วันนี้มีเรื่องมาเล่าสู่กันฟังอีกแล้วครับ
เป็นคนละเรื่องแต่
HR ของบริษัทแห่งหนึ่งกลับจับมา Match ให้เป็นเรื่องเดียวกันซะงั้น
ก็เลยไม่รู้ว่าจะมีบริษัทไหนยังใช้วิธีแกงโฮะแบบนี้อยู่อีกไหม
ถ้ามีก็จะได้มาทำความเข้าใจไปพร้อมกันเลยนะครับ
เหตุเกิด
ณ บริษัทแห่งหนึ่งมีวิธีปฏิบัติก็คือเมื่อพนักงานมาทำงานสาย 2 ชั่วโมงบริษัท
(โดยหัวหน้า) ก็จะบอกให้พนักงานเขียนใบลากิจ 2 ชั่วโมง โดยบอกว่าเมื่อครบ
8 ชั่วโมงก็ถือเป็นลากิจ 1 วัน และเมื่อใช้สิทธิลากิจครบ
3 วันแล้ว ถ้าพนักงานลากิจก็จะถือเป็นการลาโดยไม่ได้รับค่าจ้าง
(Leave without pay)
ผมฟังแล้วก็ได้แต่คิดในใจว่า “อิหยังวะ” ??
เอาเรื่องมาสายก่อนนะครับ
ปกติเมื่อพนักงานมาทำงานสายหัวหน้าก็ควรจะต้องเรียกลูกน้องที่มาสายมาตักเตือนด้วยวาจา
ถ้ายังมาสายอีกก็ต้องออกหนังสือตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร บางแห่งก็อาจจะไม่จ่ายค่าจ้างตามเวลาที่มาสาย
(No
work no pay นะครับไม่ให้ใช้คำว่า “หักค่ามาสาย”
เพราะผิดกฎหมายแรงงาน) แล้วก็จะมีผลกับการขึ้นเงินเดือนประจำปี การจ่ายโบนัส การเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่ง
จนถึงขั้นถ้ามาสายแล้วถูกตักเตือนเป็นหนังสือเป็นครั้งสุดท้ายแล้วยังมาสายผิดซ้ำคำเตือนก็อาจจะถูกเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยก็ว่ากันไปเพราะถือเป็นความผิดทางวินัย
ส่วนการลากิจนั้นตามกฎหมายแรงงานกำหนดให้พนักงานมีสิทธิลากิจไม่น้อยกว่า
3 วันทำงานต่อปี ซึ่งบริษัทก็ควรจะต้องกำหนดเงื่อนไขการลากิจให้ชัดเจน
เช่น
การลากิจนั้นควรเป็นการลาเพื่อไปทำกิจธุระส่วนตัวที่จำเป็นที่ไม่สามารถมอบหมายให้ใครทำแทนได้
เช่น ลากิจไปรับซ้อมใหญ่หรือไปรับปริญญา, ลากิจเพื่อไปแต่งงาน, ลากิจเพื่อไปบวช
(นอกพรรษา), ลากิจเพื่อไปซื้อขายโอนที่ดิน (จะมอบอำนาจให้ใครไปทำแทนก็กลัวถูกเขาโกง),
ลากิจเพื่อไปดูแลรักษาบุพการีที่เจ็บป่วยหนัก, ลากิจเพื่อไปงานศพบุพการี ฯลฯ ไม่ใช่ว่าใช้สิทธิลากิจเพื่อไปเที่ยวอย่างงี้ก็ไม่ได้ครับ
พนักงานจะต้องยื่นใบลากิจล่วงหน้าไม่น้อยกว่า.....วัน
ไม่ใช่ว่าหายไปวันนี้โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรแล้ววันรุ่งขึ้นมายื่นใบลากิจอย่างงี้ก็ไม่ควรจริงไหมครับ
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการมาสายกับการลากิจมันคนละ
Species
กันเลยนะครับ
เมื่อพนักงานมาทำงานสายบริษัทก็ควรจะต้องดำเนินการทางวินัยไปในเรื่องการมาสาย
ไม่ควรเอาเรื่องมาสายมาปะปนกับการลากิจให้มันวุ่นวายและสับสนกับพนักงาน
แถมยังตอบคำถามพนักงานได้ยากด้วยสิว่าทำไมมาสายแล้วต้องให้เขียนใบลากิจ
ความเป็นมืออาชีพของ
HR คือต้องมีหลักการและเหตุผลที่ถูกต้องและกล้าอธิบายให้ฝ่ายบริหารเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง
แม้จะไม่ถูกใจฝ่ายบริหารก็ตามเพื่อให้เกิดแรงงานสัมพันธ์ที่ดีในบริษัทและยังป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการร้องเรียน
(แรงงานเขต) หรือการฟ้องศาลแรงงานในอนาคตอีกด้วย
ก็คงได้แต่เอาเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง
แต่ถ้าบริษัทไหนยังคิดว่าทำแบบนี้แล้วดี จะยังคงทำอยู่ และจะทำต่อไป
ก็เอาตามที่คิดว่าสบายใจก็แล้วกันครับ