วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2567

จะออกคำสั่ง/ประกาศใด ๆ ควรคิดถึงหลักความเป็นจริง

             นอกเหนือจากการที่ทุกบริษัทที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปจะต้องมีข้อบังคับการทำงานตามมาตรา 108 ประกาศให้ลูกจ้างได้รู้ตามกฎหมายแรงงานแล้ว

            ทุกบริษัทก็ยังมีประกาศ คำสั่ง ระเบียบ ฯลฯ เพื่อใช้ปฏิบัติกันภายในองค์กรอีกหลายเรื่องที่กฎหมายแรงงานไม่ได้พูดเอาไว้ เช่น ประกาศเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การขึ้นเงินเดือนประจำปี, ระเบียบการจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง, คำสั่งโยกย้ายพนักงานให้ไปปฏิบัติงานที่สาขาต่าง ๆ ของบริษัท ฯลฯ

            ผู้บริหารหลายคนยังมีความคิดที่ผิด ๆ อยู่ว่าบริษัทจะออกประกาศ คำสั่ง ระเบียบใด ๆ ก็ได้ ซึ่งพนักงานจะต้องปฏิบัติตาม ถ้าพนักงานฝ่าฝืน บริษัทมีสิทธิทำตามประกาศ คำสั่ง ระเบียบนั้นได้ทันที

            เช่น....

1.      ประกาศให้พนักงานมาทำงานในช่วงวันสงกรานต์โดยบริษัทจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ ถ้าพนักงานฝ่าฝืนไม่มาทำงาน บริษัทจะไล่ออก

2.      ออกระเบียบห้ามพนักงานลากิจในช่วงทดลองงาน หากพนักงานลากิจในช่วงทดลองงานจะถือว่าขาดงาน บริษัทจะไม่จ่ายค่าจ้างในวันที่ขาดงานและจะมีผลกับการพิจารณาผลงานระหว่างการทดลองงาน

ฯลฯ

เป็นไงบ้างครับกับประกาศหรือระเบียบแปลก ๆ ทำนองนี้ ?

ถ้าบริษัทของท่านไม่มีประกาศอะไรแบบนี้ก็ดีไปนะครับ แต่ยังมีอีกหลายบริษัทที่มีการออกประกาศหรือมีระเบียบอะไรทำนองนี้อยู่

ตรงนี้เป็นเรื่องที่ทาง HR จะต้องหาเวลาพูดคุยกับฝ่ายบริหารด้วยเหตุด้วยผลกันโดยบอกให้ฝ่ายบริหารเข้าใจว่า

1.      บริษัทจะออกกฎ ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง ข้อบังคับใด ๆ ก็ได้ แต่ประกาศ คำสั่ง ข้อบังคับ กฎระเบียบของบริษัทจะต้องไม่ขัดกฎหมายแรงงาน ถ้าขัดกฎหมายแรงงานจะเป็นโมฆะ

2.      กฎ ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง ข้อบังคับต่าง ๆ ที่ บริษัทออกมานั้นแม้จะไม่ผิดกฎหมายแรงงานก็ตาม แต่มัน Make sense สมเหตุสมผลกับสภาพความเป็นจริงและสามารถใช้ปฏิบัติได้จริงหรือไม่

เช่น กรณีแรกที่ออกประกาศให้พนักงานมาทำงานช่วงหยุดสงกรานต์ แม้บริษัทจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ถูกต้องตามกฎหมายแรงงานแล้วก็ตาม

แต่การไปคาดโทษพนักงานที่ไม่มาทำงานโดยจะไล่ออกนั้น ถ้าเกิดปัญหาว่าพนักงานส่วนใหญ่ไม่ยอมมาทำงานเพราะเขาจะกลับต่างจังหวัดไปไหว้บุพการีและเล่นน้ำสงกรานต์ตามเทศกาล

บริษัทจะทำยังไง จะกล้าไล่พนักงานเกือบทั้งหมดออกจริงหรือไม่ ?

ถ้าไม่ไล่ออกตามที่ประกาศไว้แล้วจะออกประกาศมาเพื่อ....?

มีงานอะไรที่จำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมาทำงานกันทั้งบริษัทถึงกับจะต้องออกประกาศแบบนี้เลยหรือ ถ้าเป็นความจำเป็นเร่งด่วนในบางหน่วยงานจะใช้วิธีพูดคุยขอความร่วมมือกันเฉพาะหน่วยงานนั้นโดยไม่ต้องออกประกาศจะดีกว่าหรือไม่

นี่ยังไม่รวมความรู้สึกของพนักงานที่มีต่อฝ่ายบริหารอีกนะครับว่าจะเป็นยังไงนะครับ

หรือการที่บริษัทออกระเบียบตามข้อ 2 นี่ HR ก็ต้องกล้าบอกกับฝ่ายบริหาร ว่าตามมาตรา 34 พนักงานมีสิทธิลากิจได้ตามระเบียบของบริษัท

และมาตรา 34 ก็ไม่ได้บอกว่าช่วงทดลองงานจะลากิจไม่ได้สักหน่อย ถ้าพนักงานทดลองงานขอลากิจเพื่อไปรับปริญญาก็ต้องอนุญาตให้เขานะครับ เพราะเข้าตามหลักเกณฑ์การลากิจของบริษัท

หรือผู้บริหารจะตอบคำถามพนักงานทดลองงานว่ายังไง ถ้าเขาถามว่าทำไมพนักงานประจำถึงลากิจไปรับปริญญาได้ แต่ทำไมพนักงานทดลองงานถึงลากิจไปรับปริญญาไม่ได้ ?

บริษัทจะไปออกกฎเกณฑ์แบบนี้มาเพื่อให้พนักงานเกิดความรู้สึกไม่ดีไปเพื่ออะไร ?

ความเป็นมืออาชีพของคนทำงาน HR จึงต้องกล้าที่จะพูดความจริงและหลักที่ถูกต้องให้ฝ่ายบริหารและพนักงานได้ทราบ แม้ว่าคนที่ฟังเขาจะรู้สึกไม่แฮ๊ปปี้ก็ตาม ดีกว่าจะให้เขาเข้าใจอะไรผิด ๆ จนทำให้ตัดสินใจผิดพลาดจากความเข้าใจผิดนั้น ๆ

นอกจากจะกล้าพูดความจริงในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว HR ก็ต้องแนะนำ How to แก้ปัญหาให้เขาด้วยนะครับ เพราะสิ่งเหล่านี้จะแสดงความเป็นมืออาชีพของคนทำงาน HR

ฝากเป็นข้อคิดสำหรับ HR มืออาชีพทุกท่านครับ