เรื่องนี้ผมว่าคนที่เคยเป็นผู้สัมภาษณ์จะต้องเคยเจอผู้สมัครงานที่เวลาตอบคำถามต่าง ๆ จะดูคล่องแคล่วมีประสบการณ์ตรงในงานนั้นมาหลายปี แสดงภูมิรู้ดูว่าเชี่ยวชาญชำนาญงานในตำแหน่งที่สมัครเป็นอย่างดี แถมเคยทำงานในองค์กรใหญ่โตน่าเชื่อถือ ก็เลยรับเข้ามาทำงาน
แต่พอรับเข้ามาแล้วกลับกลายเป็นหนังคนละม้วนซะงั้น
หรือเมื่อเราคุยกับใครก็ตามในเรื่องใด
คน ๆ นั้นก็จะ Present
ตัวเองว่าเก่งรอบรู้เชี่ยวชาญชำนาญเรื่องนั้น ๆ จนดูน่าเชื่อถือ
แต่พอทำงานด้วยกันไปสักระยะหนึ่งก็จะเริ่มเห็นว่าผลงานที่เห็นไม่เป็นอย่างที่คิดไว้ตอนแรก
นี่แหละครับคือเรากำลังเจอคนที่มีความรู้แบบโชเฟ่อร์
หรือ Chauffeur
Knowledge เข้าให้แล้ว
ที่มาของคำ
ๆ นี้คือเมื่อปีค.ศ.1918
(พ.ศ.2461) มีนักฟิสิกส์ชาวเยอรมันรางวัลโนเบลชื่อ
Max Planck ได้รับเชิญไปบรรยายเกี่ยวกับเรื่อง Quantum
Mechanics
แต่เนื่องจากแกบรรยายเรื่องเหล่านี้มาหลายแห่งซึ่งคนที่เป็นครูบาอาจารย์ก็จะรู้ดีว่าเรื่องที่ตัวเองสอนจะเป็นเรื่องเดิม
ๆ ซ้ำ ๆ สำหรับตัวเอง แต่ก็จะเป็นเรื่องใหม่สำหรับกลุ่มผู้ฟัง (คนเรียน) อยู่เสมอ
ซึ่งอาจารย์ Planck
ก็คงจะเหมือนกับอาจารย์อีกไม่น้อยที่อาจจะเบื่อที่ต้องพูดเรื่องเดิม
ๆ ซ้ำซาก
แต่..ทุกครั้งที่แกไปบรรยายแกก็จะมีคนขับรถตามไปนั่งฟังหลังห้องทุกครั้ง
ซึ่งคนขับรถของแกก็จดจำเนื้อหาการบรรยายได้ทั้งหมด
รวมไปถึงลีลาท่าทางระหว่างการสอนได้แทบทุกซ็อตเพราะดูการสอนกันมาเป็นปี ๆ
คนขับรถก็เลยขออาสาว่าจะขึ้นไปพูดหัวข้อนี้แทนอาจารย์
Planck
ซึ่งอาจารย์ก็ตกลงเพราะอยากจะดูผลลัพธ์ว่าจะเป็นยังไง
ซึ่งอย่าลืมนะครับว่าในปีพ.ศ.2461 สื่อโซเชียลยังไม่มี
การเผยแพร่หน้าตาของบุคคลก็ยังไม่แพร่หลายเหมือนทุกวันนี้ ดังนั้นคนขับรถก็ปลอมแปลงเป็นนักฟิสิกส์รางวัลโนเบลได้แบบสบาย
ๆ
ท่านคงเดาเรื่องนี้ได้ถูกใช่ไหมครับว่าผลลัพธ์การบรรยายเป็นยังไง
?
ใช่แล้วครับ
ผู้ฟังชื่นชอบมากแถมเรตติ้งการบรรยายว่าเนื้อหาดีมาก พูดได้เข้าใจ น่าสนใจ
และยังบอกว่าวิทยากรเป็นคนให้เกียรติคนทุกชนชั้นอีกต่างหาก
เพราะในตอนท้ายที่วิทยากร
(ปลอม) เปิดโอกาสให้ผู้เรียนถามคำถามที่ยาก ๆ ซึ่งเจ้าตัวเองก็ตอบไม่ได้
ก็ตอบผู้เรียนไปว่า “คำถามนี้มีคำตอบแบบง่าย ๆ ที่แม้แต่โชเฟอร์ของผมก็ไขปัญหานี้ได้
ผมขอให้โชเฟอร์ของผมเป็นผู้ตอบนะครับ”
แล้ววิทยากร
(ปลอม) ก็ให้ศาสตราจารย์ตัวจริง (ที่สวมบทโชเฟอร์หลังห้อง) เป็นผู้ตอบแบบเนียน ๆ
เราเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้
1.
ระวังอคติแบบ HALO Effect (https://tamrongsakk.blogspot.com/2021/08/7-halo-effect.html) ไม่ควรด่วนรีบสรุปจนเกินไป
แต่ควรใช้หลักกาลามสูตรคืออย่าเชื่อสิ่งใดง่ายจนเกินไป
มีสติ หาข้อมูลเกี่ยวกับคน ๆ นั้นให้ดีว่ามีพื้นเพที่มายังไง
มีความรู้และประสบการณ์ในเรื่องนั้น ๆ มาจริงหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน หรือแค่มีความรู้และประสบการณ์ในเรื่องนั้นแบบครูพักลักจำผิวเผินแต่เอามาคุยฟุ้งสร้าง
Profile ให้ดูน่าเชื่อถือ
2.
คนที่รู้ลึกรู้จริงจะมีแนวโน้มที่จะยอมรับความไม่รู้ของตัวเอง
คือไม่ได้พยายามตะแบงสร้างความน่าเชื่อถือว่าตัวเองรู้ไปเสียทุกเรื่อง
อะไรที่ตัวเองไม่รู้หรือไม่เคยทำก็จะบอกตรงไปตรงมาว่าไม่รู้หรือไม่เคยทำ
แต่คนที่ไม่รู้จริงมักจะบอกว่าตัวเองรู้ทุกเรื่อง
3.
ถ้าไม่มีอคติครอบงำมากจนเกินไปและสังเกตให้ดีจะพบว่าคนที่รู้แบบท่องจำจากตำรากับคนที่รู้มาจากประสบการณ์ทำงานตรงมีความแตกต่างกัน
เชื่อว่าเรื่องนี้จะช่วยทำให้ท่านเท่าทันคนประเภท
Chauffeur
Knowledge มากขึ้นแล้วนะครับ