วันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

HR มีส่วนร่วมในการเลื่อนตำแหน่งมากน้อยแค่ไหน ?

             เห็นมีการตั้งกระทู้ทำนองว่า HR ควรจะต้องดูแลให้ดีอย่าปล่อยให้เด็กเส้นเด็กฝากเข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ในบริษัท ก็เลยอยากเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้อย่างนี้ครับ 

            จริงอยู่ที่องค์กรควรจะต้องยึดหลักการ Put the right man to the right job แต่วิธีการบริหารจัดการเกี่ยวกับการเลื่อนตำแหน่งของแต่ละองค์กรจะไม่เหมือนกัน โดยมักจะแบ่งเป็น 2 แบบใหญ่ ๆ คือ

1.      แบบที่ 1 : อนุมัติการเลื่อนตำแหน่งโดยนายใหญ่เพียงคนเดียว

วิธีนี้เป็นแบบเบสิคที่มักเจอในองค์กรแบบธุรกิจครอบครัว หรือองค์กรที่ยึดโยงการตัดสินใจเรื่องนี้ไว้ที่ตัวบุคคลที่มีอำนาจสูงสุดในองค์กร ซึ่งก็คือ MD หรือ CEO ให้มีอำนาจอนุมัติหรือไม่อนุมัติการเลื่อนตำแหน่งได้เพียงคนเดียว

โดยแบ่งเป็น 2 วิธีย่อยคือ

1.1   หน่วยงานที่ต้องการจะเสนอเลื่อนตำแหน่งส่งเรื่องมาที่ MD/CEO โดยตรง

1.2   หน่วยงานที่ต้องการจะเสนอเลื่อนตำแหน่งส่งเรื่องผ่าน HR เพื่อให้ HR ช่วยกรองคุณสมบัติผู้ถูกเสนอว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ (ถ้ามี) หรือไม่

ถ้าผ่านเกณฑ์ HR ก็จะส่งต่อไปที่ MD/CEO เพื่อพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติก็ว่ากันไป ซึ่งวิธีนี้ MD/CEO อาจจะถามความเห็น HR (ถ้าเขาเชื่อความเห็นของ HR) เพื่อประกอบการตัดสินใจบ้าง ไม่ถามบ้างแต่สุดท้ายเขาก็จะเป็นคนตัดสินใจ

2.      แบบที่ 2 : อนุมัติการเลื่อนตำแหน่งโดยอยู่ในรูปคณะกรรมการ

วิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้ในองค์กรที่ต้องการเปิดโอกาสให้ผู้บริหารที่ MD/CEO ไว้วางใจเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณาการเลื่อนตำแหน่ง โดยตั้งชื่อคณะกรรมการชุดนี้ว่า “คณะกรรมการพัฒนาพนักงาน” โดยมี MD/CEO เป็นประธาน มีผู้จัดการฝ่ายที่ MD/CEO เห็นสมควร (ไม่จำเป็นต้องตั้งผู้จัดการฝ่ายทุกฝ่ายมาเป็นกรรมการเพราะจะมีจำนวนมากเกินไป) มาเป็นคณะกรรมการ และมีผู้จัดการฝ่าย HR เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการชุดนี้

วิธีการนี้คือ

2.1   จะต้องมีหลักเกณฑ์การเลื่อนตำแหน่งที่ชัดเจนเกี่ยวกับคุณสมบัติของคนที่จะได้รับการเสนอให้เลื่อนตำแหน่ง ซึ่งหลักเกณฑ์นี้จะถูกร่างโดย HR แล้วส่งให้คณะกรรมการพิจารณา โดย  MD/CEO จะลงนามในประกาศและแจ้งหลักเกณฑ์ให้พนักงานทราบ

2.2   เมื่อถึงรอบการพิจารณา HR ก็จะแจ้งให้แต่ละหน่วยงานเสนอรายชื่อเข้ามาที่ HR เพื่อกรองคุณสมบัติก่อนจะส่งเข้าคณะกรรมการพัฒนาพนักงานพิจารณา

2.3   คณะกรรมการแต่ละคนจะประชุมถกเถียงกันเรื่องคุณสมบัติของผู้ถูกเสนอชื่อให้เลื่อนตำแหน่งของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งจะมีทั้งเรื่องที่เป็น Performance และ Potential แบบเป็นทางการและแบบ Off record เช่น พฤติกรรมส่วนตัวที่เหมาะหรือไม่เหมาะสม เป็นต้น

2.4   เมื่อคณะกรรมการพัฒนาลงมติแล้ว HR จะทำบันทึกการประชุมส่งเวียนให้คณะกรรมการเซ็นรับทราบมติ และทำคำสั่งเลื่อนตำแหน่งสำหรับพนักงานที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการให้ MD/CEO เซ็นชื่อในคำสั่งและประกาศแจ้งให้พนักงานทราบต่อไป

จากที่ผมเล่ามาข้างต้น จะเห็นได้ว่า HR มีส่วนร่วมเกี่ยวกับการเลื่อนตำแหน่งในฐานะกรรมการพัฒนาพนักงานคนหนึ่ง (กรณีที่มีคณะกรรมการ) เท่านั้น

และแทบไม่มีส่วนร่วมเลยในกรณีที่ตัดสินใจโดย MD/CEO คนเดียว

แต่ถ้าเราเอาความจริงที่หน้างานมาพูดกันแบบตรงไปตรงมา ไม่ว่าองค์กรจะมีวิธีพิจารณาแบบที่ 1 หรือแบบที่ 2 เราก็จะรู้กันอยู่ว่าใครมีฝีมือเป็นยังไง ใครเป็นเด็กเส้นเด็กฝากหรือไม่

หรือแม้แต่อยู่ในรูปของคณะกรรมการก็จะรู้กันอยู่ว่ากรรมการคนไหนถูกหรือไม่ถูกกับผู้จัดการฝ่ายไหน หรือกรรมการคนไหนที่ไม่ถูกชะตากับคนที่ได้รับการเสนอชื่อให้เลื่อนตำแหน่งคนไหนเป็นการส่วนตัวบ้าง

HR จึงทำหน้าที่เพียงคนที่เสนอความคิดเห็นในฐานะกรรมการคนหนึ่งเท่านั้นซึ่งบางครั้งทั้ง MD/CEO หรือกรรมการคนอื่น ๆ อาจจะไม่ฟังเลยก็เป็นไปได้

เว้นแต่องค์กรที่ฝ่ายบริหารมีความเชื่อถือในตัว HR สูงถึงจะยอมเชื่อยอมคล้อยตาม HR ซึ่งแน่นอนว่าคงจะมีไม่มากนักหรอกครับ

พูดมาถึงตรงนี้ผมเชื่อว่าท่านคงเห็นภาพทั้งหมด

และสรุปได้แล้วนะครับว่าใครกันแน่ที่จะมีส่วนร่วมสำคัญที่จะชี้ขาดเกี่ยวกับการเลื่อนตำแหน่งว่าจะมีเด็กเส้นเด็กฝากมากน้อยแค่ไหน

แต่ยังไงก็ตามส่วนตัวผมก็ยังคิดว่าการมีคณะกรรมการพัฒนาดีกว่าการไม่มีคณะกรรมการและให้ MD/CEO ตัดสินใจเพียงคนเดียว

เพราะอย่างน้อยยังมีการถกเถียง ปรึกษาหารือ มีรายงานการประชุมที่เป็นหลักฐานอ้างอิงเมื่อเกิดปัญหาต่าง ๆ จากการเลื่อนตำแหน่งในอนาคต

ทั้งหมดที่ผมเล่ามานี้ก็เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับองค์กรของท่านที่จะนำไปปรับใช้หรือแก้ไขเพื่อให้ได้คนที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ต่อไปนะครับ