วันอาทิตย์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ลูกน้องไม่เคยลาหยุดงานเลย..ดีไหม?

            ผมว่ายังมีคนที่เป็นหัวหน้าหรือผู้บริหารอีกไม่น้อยเลยนะครับที่อยากเห็นลูกน้องมาทำงานทุกวันโดยไม่อยากจะให้ลาหยุดงาน จะเห็นได้จากหลายบริษัทไม่อยากจะให้พนักงานหยุดงานเลยแม้แต่วันเดียวถึงกับเอาไปใส่ไว้ใน “เบี้ยขยัน” ว่าถ้าพนักงานคนไหนไม่เคยลาป่วย, ลากิจ, ลาอื่นใดทุกประเภท (รวมไปจนถึงไม่ลาพักร้อน) ในเดือนไหน บริษัทก็จะจ่ายค่าเบี้ยขยันให้เต็มจำนวน แต่ถ้าพนักงานมีการลาในเดือนไหนก็จะได้รับค่าเบี้ยขยันลดหลั่นไปตามจำนวนวันลาในแต่ละประเภทเป็นต้น

          คำถามจึงเกิดขึ้นว่า “การที่พนักงานไม่เคยลาหยุดงานบ้างเลยดีหรือไม่?”

            แน่นอนว่าถ้ามองจากทางฝั่งผู้บริหารหรือเถ้าแก่เจ้าของกิจการ (บางคน) ก็มองว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะคนเราต้องขยันทำงาน แถมมีสุภาษิต (แปลก ๆ แบบเข้าข้างตัวเอง) ว่าการทำงานก็เหมือนการพักผ่อนนั่นแหละ ทำงานไปก็เหมือนกับพักผ่อนไปด้วยในตัว (จริงหรือ?)

            คือมุมมองของผู้บริหารทางฝั่งที่อยากให้ลูกน้องหรือพนักงานมาทำงานทุกวันก็จะชื่นชมพนักงานที่ไม่เคยป่วย สาย ลา ขาดงาน และมองแบบเหมารวมว่าคนที่มาทำงานทุกวันเป็นคนขยัน รับผิดชอบในงาน

            แต่ถ้าลองย้อนกลับมานั่งนิ่ง ๆ คิดให้ดี ๆ โดยไม่ยึดติดค่านิยมแบบเดิม ๆ แล้วลองตั้งคำถามดูใหม่ไหมครับว่า....

          “คนที่มาทำงานทุกวันโดยไม่หยุดเลยน่ะ เป็นคนที่มีผลงานดีทุกคนจริงหรือ?”

            คนที่มาทำงานทุกวันโดยไม่มีวันหยุด หรือคนที่มาทำงานตรงเวลา ไม่เคยป่วย สาย ลา ขาดงาน ฯลฯ จะเป็นคนที่ทำงานดีมีผลงาน หรือมีความรับผิดชอบที่ดีในงานที่ทำเสียทุกคนหรือครับ?

            การมองคนในแบบนี้เป็นการมองแบบ “HALO EFFECT” หรือเปล่า? (ขอให้ท่านเข้าไป Search ในกูเกิ้ลโดยพิมพ์คำว่า “HALO EFFECT คืออะไร” นะครับ ผมเคยเขียนเรื่องนี้ไปแล้วก่อนหน้านี้)

            ผมมีข้อสังเกตในเรื่องที่พนักงานไม่เคยหยุดงานเลยจากประสบการณ์มาเล่าสู่กันฟังดังนี้ครับ

1.        พนักงานที่ไม่เคยหยุดงานเลยก็เพราะอยากจะได้เงินจูงใจที่บริษัทตั้งเอาไว้ว่าถ้าไม่หยุดงานทุกประเภทในเดือนใด ก็จะได้รับค่าเบี้ยจูงใจในการทำงาน (บางที่อาจจะเรียกว่าค่าเบี้ยขยัน) เต็มตามจำนวนก็เลยทำให้ต้องรักษาประวัติการทำงานเอาไว้เพื่อให้ได้เงินจูงใจจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้น

2.        แม้บางบริษัทที่ไม่ได้มีค่าเบี้ยจูงใจให้มาทำงานทุกวัน แต่พนักงานบางคนก็ยังมาทำงานทุกวันโดยไม่เคยหยุดเลยแม้แต่วันเดียว ซึ่งหัวหน้าอาจจะมองด้วยความชื่นชมว่าพนักงานคนนี้ขยันขันแข็งและรับผิดชอบในงานดีมาก แต่เชื่อไหมครับว่าผมเคยต้องเป็นกรรมการสอบสวนการทุจริตยักยอกเงินบริษัทหลายครั้งมักจะพบว่าคนที่ทุจริตจะไม่เคยหยุดงานเลย 

          เพราะถ้าหยุดงานไปแล้วมีคนมาทำงานแทนก็จะรู้ว่าตัวเองนั่งทับอะไรเอาไว้บ้างก็เลยไม่กล้าหยุด แม้จะเจ็บป่วยมากยังไงก็จะพยายามมาทำงานให้ได้ซึ่งหัวหน้าก็จะชื่นชมว่าเป็นคนรับผิดชอบ? แต่บอกก่อนนะครับว่าผมไม่ได้กล่าวหาว่าคนที่ไม่เคยหยุดงานเลยจะทุจริตซะทุกคน อันนี้งดดราม่านะครับผมเล่าประสบการณ์ให้ฟังเฉย ๆ คนที่ขยันมาทำงานและไม่ได้เป็นคนทุจริตก็ไม่เกี่ยวกับข้อนี้ครับ

3.        ท่านใช้โทรศัพท์มือถือโดยไม่เคยต้องชาร์ตแบตฯบ้างเลยไหมครับ? คนเราก็เช่นเดียวกันเมื่อทำงานไปทั้งปีก็ควรจะต้องมีการหยุดพักผ่อนชาร์ตแบตฯกันบ้าง ไม่ใช่ทำงานไปทั้งปีทั้งชาติก็ไม่เคยได้หยุดพักกันบ้างเลย อย่างนี้คุณภาพชีวิตของคน ๆ นั้นในอนาคตจะเป็นยังไง เคยได้ยินโรคไหลตายจากการทำงานหรือที่ญี่ปุ่นเรียกว่าโรค “คะโรชิ” บ้างไหมครับ เพราะพนักงานไม่เคยพักผ่อนและโหมงานเครียดจากงานที่ทำจนร่างกายรับไม่ไหว

    ดังนั้นผู้บริหารที่ดีจึงควรจะมองเรื่องของสวัสดิภาพและสุขภาพในการทำงานของพนักงานด้วยนะครับ ไม่ใช่คิดแต่จะใช้งานพนักงานจนกรอบ (Burn out) และเมื่อเขาสุขภาพเสื่อมโทรมก็แก้ปัญหาง่าย ๆ ด้วยการเลิกจ้างหรือ Lay off เขาออกไปแล้วหาคนใหม่มาแทน ระวังว่ากฎแห่งกรรมมีจริงนะครับ แต่ถ้าผู้บริหารหรือหัวหน้าคนไหนไม่เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมก็ทำต่อไปก็แล้วกัน

4.        พนักงานที่ไม่เคยหยุดงานเลยหลายคนก็จะเก็บงานไว้กับตัวเองไม่มีใครทำแทนได้ เพราะแกก็จะมาทำงานทุกวันจึงไม่จำเป็นต้องสอนงานให้ใครทำเป็นเพราะขืนไปสอนให้ใครทำแทนตัวเองได้เดี๋ยวตัวเองก็จะหมดค่าหมดความหมายในสายตาของหัวหน้า ซึ่งผู้บริหารหลายคนไม่คิดถึงประเด็นเหล่านี้ก็มักจะเป็นผู้บริหารประเภท “มองสั้นไม่มองยาว” แล้วพอวันหนึ่งวันใดที่พนักงานที่ไม่เคยหยุดงานลาออก (กระทันหัน-ส่วนมากได้งานใหม่), ตาย, หรือเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงจนไม่สามารถมาทำงานได้ตามปกติ บริษัทก็จะวุ่นวายปั่นป่วนเพราะคน ๆ นี้รู้งานอยู่คนเดียว

     แต่ถ้าบริษัทหาคนมาเรียนรู้เอาไว้บ้างและให้พนักงานตัวหลักได้หยุดพักผ่อนประจำปีไปบ้างแล้วให้คนมาทำแทน อย่างน้อยก็จะมีคนที่รู้งานและสามารถมาทำแทนได้เมื่อเกิดเหตุอย่างที่ผมบอกมานี้ ซึ่งจะลดปัญหาเหล่านี้ลง

5.       ในชีวิตของคนเราไม่ได้มีแต่มิติเรื่องงานเพียงมิติเดียว เรายังมีมิติครอบครัว, เพื่อนฝูง, สันทนาการ, สุขภาพ ฯลฯ ดังนั้นถ้าจะมุ่งให้คนทุกคนยึดมิติในเรื่องงานเพียงเรื่องเดียวผมมักจะพบว่าคนหลายคนเกิดปัญหาในงานเพราะมีสาเหตุมาจากมิติอื่น ๆ เช่นเรื่องที่บ้านเรื่องครอบครัว, สุขภาพ ทำให้มีผลกระทบมาถึงการทำงานไปด้วย

    ดังนั้น Work life balance ยังเป็นเรื่องสำคัญครับ ยิ่งในยุคของคนรุ่นใหม่แล้วเขาไม่ได้มองว่าการจมอยู่ในที่ทำงานนาน ๆ ตลอดทั้งวันหรือทำงานโดยไม่มีวันหยุดนั้น ถ้าไม่ได้ทำให้เกิด Productivity ที่เพิ่มขึ้นแล้วจะทำอย่างนั้นไปทำไม

และเรื่องนี้ก็จะเป็นสาเหตุของการลาออกของ Gen Y ในที่สุด ซึ่งแม้แต่ไอน์สไตน์ที่เป็นคนรุ่น BB (Baby Boomer) ยังเคยพูดเอาไว้เลยว่า “มีแต่คนโง่เท่านั้นที่ทำอะไรซ้ำซากเหมือนเดิม โดยหวังว่าจะมีผลลัพธ์ที่ดีขึ้นกว่าเดิม”

             ขอย้ำว่าข้อสังเกตทั้งหมดที่เล่ามานี้มาจากประสบการณ์ของผมนะครับซึ่งท่านที่เป็นผู้บริหารที่ยังอยากให้ลูกน้องมาทำงานทุกวันตลอดทั้งปีอ่านแล้วจะเชื่อหรือไม่ก็คงเป็นสิทธิในการคิดของแต่ละคน ซึ่งคงต้องนำไปคิดทบทวนดูว่าเหมาะหรือไม่ที่จะชื่นชมพนักงานที่มาทำงานทุกวันโดยไม่เคยหยุดพักบ้างเลยต่อไปหรือไม่ แต่ถ้าคิดแล้วยังเห็นว่าดีก็เอาที่สบายใจก็แล้วกันนะครับ


………………………………………