วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

แบบไหนถึงจะเข้าข่ายการลากิจ


            การลากิจจะต้องเป็นการลาไปทำกิจธุระที่จำเป็นด้วยตนเองที่ไม่สามารถจะมอบหมายให้ใครไปทำแทนได้ เช่น การลาไปโอนที่ดิน (กรณีไปซื้อขายที่ดิน) ที่จะต้องไปเซ็นเอกสารต่าง ๆ ด้วยตนเอง, การลาบวช, การลาไปแต่งงาน, ลาดูแลบิดา มารดา คู่สมรส บุตร ที่ป่วยหนักและไม่มีคนดูแล, ลาไปรับปริญญา เป็นต้น

ซึ่งบริษัทจะต้องเขียนข้อบังคับการทำงานเกี่ยวกับการลากิจให้ชัดเจนว่าสิทธิในการลากิจของพนักงานเป็นอย่างไร แบบไหนคือลากิจแบบไหนไม่ใช่การลากิจ บริษัทจะไม่อนุญาตให้พนักงานลากิจในกรณีไหนบ้าง บริษัทจะอนุมัติการลากิจแบบไม่จ่ายค่าจ้างในกรณีไหน ฯลฯ

แม้ว่าตามกฎหมายแรงงานพนักงานมีสิทธิลากิจได้ไม่น้อยกว่าปีละ 3 วันทำงานโดยได้รับค่าจ้างก็จริง แต่ถ้าพนักงานไม่ได้ลาเพื่อไปทำกิจธุระด้วยตัวเองจริงตามระเบียบข้อบังคับการลากิจของบริษัท บริษัทก็มีสิทธิที่จะไม่อนุญาตให้ลากิจได้ครับ จึงควรเขียนเงื่อนไขและรายละเอียดเกี่ยวกับการลากิจเอาไว้ในข้อบังคับการทำงานให้ชัดเจนจะได้ไม่ต้องมาตามแก้ปัญหากันภายหลัง 

 เพราะการลากิจคงไม่ใช่การลาเพื่อไปพักผ่อน ลาไปเที่ยว ลาไปกินเหล้าสังสรรค์กับเพื่อนฝูง ฯลฯ จริงไหมครับ

ดังนั้นคนที่เป็นหัวหน้าจำเป็นจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงในการลากิจของลูกน้องตัวเองให้ดีว่าเป็นการลากิจตามเจตนารมณ์ตามระเบียบจริงหรือไม่ 

เพราะหากอนุมัติให้ลูกน้องลากิจโดยที่ไม่ใช่กิจธุระจริง เช่น อนุมัติให้ลูกน้องลากิจเพื่อไปเที่ยวโดยนำมารวมกับวันหยุดพักผ่อนประจำปี อย่างนี้ก็จะทำให้ลูกน้องคนอื่นเอาอย่างแบบ Me too และเกิดปัญหาในการบริหารจัดการต่อไป

.................................