มีคำถามจากผู้เข้าอบรมว่า “ที่บริษัทให้พนักงานกู้เงินจากกรรมการบริษัทแล้วหักเงินเดือนพนักงานใน Payroll ได้หรือไม่?”
น่าสนใจนะครับ
และผมเชื่อว่าคงจะมีหลายบริษัทที่มีนโยบายให้พนักงานกู้ยืมเงินบริษัททำนองนี้อยู่
ผมก็เลยถามกลับไปว่า
“ช่วยเล่าลักษณะวิธีการให้กู้หน่อยซิว่าทำกันยังไง”
คำตอบคือ
พนักงานจะกู้เงินจากกรรมการบริษัทโดยตรงโดยที่ไม่ได้จ่ายเงินกู้นี้จากบัญชีของบริษัทโดยคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคาร
แล้วบริษัทก็จะหักเงินเดือนพนักงานทุกเดือนเพื่อชำระหนี้เงินกู้นี้ใน Payroll
เมื่อถามว่าทำไมถึงไม่ให้พนักงานกู้เงินจากบริษัทโดยตรง?
คำตอบคือถ้าทำอย่างนั้นก็ต้องถือว่าเป็นรายได้ของบริษัทซึ่งต้องมีการคำนวณภาษีส่งสรรพากรเป็นเรื่องจุกจิก
ก็เลยให้พนักงานกู้ตรงจากกรรมการบริษัทซึ่งก็คือเป็นการกู้ส่วนตัวกันจะดีกว่า
ท่านคิดว่าแบบนี้บริษัทจะหักเงินเดือนพนักงานได้ไหมครับ?
ติ๊กต่อก..ติ๊กต่อก..
เมื่อพูดถึงเรื่องการหักค่าจ้าง
(หรือที่พูดกันติดปากว่าหักเงินเดือนนั่นแหละครับ) ก็ต้องไปดูมาตรา 76
ในกฎหมายแรงงานบอกไว้ว่าบริษัทจะหักค่าจ้างได้ 5 ข้อ แต่ที่เข้าข่ายกรณีนี้คือข้อ 3 “..ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์
หรือสหกรณ์อื่นที่มีลักษณะเดียวกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์หรือหนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียว
โดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง..”
จากข้อ 3 มาตรา 76 ข้างต้นจะเห็นได้ว่าหนี้ของบริษัทต้องเป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ตัวพนักงานฝ่ายเดียวซึ่งต้องเป็นสวัสดิการ
แต่ลักษณะการกู้ยืมเงินที่บอกมานั้นไม่ได้เป็นสวัสดิการกู้ยืมเงินจากบริษัท
เป็นการกู้ยืมเงินจากตัวกรรมการบริษัทโดยตรงนะครับ!
ดังนั้นบริษัทจึงไม่สามารถหักเงินเดือนพนักงานจาก
Payroll ได้
วิธีที่จะทำได้คือบริษัทต้องไม่หักเงินเดือนพนักงานจาก
Payroll แต่ต้องให้พนักงานรับเงินเดือนเต็มตามปกติ
แล้วเมื่อถึงวันเงินเดือนออก พนักงานก็ต้องไปเบิกเงินสดมาจ่ายให้กรรมการบริษัท เพราะเป็นการกู้ยืมกันแบบส่วนบุคคลไม่เข้าข่ายสวัสดิการของบริษัท
แต่ถ้าบริษัทรู้อย่างนี้แล้วยังฝืนหักเงินเดือนอย่างนี้ต่อไปก็ต้องรู้ว่านี่เป็นความเสี่ยงที่ในอนาคต
ถ้าหากพนักงานไปฟ้องศาลแรงงานหรือไปร้องเรียนแรงงานเขต
ก็ต้องถือว่าบริษัททำผิดกฎหมายแรงงานมาตรา 76 นี้ด้วยแหละครับ
................................
ฟังพ็อดแคสต์คลิ๊ก