วันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ขาดงาน 3 วันติดต่อกันขึ้นไป..เลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยทันทีได้ไหม?


            ผมว่าหัวหน้าหลายคนคงเคยเจอปัญหาว่าวันดีคืนดีลูกน้องก็หายจ้อยไปโดยไม่บอกไม่กล่าว โทรไปตามตัวก็ปิดมือถือไม่รับสายติดต่อตัวก็ไม่ได้กลายเป็นมนุษย์ล่องหนซะงั้น

            ส่วนสาเหตุที่พนักงานแปลงร่างเป็นมนุษย์ล่องหนหายตัวไปนั้นก็มีหลากหลายนะครับ เช่น ทะเลาะกับหัวหน้า, มีปัญหาทางบ้าน, สุขภาพไม่ดี, ถูกตำรวจจับเพราะชวนเพื่อนมาเล่นไพ่ที่ห้องพักเสียงดังจนข้างห้องโทรไปเรียกตำรวจ, ประสบอุบัติเหตุ, หนีหน้าเจ้าหนี้ที่มาคอยทวงเงิน, เบื่องาน ฯลฯ

          แต่ไม่ว่าพนักงานจะขาดงานหายไปด้วยสาเหตุใดก็ตาม ประเด็นสำคัญคือมันเข้าข่ายความผิดร้ายแรงตามกฎหมายแรงงานไหมล่ะ?

            เพราะถ้าเข้าข่ายเป็นความผิดร้ายแรง นายจ้างก็สามารถเลิกจ้างลูกจ้างที่ขาดงานโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้ครับ

            เมื่อพูดถึงความผิดร้ายแรงเราก็ต้องไปดูที่มาตรา 119 ของกฎหมายแรงงาน อ่านไปถึงข้อ 5 จะบอกเอาไว้ว่า 5. ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร

            หลายบริษัทที่อ่านข้อ 5 ตามมาตรา 119 แล้วด่วนสรุปเร็วเกินไปคือพอพนักงานขาดงานหายไป 3 วันทำงานติดต่อกันก็เลิกจ้างพนักงานทันทีและไม่จ่ายค่าชดเชยใด ๆ โดยอ้างว่าพนักงานทำผิดข้อ 5 มาตรา 119

          โดยผู้บริหารอาจจะไม่ได้อ่านให้ครบถึงคำว่า “โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร” ที่ผมขีดเส้นใต้ไว้

            แล้วก็เลยเลิกจ้างพนักงานที่ขาดงาน 3 วันทำงานขึ้นไปทันทีโดยไม่จ่ายค่าชดเชย!!

            ลองมาดูกันดีไหมครับว่าถ้าพนักงานขาดงานที่ผมจะยกตัวอย่างให้ดูต่อไปนี้คือการขาดงานแบบ “ไม่มีเหตุผลกันสมควร” หรือเปล่า?

1.      พนักงานไม่มาทำงานเนื่องจากมีเหตุเกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น ฝนตกหนักทางขาด หรือเกิดน้ำท่วมจนไม่สามารถเดินทางมาทำงานได้ตามปกติ
2.      พนักงานป่วยหนักจนมาทำงานไม่ได้
3.      พนักงานหยุดไปช่วยงานศพบุพการี, คู่สมรส, บุตร
4.      พนักงานมีเหตุจำเป็นทางครอบครัว เช่น ต้องดูแลรักษาพยาบาลบุพการี, คู่สมรส, บุตร ที่ป่วยหนักมากจำเป็นต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด
5.      พนักงานถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวไว้

ถ้าพนักงานขาดงานหายไปตั้งแต่ 3 วันขึ้นไปด้วยสาเหตุที่ผมยกตัวอย่างมาข้างต้น แล้วบริษัทไปเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามอายุงานโดยอ้างว่าพนักงานทำความผิดข้อ 5 ตามมาตรา 119 แล้วล่ะก็ ขอบอกว่าถ้าพนักงานไปฟ้องศาลแรงงานขึ้นมาบริษัทมีหวังแพ้คดีแหงแก๋ เพราะการขาดงานดังกล่าวล้วนมีเหตุผลอันสมควรครับ

แต่ถ้าพนักงานขาดงานตั้งแต่ 3 วันขึ้นไปด้วยสาเหตุดังนี้คือ....

1.      พนักงานมาลงเวลาเข้าทำงานแต่ไม่ปฏิบัติงาน เช่น มารูดบัตรลงเวลามาทำงานตั้งแต่เช้า แต่แทนที่จะทำงานกลับโดดงานไปเที่ยวหรือกลับไปนอนตีพุงอยู่บ้านซะงั้น
2.      พนักงานนัดหยุดงานโดยไม่ชอบโดยไม่มีปี่มีขลุ่ยอยู่ดี ๆ ก็ชักชวนเพื่อน ๆ ให้นัดหยุดงานวันรุ่งขึ้นเพื่อประท้วงโดยไม่ได้มีการบอกกล่าวหรือยื่นข้อเรียกร้องใด ๆ ให้บริษัทรู้มาก่อน
3.      หยุดงานเพราะเมาค้างมาจากเมื่อคืน ดื่มหนักไปหน่อยว่างั้น
4.      บริษัทมีคำสั่งย้ายโดยชอบให้ไปทำงานในแผนกอื่นซึ่งบริษัทมีอำนาจออกคำสั่งได้ตามกฎระเบียบของบริษัท แต่พนักงานดื้อไม่ยอมย้ายไปตามคำสั่งแล้วก็หยุดงานประท้วงซะเลย
5.      พนักงานแจ้งลาป่วยเท็จ แม้ว่าบริษัทจะอนุมัติให้ลาป่วยไปแล้ว แต่ต่อมาบริษัททราบความจริงว่าไม่ได้ป่วยจริงจึงติดต่อให้กลับมาทำงาน แต่พนักงานก็ไม่ยอมกลับมาทำงานตามคำสั่ง

อย่างนี้ล่ะก็ถ้าพนักงานขาดงานตั้งแต่ 3 วันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม บริษัทสามารถเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยใด ๆ เพราะถือว่าพนักงานขาดงานโดยไม่มีเหตุอันสมควรครับ

หวังว่าเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ท่านคงจะแยกแยะและนำกลับไปปฏิบัติได้ถูกต้องแล้วนะครับว่าพนักงานขาดงานตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไปแบบไหนที่เลิกจ้างได้ทันทีโดยต้องจ่ายค่าชดเชย หรือไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

ที่สำคัญคือบริษัทจำเป็นต้องรู้สาเหตุการขาดงานของพนักงานให้ชัดเจนเสียก่อนซึ่งก็ไม่พ้นการที่จะต้องติดต่อพูดคุยกับตัวพนักงานที่ขาดงานไม่ว่าจะเป็นความพยายามโทรไปสอบถาม, การไปเยี่ยมเยียนในที่พักของพนักงาน ฯลฯ จะได้นำมาใช้ประกอบการตัดสินใจได้อย่างถูกต้องเพื่อลดปัญหาต่อไปครับ

...............................
ฟัง Podcast ได้ที่.. https://tamrongs.podbean.com/e/ep76%e0%b8%82%e0%b8%b2%e0%b8%94%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99-3%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%95%e0%b8%b4%e0%b8%94%e0%b8%95%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%81/