คำ ๆ นี้มาจากประสบการณ์ของผมเองแหละครับ เพราะเรื่องเกี่ยวกับค่าตอบแทนของคนทำงานโดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนมักจะเอามาเปรียบเทียบกันอยู่เสมอทั้ง ๆ ที่ทุกบริษัทก็มีกฎเกณฑ์คล้าย ๆ กันว่า....
“เรื่องเงินเดือนเป็นความลับ
ห้ามเอามาบอกกัน”
บริษัทอุตส่าห์แจก
Payslip ปกปิดกันเสียอย่างดี
แต่พอแจกเสร็จพนักงานก็เอามาแลกกันดูยิ่งตอนช่วงขึ้นเงินเดือนประจำปียิ่งมีดราม่าเรื่องนี้กันเยอะ
บางคนโกรธหัวหน้าหาว่าไม่ยุติธรรมบ้างล่ะ
บ้างก็โกรธเพื่อนที่ได้ขึ้นเงินเดือนเยอะกว่าทั้ง ๆ ที่ (คิดเอาเอง) ทำงานเหมือน ๆ
กันไม่ได้เก่งกว่าฉันสักหน่อยทำไมแกถึงได้ขึ้นเงินเดือนมากกว่าฉัน
บ้างก็ฟิวส์ขาดยื่นใบลาออกเข้าทำนองฆ่าได้หยามไม่ได้ไปโน่น ฯลฯ
เช่น
นายวิเชียรเพิ่งจบการศึกษาระดับปริญญาโทเงินเดือน 22,000 บาท
วิเชียรมีเพื่อนทำงานในแผนกเดียวกันเข้ามาทำงานพร้อม ๆ
กันเพิ่งจบปริญญาตรีเงินเดือน 18,000 บาท
แต่เพื่อนที่จบปริญญาตรีกลับได้เปอร์เซ็นต์ขึ้นเงินเดือนที่สูงกว่าคือได้ขึ้น 8
เปอร์เซ็นต์
ในขณะที่ตนเองได้ขึ้น 5 เปอร์เซ็นต์
ก็เลยเกิดความคับข้องใจว่าทำไมฉันจบระดับปริญญาโทถึงได้ขึ้นเงินเดือนน้อยกว่าเพื่อนที่จบปริญญาตรีก็เลยเอาความคับข้องใจนี้มาถามที่
HR เพราะไม่กล้าไปถามจากหัวหน้างาน
แน่นอนว่า
HR ไม่ใช่หัวหน้างานจึงไม่รู้รายละเอียดหรอกครับว่านายวิเชียรทำงานดีหรือไม่ดียังไงถึงได้ขึ้นเงินเดือนคิดเปอร์เซ็นต์น้อยกว่าเพื่อนที่จบปริญญาตรี
แต่ในมุมของ
HR คงจะตอบได้อย่างนี้ครับ
1.
หลักการโดยทั่วไปแล้วการพิจารณาขึ้นเงินเดือนประจำปีเป็นเรื่องของระบบ
Rewards ที่เชื่อมโยงมา
จากการประเมินผลการปฏิบัติงาน
เป็นการพิจารณาผลงานของพนักงานว่าสามารถทำงานได้ตามเป้าหมายที่ตกลงกันระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องหรือไม่
ถ้าบริษัทหรือหน่วยงานมีตัวชี้วัดผลงานที่ชัดเจนก็ยิ่งชัดเจนว่าพนักงานต้องทำยังไงถึงจะได้ผลการประเมินเกรดอะไร
ซึ่งผลการประเมินก็จะแปรเป็นผลการขึ้นเงินเดือนว่าจะได้กี่บาทหรือกี่เปอร์เซ็นต์
ในกรณีนี้แสดงว่าวิเชียรน่าจะทำงานไม่ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดจึงทำให้ได้รับการขึ้นเงินเดือนไม่ได้อย่างที่ตัวเองคาดหวัง
2.
หรือแม้ว่าบางบริษัทจะยังไม่มีการประเมินผลโดยใช้ตัวชี้วัดที่ชัดเจน
ยังใช้ระบบและวิธีการประเมินผล
แบบ “จิตสัมผัส” หรือ Graphic Rating Scale คือการกำหนดหัวข้อ (หรือปัจจัย) ในการประเมิน 10-20 ข้อแล้วก็ประเมินให้เกรด
A, B, C, D, E หรือ 5, 4, 3, 2, 1 แล้วสรุปผลโดยรวมได้เกรดอะไรสักเกรดหนึ่งก็ตาม
แต่การประเมินผลการปฏิบัติงานไม่ใช่การประเมินเพื่อขึ้นเงินเดือนให้ตามวุฒิการศึกษานะครับ
และผมเชื่อว่าคงไม่มีองค์กรไหนที่พิจารณาขึ้นเงินเดือนพนักงานโดยเอาวุฒิการศึกษาเป็นตัวตั้งโดยไม่ดูผลงานเป็นหลัก
ซึ่งหลักในการปรับขึ้นเงินเดือนควรจะต้องดูจากผลการปฏิบัติงานและความสามารถในงานเป็นหลัก
การเรียนจบคุณวุฒิที่สูงขึ้นก็ไม่ได้แปลว่าจะทำงานได้ดีขึ้นเสมอไป
แต่ก็แปลกที่ยังมีคนคิดว่าคนที่จบวุฒิที่สูงกว่าจะทำงานได้ดีกว่าหรือมีความสามารถในงานเก่งกว่าคนที่จบวุฒิต่ำกว่า
3.
จากที่ผมบอกมาข้างต้น
ผลการปฏิบัติงานจึงเป็นเรื่องของตัวเราเองว่าเราสามารถทำงานได้บรรลุ
เป้าหมายหรือทำงานได้ผลออกมาเป็นยังไงดังนั้นผลงานที่เราทำจึงอยู่ที่ตัวเราเอง
แทนที่วิเชียรจะไปคิดว่าคนอื่นเขาทำงานเก่งกว่าเรายังไงถึงได้ขึ้นเงินเดือนมากกว่าเรา
ลองมาเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ว่า “แล้วเราจะทำงานให้ดีขึ้นกว่านี้ได้ยังไง”
โดยไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับคนอื่นจะดีกว่าไหม
4.
สุดท้ายถ้าคิดดีแล้วและแน่ใจแล้วว่าเราก็ทำงานมีผลงานที่ดีเราก็มีฝีมือมีศักยภาพ
แต่หัวหน้าไม่
ยุติธรรม เลือกที่รักมักที่ชัง มองไม่เห็นฝีมือของเรา
ไม่เห็นผลงานของเรา ฯลฯ
ก็ลองไปสมัครงานที่ที่คิดว่าเหมาะสมกับตัวเราจะดีกว่ามานั่งคิดเปรียบเทียบตัวเรากับคนอื่นไหมครับ
บางทีมันอาจจะถึงเวลาที่เรือเล็กควรออกจากฝั่งได้แล้ว
สำคัญว่าเรือเล็กมี
“ของ” สะสมเสบียงที่พร้อมออกเดินทางแล้วหรือยัง
เพราะเส้นทางความก้าวหน้าของเราย่อมขึ้นอยู่กับตัวเราไม่ใช่ขึ้นกับคนอื่น
อย่าเอาความก้าวหน้าของเราทั้งชีวิตไปฝากไว้กับคนอื่น
การไปบ่นหรือไปต่อว่าหัวหน้าก็คงไม่ได้ทำให้เขาเปลี่ยนเกรดเปลี่ยนผลการประเมินแล้วมาเพิ่มเปอร์เซ็นต์ขึ้นเงินเดือนให้เราหรอกครับ
เอาเวลาไปมองหาสนามแข่งขันที่เหมาะกับศักยภาพและความสามารถของตัวเราดีกว่าครับ
อย่าไปลงแข่งในสนามที่เราไม่มีวันชนะ
ทั้งหมดที่ผมแชร์มานี้คงจะทำให้ท่านที่กำลังคิดวนเวียนอยู่กับเรื่อง
“เงินเดือนของเราได้เท่าไหร่..ไม่สำคัญเท่ากับเพื่อนได้เท่าไหร่”
ได้คิดอะไรบางอย่างบ้างแล้วนะครับ
ตบท้ายด้วยคำพูดของไอน์สไตน์ที่เคยบอกไว้ว่า....
“มีแต่คนเสียสติเท่านั้นที่จะทำสิ่งเดิมซ้ำ ๆ
แต่กลับหวังผลลัพธ์ที่แตกต่าง”
.............................