คำถามแบบนี้เริ่มมีเข้ามามากขึ้นและเรื่องนี้คงจะทำให้คนที่เป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้บริหารรู้สึกอิหลักอิเหลื่ออยู่ไม่น้อย
เพราะเดี๋ยวนี้โลกออนไลน์พัฒนามามากแล้วหลายคนก็มีธุรกิจขายของบนเฟซบุ๊ค, อินสตาแกรมและก็มักจะเริ่มจากการทำเป็นอาชีพเสริม (ที่เรียกกันว่าทำเป็นไซด์ไลน์)
พร้อม ๆ กับทำงานประจำไปด้วย
ถ้าเป็นอาชีพเสริมหลังเลิกงานหรือวันหยุดก็คงไม่มีใครว่าอะไรหรอก
แต่นี่มาโพสขายของ, ตอบคำถามลูกค้า,
แจ้งอินบ๊อกซ์ต่อรองราคากันในเวลาทำงานนี่สิ
ทำให้หัวหน้าอดไม่ได้ที่จะต้องตักเตือนกัน แต่ก็มีเสียงโต้จากลูกน้องมาว่า....
“เงินเดือนบริษัทให้น้อยไม่พอกินหนูก็ต้องหารายได้เสริมบ้างน่ะสิ หนูต้องรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งบ้านนะพี่” หรือ “แหม..แค่โพสเฟซแป๊บเดียวเองมาจ้องจับผิดอะไรกันนักหนางานก็ไม่ได้เสียหายสักหน่อย” หรือ “ผมไม่ได้ร่ำรวยเหมือนพี่นี่....” ฯลฯ
ผมว่าเรื่องแบบนี้เริ่มมีมากขึ้นและมีการตั้งกระทู้เหมือนหัวเรื่องนี้ถี่ขึ้นในโลกออนไลน์
ผมก็เลยนำเอาความคิดเห็น
(บางส่วน) ของผู้คนจากกระทู้ทำนองนี้มาเล่าสู่กันฟังซึ่งมีทั้งคนเห็นว่าไม่เห็นเป็นอะไรเลย
และคนที่เห็นว่าไม่เหมาะสมดังนี้ครับ
1.
ถ้าไม่กระทบกับงานหลักไม่ขัดกับธุรกิจที่บริษัททำอยู่ก็ปล่อยเขาไปเถอะ
ถ้าไม่อยากให้เขาทำอย่างงี้ก็ขึ้นเงินเดือนให้เขาซะ
2.
ในเวลางานต้องทำงานให้นายจ้าง
ให้ทำได้ตอนพัก
3.
ถ้าไม่กระทบกับงานหลักก็ปล่อยเขา
คนเรารายได้ไม่พอกินก็ต้องหารายได้เสริมกันบ้าง
4.
ปล่อยให้เขาขายไปเหอะ
ทีหัวหน้ายังขายของออนไลน์ในเวลางานให้เห็นอยู่ทุกวันเลย
5.
เดี๋ยวนี้อาชีพเสริมเขาทำกันเกือบทุกคนอยู่ที่ว่าทำแบบไหน
ผู้บริหารระดับหัวหน้าบางคนคุยโทรศัพท์ก็ใช่ว่าจะคุยเรื่องงานในบริษัท
อาจคุยเรื่องธุรกิจส่วนตัวที่ไปลงทุนไว้หรือเล่นหุ้นก็ได้
6.
ไม่ให้ทำให้ฝ่ายบุคคลจัดการได้
เรื่องนี้ต้องใช้ฝ่ายบุคคลทำ เรามีวิธีการตักเตือนและใช้สิ่งแวดล้อมมาปรับพฤติกรรมพนักงานได้
7.
ตามหลักในเวลางานควรจะทำงานตามหน้าที่
ถ้าเขามีเวลาว่างไปขายของออนไลน์ก็เป็นความบกพร่องของนายจ้างส่วนหนึ่งที่ไม่ตักเตือนเพราะมันกระทบกับงานหลักอยู่แล้ว
สมาธิจะไม่อยู่กับงานประจำ
8.
สามารถตักเตือนด้วยวาจาหรืออาจจะด้วยหนังสือเพื่อเป็นการสร้างวินัยในสำนักงาน
สำหรับเหตุผลที่ว่าเงินเดือนไม่พอใช้ลูกจ้างสามารถพูดให้เราเห็นใจได้แต่เราไม่ควรเห็นใจ
ฯลฯ
ข้างต้นนี้เป็นแค่เพียงน้ำจิ้มตัวอย่างของความคิดเห็นของคนในยุคนี้
ซึ่งในบางความเห็นก็มีประเด็นหน้าสนใจเช่นในข้อ
4 และข้อ 5 ข้างต้นที่บอกว่าหัวหน้าก็ขายของออนไลน์เหมือนกัน
หรือผู้บริหารก็เล่นหุ้นในเวลางานเหมือนกันถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับลูกน้องขายของออนไลน์ในเวลางาน!!
เรียกว่าใช้กฎ “Me
too” เลยนะครับ หัวหน้าทำได้ลูกน้องก็ทำมั่งสิ
ที่ผมนำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังก็เพราะคิดว่าเราจะต้องเจอปัญหาทำนองนี้เพิ่มมากขึ้นตามยุคสมัย
และอยากจะให้ท่านที่เกี่ยวข้องได้ลองกลับไปคิดดูให้ดีว่าเราจะรับมือกับเรื่องนี้กันยังไงดี
การแก้ปัญหานี้ถ้ามองในมุมของ
HR ก็ต้องว่ากันไปตามวินัยและการลงโทษของบริษัทแหละครับ
ซึ่งก็มักจะขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหารของแต่ละบริษัทที่จะมีวิธีปฏิบัติแบบ “เข้ม” แบบเด็ดขาดคือเลิกจ้างกันไปเลย
หรือจะใช้มาตรการ “จากเบาไปหาหนัก”
คือพูดจาตักเตือนกันก่อนไปจนถึงการลงโทษที่หนักขึ้นตามขั้นตอนทางวินัยที่บริษัทกำหนดจนที่สุดคือการเลิกจ้าง!!
ถ้าใครมีไอเดียดี ๆ ที่จะแก้ปัญหานี้ได้ก็แชร์ความรู้เล่าสู่กันฟังบ้างก็คงจะเป็นประโยชน์กับคนที่กำลังเจอปัญหานี้อยู่นะครับ
……………………………….