง !!
                แต่ยังมีอีกไม่น้อยที่โยนความรับผิดชอบในการแจ้งไม่ผ่านทดลองงานไปให้ HR เป็นผู้แจ้งโดยสารพัดเหตุผลจะยกขึ้นมาอ้าง (อย่างข้าง ๆ คู ๆ) เช่น เป็นเรื่องของคนฝ่ายบุคคลต้องรับไปสิ หรือฝ่ายบุคคลเป็นคนกำหนดเรื่องการทดลองงานและเป็นคนทำคำสั่งบรรจุ ดังนั้นก็ต้องเป็นคนแจ้งพนักงานเองว่าจะบรรจุหรือไม่บรรจุเป็นพนักงานประจำ ฯลฯ
          ผมมักจะบอกเสมอว่าเรื่องพวกนี้ “ไม่ใช่แฟน..ทำแทนไม่ได้” หรอกครับ
            ลูกน้องใครหัวหน้าก็ต้องแจ้งกันเอง เพราะถ้าให้ HR เป็นคนแจ้งไม่ผ่านทดลองงาน แล้วถ้าพนักงานเขาถามว่าเขาทำงานไม่ดีตรงไหน, บกพร่องตรงไหนถึงไม่ผ่านทดลองงาน ฯลฯ แล้ว HR จะเอาเหตุผลอะไรไปตอบเขาล่ะครับ ก็ไม่ใช่หัวหน้าโดยตรงของเขาสักหน่อย
            ดังนั้น หัวหน้าจะต้องแจ้งผลลูกน้องที่ไม่ผ่านทดลองงานด้วยตัวเองครับ โดยให้เหตุผลประกอบด้วยว่าทำงานบกพร่องอย่างไร และทำไมถึงไม่ผ่านทดลองงาน
            ซึ่งเมื่อไม่ผ่านทดลองงานหัวหน้างานก็ต้องบอกให้พนักงานเขียนใบลาออกเอาไว้ด้วยจะได้ไม่เสียบประวัติว่าถูกเลิกจ้างเพราะไม่ผ่านทดลองงาน เพราะเวลาไปสมัครงานในที่แห่งใหม่เขาจะต้องมีสอบถามในใบสมัครงานอยู่แล้วว่าผู้สมัครงานพ้นสภาพจากที่เดิมมาด้วยเหตุใด ถ้าจะระบุว่าถูกเลิกจ้างเพราะไม่ผ่านทดลองงาน ก็คงจะถูกตั้งข้อสังเกตจากที่ทำงานใหม่ที่ไปสมัครงานแหง ๆ ว่ามีปัญหาอะไรรึเปล่า
            แต่ถ้าเขียนใบลาออกก็ตอบไปว่าลาออกเองจะได้ไม่เสียประวัติและไม่ทำให้เกิดข้อสงสัยจากที่ใหม่ที่ไปสมัครงาน
          แต่กรณีที่เป็นปัญหานี้ก็คือ พนักงานทดลองงานที่ไม่ผ่านทดลองงานไม่ยอมเขียนใบลาออกน่ะสิครับเพราะเขาต้องการค่าบอกกล่าวล่วงหน้า เลยมีคำถามว่าจะทำยังไงดี ?
                คำตอบก็คือ หัวหน้างานควรจะต้องบอกเหตุผลในเรื่องข้อดี-ข้อเสียเหมือนที่ผมบอกไปแล้วข้างต้นคือ การถูกเลิกจ้างเพราะไม่ผ่านทดลองงานมีข้อดีสำหรับพนักงานที่ไม่ผ่านทดลองงานคือได้ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าประมาณ 1 ถึง 2 เดือน (อยู่ที่รอบการจ่ายซึ่งท่านที่อยากรู้เพิ่มเติมให้ไปที่หมวด “กฎหมายแรงงาน” แล้วอ่านเรื่อง “การบอกกล่าวล่วงหน้า..ต้องบอกกล่าวอย่างไรให้ถูกต้อง” ดูอีกครั้งนะครับ)
            แต่ข้อเสียก็คือเมื่อไปสมัครงานที่ใหม่ก็ต้องตอบเขาตามความเป็นจริง เพราะถ้าไปโกหกว่าลาออกจากที่เก่า (ทั้ง ๆ ที่ความจริงถูกเลิกจ้างเพราะไม่ผ่านทดลองงาน) ถ้าหากเขาเช็คกลับมาที่ฝ่ายบุคคลที่เก่า แล้วพบว่าให้ข้อมูลเป็นเท็จ ที่ใหม่ก็ก็สามารถเลิกจ้างได้เนื่องจากเจตนาปกปิดข้อมูลหรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ ทำให้ปฏิเสธการรับเข้าทำงานก็ได้ ซึ่งจะเสียประวัติเปล่า ๆ
            แต่จากประสบการณ์ของผมแล้ว การที่พนักงานทดลองงานไม่เขียนใบลาออกนี้มีน้อยมาก ๆ นะครับ ถ้าคุยกันด้วยเหตุด้วยผลดี ๆ แล้วก็ไม่มีใครอยากจะเสียประวัติเพราะแลกกับค่าบอกกล่าวล่วงหน้าหรอกครับ
            แต่ถ้าบอกให้รู้แล้วยังยืนยันจะให้เลิกจ้าง บริษัทก็ต้องทำหนังสือเลิกจ้างโดยให้เหตุผลในหนังสือเลิกจ้างว่ามีผลการปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามมาตรฐาน หรือตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทกำหนด แล้วก็จ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าไป ก็เท่านั้นแหละครับ !!

………………………………………….