สมัยผมยังเด็ก ๆ
เคยเรียน “โคลงโลกนิติ” (คำ ๆ นี้อ่านออกเสียงว่า “โคลง-โลก-กะ-นิด นะครับไม่ใช่ “โคลง-โลก-กะ-นิ-ติ”)
บทหนึ่งบอกไว้ว่า....
“รู้น้อยว่ามากรู้ เริงใจ
กลกบเกิดอยู่ใน สระจ้อย
ไป่เคยเห็น ชเลไกล กลางสมุทร
ชมว่าน้ำบ่อน้อย มากล้ำ ลึกเหลือ”
ผมว่าโคลงโลกนิติข้างต้นนี่แหละอธิบายเรื่องของ
Dunning-Kruger
Effect ของฝรั่งข้างต้นได้อย่างชัดเจน
แล้วก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าข่าย Dunning-Kruger
Effect นี้คือ “หลง” เชื่อมั่นในตัวเองอย่างสูงคิดว่าตัวเองมีความสามารถมีความเก่งไปหมดทุกเรื่อง
และใครก็ตามที่คิดไม่เหมือนตัวเองคือคนที่ผิดไปหมด
จะว่าไปก็คล้าย ๆ
กับคนหลงตัวเองในบุคลิกภาพแบบ Narcissism ที่ผมเคยเขียนไปก่อนหน้านี้แล้วนั่นแหละครับ
เพียงแต่นี่เป็นการหลงในความรู้ความสามารถที่ตัวเอง(คิดว่า)มีเยอะ
แต่ที่จริงแล้วกลับไม่มีจริง!
เรามาดูที่มาของเรื่องนี้กันดีกว่านะครับว่าคำ
ๆ นี้มีที่มายังไง....
เมื่อปี 1999 (พศ.2542) มีนักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Cornell 2 คนคือ ดร.เดวิด ดันนิ่ง (David Dunning) และ ดร.จัสติน ครูเกอร์ (Justin Kruger) เกิดมีข้อสงสัยแปลก
ๆ ขึ้นมาว่า....
“คนที่ไม่มีความสามารถจะไม่มีวันรู้หรอกว่าตัวเองไม่มีความสามารถนั้นอยู่จริง
ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะความสามารถที่เขาจะต้องใช้เพื่อเรียนรู้ว่าตัวเองไม่มีความสามารถนั้นมันไม่มี”
เป็นไงครับ ตรรกะนี้ถ้าอ่านผ่าน ๆ
เร็ว ๆ แล้วคิดตามไม่ทันก็จะงง ๆ ใช่ไหมครับ?
ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ
ให้เข้าใจอย่างนี้ดีกว่า เช่น..
ชวนพิศชอบร้องเพลงมาก
ทุกครั้งที่ไปคาราโอเกะเธอก็จะต้องยึดไมค์ไว้แล้วร้องเพลงโปรดด้วยความมั่นใจในพลังเสียงที่เธอคิด(เอาเอง)ว่าเธอร้องเพลงเพราะขนาดถ้าไปประกวด
The Voice เธอต้องชนะเลิศแน่นอน
แต่เพื่อน ๆ ล่ะ..พอฟังชวนพิศร้องเพลงแล้วก็ล้วนแต่ส่ายหน้าเป็นพัดลมกันเป็นแถว
เพราะทุกคนลงความเห็นตรงกันว่าชวนพิศร้องเพี้ยนแถมคล่อมจังหวะบ่อยอีกต่างหาก
ถ้าสมศรีเพื่อนคนหนึ่งในกลุ่มจะใจกล้าพอที่จะไปบอกชวนพิศว่าเธอร้องเพี้ยน
ชวนพิศก็จะโกรธและหาว่าสมศรีหูไม่ถึงขนาดแก้มเดอะสตาร์ก็ยังร้องสู้เธอไม่ได้เลยนะเนี่ยะ
สงสัยสมศรีคงอยากจะแย่งเธอร้องล่ะสิถึงได้มาหาเรื่องว่าเธอร้องเพี้ยน
อนิจจา..ชวนพิศเองก็ไม่มีความสามารถที่จะรับรู้ความจริงได้เลยว่าเธอร้องเพลงไม่ได้เรื่องจริง
ๆ เพราะว่าเธอขาดความทักษะและสามารถด้านการร้องเพลงมากพอที่จะรู้ว่าเธอไม่มีความสามารถด้านการร้องเพลงอยู่จริง
เพราะเธอไม่มีความสามารถที่จะแยกแยะได้ออกระหว่างคนที่ร้องเพี้ยนคีย์กับคนที่ร้องถูกต้องเป็นยังไงเนื่องจากเธอขาดความสามารถด้านการร้องเพลงนั่นเองครับ
ตัวอย่างของชวนพิศข้างต้นนี่แหละคือคำอธิบายของ
Dunning-Kruger
Effect
โดยในการวิจัยทดสอบครั้งนี้ Dunning และ Kruger ได้มีการทดลองให้คนที่เข้าร่วมโครงการซึ่งเป็นนักศึกษาของ
Cornell ได้ประเมินความสามารถของตัวเองในด้านต่าง ๆ เช่น
ด้านที่คิดว่าตัวเองมีอารมณ์ขัน, ความสามารถด้านตรรกะ,
ความสามารถด้านไวยากรณ์ภาษาอังกฤษก่อนที่จะให้นักศึกษาเหล่านี้ทำแบบทดสอบจริง
ผลการทดลองออกมาปรากฎว่าผู้เข้าร่วมการทดลองที่มีความสามารถต่ำที่สุด
25
เปอร์เซ็นต์จะประเมินความสามารถของตัวเองเอาไว้ว่าเก่งกว่าความเป็นจริงถึง
50 เปอร์เซ็นต์
(คือประเมินว่าตัวเองเก่งมากกว่าความเป็นจริงถึงเท่าตัวครับ)
ในขณะที่คนที่มีความสามารถสูงที่สุด 25 เปอร์เซ็นต์กลับประเมินความสามารถของตัวเองต่ำกว่าที่ตัวเองมีถึง
15 เปอร์เซ็นต์!!
สรุปก็คือคนที่ไม่มีความสามารถมักจะคิดว่าตัวเองเก่ง
ตัวเองดี ตัวเองมีความสามารถมากกว่าความสามารถจริงที่ตัวเองมีอยู่
หรือจะเรียกง่าย ๆ
ว่าคนที่เป็น Dunning-Kruger Effect คือคนที่โง่แล้วอวดฉลาด
(โดยไม่รู้ว่าตัวเองโง่) ก็คงไม่ผิดก็คงจะได้แหละครับ
แต่..คนที่เก่งจริงมีความสามารถจริงกลับประเมินความสามารถของตัวเองต่ำจนเกินไป
เพราะคิดว่าในเมื่อตัวเองทำได้ก็น่าจะมีคนที่เก่งกว่าตัวเองทำได้เช่นเดียวกัน
เลยมีคำพูดหนึ่งว่า “Little knowledge
can be dangerous”
หรือการรู้อะไรแล้วไม่รู้จริงนี่เป็นสิ่งอันตรายนะครับ
ผมเคยเห็นคนที่เป็นที่ปรึกษาด้านควบคุมคุณภาพไปให้คำแนะนำเรื่องของกฎหมายแรงงานที่ไม่ถูกต้องกับผู้บริหารของบริษัทมาแล้ว
(ผมเคยเขียนเรื่องจรรยาบรรณของการเป็นที่ปรึกษาไปแล้วก่อนหน้านี้)
ซึ่งกรณีนี้ผมก็ว่าที่ปรึกษาคนนี้อาจจะคิดว่าตัวเองมีความรู้เรื่องระบบคุณภาพเป็นอย่างดีก็เลยคิด(เข้าข้างตัวเอง)ว่าตัวเองมีความรู้ความสามารถด้านกฎหมายแรงงานที่ดีตามไปด้วย(มั๊ง)
โดยที่ตัวของแกเองก็ไม่รู้หรอกว่ากฎหมายแรงงานที่แกคิดว่ารู้ดีและให้คำแนะนำกับลูกค้าไปน่ะคือสิ่งที่ไม่แกไม่รู้จริงและไม่ถูกต้อง!!
จึงอธิบายตามทฤษฎีนี้ได้ว่าที่ปรึกษาคนนี้ขาดความสามารถในการรับรู้ว่าตัวเองไม่มีความรู้กฎหมายแรงงานและก็ยังเชื่อ(แบบเข้าข้างตัวเอง)ว่าตัวเองมีความรู้กฎหมายแรงงานเป็นอย่างดี
ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานหรือเคยรู้เรื่องพวกนี้มาก่อน
สาเหตุที่แกขาดความสามารถที่จะรับรู้ว่าตัวเองไม่มีความรู้กฎหมายแรงงาน
ก็เพราะตัวเองไม่มีความสามารถด้านกฎหมายแรงงานจริง ๆ อยู่ในตัวน่ะสิครับ เมื่อไม่มีภูมิรู้เรื่องกฎหมายแรงงานในตัวก็เลยไม่รู้ว่าอะไรคือถูกอะไรคือผิดกฎหมายแรงงาน
แถมคิดเข้าข้างตัวเองว่าสิ่งที่แนะนำลูกค้าไปน่ะมันถูกต้องทั้ง ๆ
ที่มันเป็นคำแนะนำที่ผิด!!
คงไม่งงกับตรรกะที่ผมอธิบายนะครับ 555
ผมจึงมาถึงบทสรุปในเรื่องของ Dunning-Kruger
Effect ก็คือผมเชื่อว่าเรา ๆ ท่าน ๆ
คงเคยเห็นคนที่หลงคิดว่าตัวเองรู้ทุกเรื่องและ Ego จัด Self
จัด ใครมาวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ขืนมาวิจารณ์ก็จะหัวร้อนสวนกลับ
หรือยิ่งถ้าคนประเภทนี้มี FC แฟนคลับเยอะ ๆ
ที่เป็นสาวกแบบงมงายใครมาแตะต้องมีหวังสวนกลับกันมาบ้างแล้ว
ถ้าคนเหล่านี้ยังดันทุรังไม่ปรับปรุงตัวเอง
และคิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาลดาวทุกดวงต้องมาโคจรรอบ ๆ ฉันก็ปล่อยเขาไปเถอะครับวันหนึ่งเขาก็จะเจอกับสัจธรรมของเขาเองแหละ
ต่อไปเวลาเราจะพูดถึงคนพวกนี้ก็ให้พูดโค้ดลับว่าพวกนี้เป็นพวก
“DKE”
ดีไหมครับ
แต่ก็ให้ระวังตัวเราเองอย่าตกเป็นเหยื่อของ
DKE ด้วยล่ะครับ
………………………………….