วันนี้้ผมได้รับ e-mail จากบริษัทที่อยู่จังหวัดปราจีนบุรีสอบถามเกี่ยวกับแนวทางการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามนโยบายรัฐบาลเป็นวันละ 255 บาท (ในจังหวัดปราจีนบุรี) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 เป็นต้นไป
แต่เนื่องจากพนักงานที่ทำงานอยู่ในปัจจุบัน (ที่จะได้รับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำจากเดิมวันละ 183 บาท) ทำงานไม่ดี, ขี้เกียจ, ขาดความรับผิดชอบ, หรืออาจจะเป็นพนักงานที่ก่อปัญหาต่าง ๆ อยู่เสมอ ๆ ฯลฯ ฝ่ายบริหารของบริษัทเห็นว่าไม่สมควรจะได้รับการปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้นเลย นัยว่าเสียดายงบประมาณที่บริษัทจะไปปรับให้กับพนักงานที่ไม่สร้างผลงาน (แถมยังสร้างปัญหาให้องค์กรเสียอีก) เหล่านี้ หรือพูดง่าย ๆ ว่าเสียเงินไม่คุ้มผลงานทำนองนั้นแหละครับ
ผมเข้าใจความรู้สึกของฝ่ายบริหารของบริษัทดีครับว่าเป็นยังไง ลองคิดกลับดูสิครับว่า ถ้าท่านเป็นเจ้าของกิจการ ท่านอยากจะปรับเงินเดือนให้กับพนักงานที่ไม่มีผลงาน, สร้างปัญหาสารพัดให้กับทั้งเพื่อนพนักงานและองค์กร ฯลฯ หรือไม่ ถ้าใครตอบว่าควรปรับเงินเดือนให้พนักงานที่มีพฤติกรรมทำนองนี้ล่ะก็ ลองเหลียวไปดูที่สีข้างนะครับ ป่านนี้คงจะแดงเป็นแถบเลยทีเดียวแหละ
ในทางกลับกัน ถ้าหากเป็นพนักงานที่ดีสร้างผลงาน มีความรับผิดชอบ ขยันขันแข็ง หนักเอาเบาสู้ ฯลฯ อย่างนี้สิครับที่องค์กรอยากจะปรับเงินให้อย่างไม่เสียดาย เพราะคนเหล่านี้จะได้สร้างผลงาน และเจริญเติบโตไปพร้อม ๆ กับองค์กรต่อไป
แต่....เรื่องของค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช่เรื่องของการปรับเงินเดือนทั่ว ๆ ไปนี่ครับ !
มันไม่เหมือนกับการปรับเงินเดือนเมื่อเลื่อนตำแหน่ง ไม่เหมือนกับการพิจารณาขึ้นเงินเดือนประจำปีตามผลงานที่บริษัทจะพิจารณาตามผลงาน ตามฝีมือ หรือตามความสามารถ และถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าพนักงานรายใดยังไม่มีผลงาน ทำงานไม่ได้ตามเป้าหมายตาม KPIs ก็เลยให้ขึ้นเงินเดือนน้อยกว่าคนอื่น หรือไม่ให้ขึ้นเงินเดือนประจำปีเลยก็ย่อมทำได้ เพราะเป็นสิทธิในการบริหารของฝ่ายบริหารของบริษัทที่จะปรับเงินเดือน หรือขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานคนใดตามความเหมาะสมก็ย่อมทำได้
แต่...การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเรื่องของการปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานครับ....ไม่ใช่เรื่องของนโยบายบริษัท
นั่นคือไม่ว่าลูกจ้างจะทำงานดีหรือไม่ดีอย่างไร นายจ้าง (หรือบริษัท) ก็จะต้องจ่ายค่าจ้างให้ไม่ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด
เช่น ในกรณีของจังหวัดปราจีนบุรีก็จะต้องปรับการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำจากที่เคยจ่ายให้วันละ 183 บาท มาเป็นจ่ายให้วันละ 255 บาท เท่านั้น
บริษัทจะมาอ้างว่าพนักงานทำงานไม่ดี, ผลงานไม่ได้ตามมาตรฐาน, ขี้เกียจ, กระด้างกระเดื่อง ฯลฯ ก็เลยจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำให้เท่าเดิมคือวันละ 183 บาท
อย่างนี้ล่ะก็บอกได้ว่า "ผิดกฎหมายแรงงาน" ครับ เพราะกฎหมายแรงงานเขากำหนดให้จ่ายไม่ต่ำกว่านี้นี่ครับ ซึ่งหลักของกฎหมายก็คือประชาชนจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้จึงต้องมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมืองเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองครับ
ดังนั้นถ้าพนักงานคนใดยังได้ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ บริษัทก็จะต้องปรับให้พนักงานคนนั้นได้รับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปตามที่กระทรวงแรงงานประกาศไว้โดยไม่มีข้อแม้ใด ๆ
เรื่องไม่หมดแค่นี้นะครับ เพราะอย่าลืมว่าแล้วพนักงานเก่าที่บริษัทจ้างเข้ามาก่อนหน้านี้ แล้วยังได้รับค่าจ้างปัจจุบันต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งพนักงานเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็มีประสบการณ์ทำงาน, มีผลงานดี, ขยันขันแข็ง ฯลฯ บริษัทจะต้องปรับให้พนักงานเหล่านี้หรือไม่อย่างไร ?
คำตอบคือ "จะต้องปรับให้อย่างต่ำเท่ากับประกาศค่าจ้างขั้นต่ำตามที่กระทรวงแรงงานกำหนด" ครับ
เช่น กรณีนี้ก็คือพนักงานเก่าคนใดที่ยังได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 255 บาท ก็ต้องปรับให้เป็นวันละ 255 บาท (กรณีบริษัทอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี)
แต่ก็อีกล่ะครับ แม้จะปรับพนักงานเก่าให้วันละ 255 บาทเท่าค่าจ้างขั้นต่ำ (ของจังหวัดปราจีนบุรี) ก็ตาม แต่พนักงานเก่าก็อาจจะบอกว่าทำไมปรับให้เขารับค่าจ้างเท่ากับเด็กใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ล่ะ ?
เพราะเขาทำงานมาก่อนนี่นา ขืนปรับอย่างนี้ฉันลาออกไปทำงานที่อื่นที่เขาให้ฉันมากกว่านี้ดีกว่า เพราะฉันมีประสบการณ์ทำงาน, มีฝีมือ ผลงานดีอีกต่างหาก บริษัทก็ต้องมานั่งคิดหาวิธีการปรับเงินเดือนคนเก่ายังไงดี จะใช้สูตรใดหรือวิธีไหนล่ะ ?
ท่านก็คงจะต้องกลับไปดูวิธีการและสูตร ตลอดจนผลกระทบซึ่งผมได้เคยเขียนบทความไว้แล้วสองเรื่องในBlog นี้ไปแล้วคือเรื่อง "จะปรับคนเก่าอย่างไร..ถ้าคนใหม่ได้ 300 หรือ 15,000" และ "การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทจะมีผลกระทบกับองค์กรอย่างไรบ้าง" ลองเข้าไปคลิ๊กดูในหมวดการบริหารค่าตอบแทนดูนะครับ
หวังว่าท่านคงจะเข้าใจการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามที่ผมเล่ามานี้แล้วนะครับ
..................................................