ตั้งแต่ทั่วโลกรวมทั้งบ้านเราเจอปัญหาจากโควิด19 ระบาดและได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าอย่างที่ทราบกันแล้วนั้น
ผลกระทบหนึ่งที่รุนแรงมากคือผลกระทบทางเศรษฐกิจที่หดตัวทำให้หลายกิจการต้องปิดตัวลง
ส่วนกิจการที่ยังอยู่ก็ต้องสู้ต่อไป
แม้ว่าลักษณะของผลกระทบทางเศรษฐกิจรอบนี้จะดูคล้ายกับที่เราเคยเจอมาหนัก
ๆ ในปี 2540
ที่เราถูกโจมตีค่าเงินโดยฝรั่งนักเก็งกำไรค่าเงินที่ทำเอาสถาบันการเงินของเราในยุคนั้นล้มไปหลายแห่ง
และมีผลทำให้บริษัทที่เป็นลูกค้าลูกหนี้ของสถาบันการเงินทำธุรกรรมต่อไปได้ก็ต้องพลอยล้มตามไปด้วย
ทำให้มีการปิดกิจการ มีการเลิกจ้างพนักงานกันมากมาย
แต่ผมมองว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจและปัญหาในรอบนี้ต่างไปจากเมื่อปี
2540 เพราะเมื่อปี 2540 เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจที่เราถูกโจมตีเรื่องค่าเงินทำให้ต้องลดค่าเงินบาทลงมากมาย
ในยุคนั้นสถาบันการเงินขาดสภาพคล่องเงินร่อยหรอ
แต่ในรอบนี้เราไม่ได้มีปัญหาที่สถาบันการเงินขาดสภาพคล่องแบงค์ยังมีเงินสำรองมากกว่าเมื่อปี
2540 เยอะ แต่เป็นปัญหาที่เกิดจากเชื้อโรคที่ทำให้ต้องมีการ Lock
down, บางธุรกิจต้องหยุดกิจการ
คนต้องถูกกักตัวจนออกไปทำมาหากินไม่ได้ จะไปที่ทำงานก็กลัวจะมีการแพร่เชื้อโรค ฯลฯ
การเดินทางไปมาหาสู่กันทั่วโลกแทบจะถูกตัดขาด ทำให้เศรษฐกิจทั้งโลก
(ไม่เฉพาะบ้านเรา) ได้รับผลกระทบรุนแรงกันทั้งหมด นี่จึงเป็นความแตกต่างจากเมื่อปี
2540 อย่างมากมายครับ
ก่อนเศรษฐกิจบ้านเราจะล่มเมื่อปี
2540 นั้น เรามีการขึ้นเงินเดือนประจำปีเฉลี่ยประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์มาโดยตลอด
แต่พอหลังจากปี 2540 เกิดการปิดธนาคารไปบางแห่ง
บริษัทห้างร้านหลายแห่งต้องปิดกิจการมีการเลิกจ้างคนออกเป็นจำนวนมาก
หลายแห่งที่ยังสู้ต่อก็ต้องขอความร่วมมือจากพนักงานในการลดเงินเดือนลงกันถ้วนหน้าตั้งแต่ฝ่ายบริหารยันพนักงานปฏิบัติการ
ซึ่งคนที่เคยผ่านวิกฤติปี 2540 ยังจำได้ดี
ถ้าใครที่อายุครบ
23 ปีในปีนี้ (คือเกิดในปี 2540) ก็อาจจะไม่ทราบว่าตอนที่ท่านอายุ
1 ขวบ (ปี 2541)
คนรุ่นลุงรุ่นพ่อรุ่นน้ารุ่นอาหลายคนไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือนประจำปีนะครับ
จากที่เคยได้รับการขึ้นเงินเดือนประจำปีประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์กลายเป็น
0 แต่แม้ว่าจะไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือนก็ยังดีกว่าถูกเลิกจ้าง
พอท่านอายุครบ
2 ขวบ (ปี 2542) หลายกิจการก็ยังไม่ได้ขึ้นเงินเดือนประจำปีให้พนักงาน
แต่ถ้าเป็นองค์กรใหญ่หน่อยก็อาจจะเริ่มมีขึ้นเงินเดือนให้บ้างประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์
พอท่านอายุครบ
3 ขวบ (ปี 2543) เป็นต้นไปค่าเฉลี่ยการขึ้นเงินเดือนประจำปีของเราจะอยู่ประมาณ
5 เปอร์เซ็นต์มาจนถึงทุกวันนี้ (ก่อนจะเจอวิกฤติโควิด 19) จนท่านอายุ 23 ปีในปีนี้ที่กำลังเจอปัญหาวิกฤติที่อาจจะหนักกว่าเมื่อปี
2540 แต่เป็นปัญหาคนละรูปแบบกับเมื่อปี 2540
ถ้าถามผมว่าแนวโน้มการขึ้นเงินเดือนประจำปี
2564
จะเฉลี่ยกี่เปอร์เซ็นต์?
ก็ตอบได้จากประสบการณ์ตรงนี้เลยว่าส่วนใหญ่จะเป็น
0
เปอร์เซ็นต์ครับ!
ถ้าจะถามว่าทำไมผมถึงตอบแบบนี้ มองโลกในแง่ร้ายมากไปหรือเปล่า?
ใครที่รู้จักผมดีก็จะทราบว่าผมไม่ชอบพูดอะไรให้คนตื่นตกใจหรือหวาดกลัวหรือให้คนคิดอะไรแต่เรื่องร้าย
ๆ ในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน
ผมไม่ได้มีเจตนาจะพูดให้ท่านที่อ่านเรื่องนี้เกิดความตระหนกตกใจหรือมองแต่ในเรื่องเลวร้าย
แต่ผมอยากให้เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับผลกระทบที่จะมาถึงด้วยความไม่ประมาทมากกว่า
เหตุผลที่ผมคิดเห็นอย่างนี้คือ
1.
บริษัทจำเป็นต้องเก็บสภาพคล่องทางการเงินไว้กับตัวเองให้มากที่สุด
ตรงนี้จะเห็นได้จากการที่หลายบริษัทขอความร่วมมือในการลดเงินเดือนพนักงานลงตั้งแต่ระดับบริหารจนถึงระดับปฏิบัติการ
ถ้าบริษัทไหนยังไม่มีการลดเงินเดือนพนักงานลงก็ถือว่าท่านโชคดีมากที่ยังทำงานในบริษัทนั้น
นี่ยังไม่รวมอีกหลายองค์กรที่ทำโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด (Early Retirement) เพื่อลด Staff Cost และอัตรากำลังลง ยังไม่รวมกับตัดลดค่าใช้จ่ายด้านต่าง
ๆ ที่นอกเหนือจาก Staff Cost ของบริษัทลง ทั้งหมดที่ทำก็เพื่อ
Save สภาพคล่องทางการเงินเอาไว้ให้ได้มากที่สุด
2.
มีการคาดการณ์ในเรื่อง GDP ของไทยในหลาย
ๆ สำนักว่าจะติดลบ 7-8 เปอร์เซ็นต์
ซึ่งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ติดลบขนาดนี้ธุรกิจห้างร้านต่าง ๆ
ก็เดินหน้าไปแบบยากลำบากแหละครับ
3.
ใช้รูปแบบการรับมือกับปัญหาเหมือนช่วงปี 2540-42 อย่างที่ผมบอกตอนต้นว่าเมื่อปี
2540 ที่เราเกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจนั้น พอหลังจากนั้นมา 1-2 ปี เราจะพบว่าในปี 2541 ส่วนใหญ่จะยังไม่มีการขึ้นเงินเดือนประจำปีและปี
2542 ก็ยังไม่ขึ้นเงินเดือนประจำปีเสียเป็นส่วนใหญ่
นั่นคือบริษัทต่าง ๆ จำเป็นต้องรักษาสภาพคล่องทางการเงินเอาไว้ให้มากที่สุดเพื่อเตรียมรับกับปัญหาในอนาคต
ดังนั้นในรอบนี้ก็น่าจะใช้ Pattern เดียวกัน
4.
ผลประกอบการที่จะออกมาในไตรมาส 3
และ 4 ที่ไม่เป็นไปตามแผนเมื่อตอนต้นปี ตอนนี้เราเพิ่งเริ่มเข้าไตรมาสที่
3 ซึ่งแน่นอนว่าผลประกอบการในไตรมาส 2 (เดือนเมย.-มิย.63)
ออกมาไม่ดีอยู่แล้ว แต่ผลกระทบของโควิด19 ในไตรมาส
2 เป็นแค่เพียงหนังตัวอย่าง
แต่เนื้อเรื่องจริงจะฉายในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ซึ่งท่านคงพอจะคาดการณ์ได้นะครับว่าจะออกมาเป็นยังไง
และนโยบายการขึ้นเงินเดือนประจำปีนั้นในหลายบริษัทก็จะบอกไว้ชัดเจนว่าปัจจัยหนึ่งจะมาจากผลการประกอบการของบริษัทด้วย
จากมุมมองทั้ง 4 เรื่องใหญ่
ๆ ทำให้ผมสรุปได้ว่าแนวโน้มการขึ้นเงินเดือนประจำปี 2564 สำหรับบริษัทส่วนใหญ่โดยเฉพาะบริษัทที่เป็น
SME หรือบริษัทที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งหมดจะเป็น
0 เปอร์เซ็นต์ครับ!
ถ้าบริษัทไหนยังมีการขึ้นเงินเดือนประปี 2564 อยู่บ้างเป็นส่วนน้อยผมก็ขอทำนายค่าเฉลี่ยเอาไว้ว่าจะลดลงเหลือประมาณ
3 เปอร์เซ็นต์จากเดิมที่เราเคยขึ้นเงินเดือนประจำปีเฉลี่ย
5 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่หลังปี 2543 เป็นต้นมาโดยตลอด
ถ้าบริษัทไหนยังมีการขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานปี 2564 ผมก็ยินดีด้วยครับ
ผมบอกในตอนต้นแล้วว่าที่เขียนเรื่องนี้ขึ้นมาไม่ได้ต้องการทำให้เกิดความตื่นตระหนกแต่ต้องการจะให้ตระหนักและเตรียมรับมือกับผลกระทบและต้องเข้าใจการตัดสินใจของฝ่ายบริหารเพื่อให้องค์กรอยู่รอดด้วยเหมือนกัน
ซึ่งเรื่องนี้ผมก็ไม่ได้เข้าข้างฝ่ายบริหารนะครับ
แต่นาทีนี้เป็นเวลาที่ฝ่ายของพนักงานต้องเข้าใจเหตุผลและความจำเป็นของฝ่ายบริหารด้วยเหมือนกันว่าทำไมถึงไม่มีการขึ้นเงินเดือนประจำปี
และจำเป็นจะต้องร่วมมือร่วมใจผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน
จะจับจ่ายใช้สอยอะไรก็คิดให้ดี
ๆ เสียก่อนและไม่ควรก่อหนี้โดยไม่จำเป็นนะครับ
………………………………