ตามความคิดของผม ๆ เห็นว่ามีอยู่ 2 แบบคือ..
1. แผนระยะสั้น หรือ Training Plan หรือแผนการจัดฝึกอบรมแบบปีต่อปี
แผนแบบนี้มักจะใช้วิธีการหา Training need โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาในการทำงาน หรือเป็นการให้ความรู้และทักษะเพื่อให้ปฏิบัติงานได้ตามนโนบายของบริษัท เช่น บริษัทกำลังประสบปัญหาของเสียเพิ่มสูงขึ้นมากจะผิดปกติจึงจัดให้พนักงานในไลน์ผลิตเข้าอบรมเพื่อแก้ปัญหานี้
หรือบริษัทกำลังจะมีการนำระบบงานใหม่เข้ามาใช้ในปีหน้าจึงจำเป็นต้องส่งพนักงานที่เกี่ยวข้องเข้าอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมให้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถปฏิบัติงานตามระบบงานใหม่ได้ทันตามนโยบายที่กำหนด
แต่อย่าลืมว่าแผนในลักษณะนี้ควรเป็นแผน "เฉพาะกิจ" แบบปีต่อปี มักจะไม่ได้ผลในการพัฒนาพนักงานให้มีขีดความสามารถในระยะยาวที่ต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ
บ่อยครั้งมักจะพบว่าแผนระยะสั้นแบบนี้จะมีหลักสูตร "เทพดลใจ" หรือ "นายสั่งมา" ซึ่งไม่ได้เป็นหลักสูตรที่ไม่มีที่มาที่ไป อยู่ดี ๆ ผู้บริหารก็สั่งให้อบรมหลักสูตรโน้นนี้โดยไม่มีปี่มีขลุ่ย จัดแล้วก็จบไปโดยไม่เกิดมรรคเกิดผลอะไรให้กับองค์กรที่คุ้มค่างบประมาณที่จัด
2. แผนระยะยาวหรือ Training & Development Roadmap
ลักษณะของแผนแบบนี้จะมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาพนักงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มเข้ามาทำงานในปีแรกไปเรื่อยๆตามอายุงานที่เพิ่มขึ้นให้มีความสามารถที่จะเติบโตก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามระยะเวลาที่ผ่านไป
หรือจะเรียกว่าเป็นแบบ "ซีรีย์" ก็ได้
โดยอาจมีวิธีการทำ Roadmap มาจากการใช้ Functional Competency หรือจาก JD หรือจะเป็นในรูปแบบของ Skill Mapping ก็ได้
แต่แผนแบบนี้จะไม่ใช่แผนเพื่อแก้ปัญหาการทำงานของพนักงานหรือตามนโยบายเฉพาะกิจเฉพาะคราวเหมือนแบบแรก
วันนี้ลองหันกลับมาสำรวจดูนะครับว่าแผนการพัฒนาคนในองค์กรของท่านเป็นแบบไหน
เพราะทั้งสองแบบต่างก็มีจุดเด่น-จุดด้อยแตกต่างกันตามที่ผมบอกไว้ข้างต้นครับ
...........................