บริษัทแห่งหนึ่งกำหนดคุณสมบัติของพนักงานที่ต้องการจะรับเอาไว้ใน
JD
(Job Description) ดังนี้
ตำแหน่ง : พนักงานธุรการ
คุณวุฒิ : ปวส.-ปริญญาตรี
ประสบการณ์ทำงาน : -
แปลว่าในตำแหน่งพนักงานธุรการนี้ผู้สมัครไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ทำงานก็ได้
และจะต้องจบคุณวุฒิปวส.หรือปริญญาตรี
ถ้าตำแหน่งงานดังกล่าวกำหนดอัตราเงินเดือนเริ่มต้นเอาไว้ตามตำแหน่งงาน
เช่น ใครที่เริ่มงานในตำแหน่งนี้จะได้เงินเดือน ๆ ละ 15,000 บาท ไม่ว่าจะจบปวส.หรือปริญญาตรีก็จะได้เงินเดือนเริ่มต้นเท่ากัน
นี่คือการกำหนดอัตราเริ่มต้นตามตำแหน่งงาน หรือผมจะเรียกว่าเป็นกำหนดเงินเดือนเริ่มต้นตาม
Job
แต่บริษัทส่วนใหญ่นั้น
ผมพบว่ามักจะนิยมกำหนดอัตราเริ่มต้น (สำหรับคนที่ไม่มีประสบการณ์ทำงาน)
ตามคุณวุฒิเสียมากกว่า เช่น ถ้าจบปวส.จะได้เงินเดือนเริ่มต้นที่ 12,000 บาท
แต่ถ้าจบปริญญาตรีจะได้เงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาท
ทั้ง ๆ ที่
2
คุณวุฒินี้ทำงานใน Job เดียวกัน มี JD เหมือนกันทุกอย่าง !!??
ผมสมมุติว่าวันนี้บริษัทรับศรีสมร
(นามสมมุติ) จบปวส.เข้ามาทำงานและได้เงินเดือน 12,000 บาท
ศรีสมรทำงานไปด้วยและเรียน (ภาคค่ำ-วันหยุด) ไปด้วย จน 2 ปีผ่านไปก็จบปริญญาตรี
เรื่องผลการปฏิบัติงานก็ใช่ย่อย
ศรีสมรทำงานดีเยี่ยมมีผลการประเมินจากหัวหน้าได้เกรด A สองปีซ้อน
และได้รับการขึ้นเงินเดือนในเปอร์เซ็นต์สูงซึ่งเงินเดือนที่ได้รับอยู่ตอนนี้คือ 14,000
บาท และศรีสมรก็เพิ่งเรียนจบปริญญาตรีมาหมาด ๆ
ศรีสมรก็ไปบอกกับหัวหน้าว่า
“พี่คะหนูจบปริญญาตรีแล้ว บริษัทจะปรับเงินเดือนเพิ่มให้หนูไหมคะ”
และอาจจะพูดต่อว่า “ถ้าบริษัทไม่ปรับเงินเดือนให้ หนูจะลาออกและถ้าบริษัทไปจ้างปริญญาตรีจบใหม่ยังไม่มีประสบการณ์ทำงาน
ยังไม่รู้งานอะไรเลย แต่ต้องจ้างถึง 15,000 บาทนะ
ถ้าไม่อยากให้หนูลาออกก็ปรับเพิ่มให้หนู 1,000 บาทซะดี ๆ”
บริษัทของท่านเคยมีปัญหาทำนองนี้กันบ้างไหม ?
แล้วบริษัทควรจะปรับหรือไม่ปรับดีครับ ?
ก่อนจะตอบคำถามนี้
ผมมีข้อคิดอย่างนี้ครับ
1.
การปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้นให้กับพนักงาน
(เช่นการปรับเงินเดือนขึ้นประจำปี, การปรับเป็นกรณีพิเศษเนื่องจากพนักงานทำงานดี,
การปรับเงินเดือนเมื่อพนักงานได้รับการเลื่อนตำแหน่ง) นั้นควรจะมาจากการที่พนักงานคนนั้น
ๆ มีผลการปฏิบัติงานที่ดีอย่างที่บริษัทต้องการ
ต้องเป็นคนที่มีความรู้ทักษะในงานเป็นอย่างดี มีศักยภาพที่จะเติบโตก้าวหน้าไปกับบริษัทในอนาคต
หรือหลักผลงานและความสามารถในงานครับ
2.
กรณีของศรีสมรก็เช่นเดียวกัน
การที่ศรีสมรเรียนจนจบปริญญาตรีนั้น ถามว่าคุณวุฒิสูงขึ้นที่เรียนจบทำให้ศรีสมรมีผลงานและความสามารถเพิ่มขึ้นหรือไม่
ในกรณีนี้ไม่ว่าศรีสมรจะเรียนจบหรือไม่จบปริญญาตรีแกก็เป็นคนที่มีผลการปฏิบัติงานที่ดีและมีความรู้ความสามารถในงานที่ทำอยู่แล้วใช่หรือไม่
3.
ถ้าหากบริษัทจะต้องปรับเงินเดือนเพิ่มให้ศรีสมร
แล้วถ้ามีพนักงานรายอื่นเรียนจนจบคุณวุฒิที่สูงขึ้นบริษัทจะต้องพิจารณาปรับเงินเดือนให้กับพนักงานที่เรียนจบคุณวุฒิที่สูงขึ้นด้วยหรือไม่
เช่น คนที่จบปวช.แล้วต่อมาเรียนจบปวส. หรือคนที่จบปริญญาตรีต่อมาเรียนจนจบปริญญาโท
หรือจบปริญญาโทเรียนจนจบปริญญาเอก, หรือเรียนจบปริญญาตรีใบที่สอง ฯลฯ หรือถ้ามีพนักงานคนอื่นที่เรียนต่อจนจบคุณวุฒิสูงขึ้นเหมือนศรีสมรแต่มีผลการปฏิบัติงานย้อนหลังได้
A ปีแรกและได้ B ในปีที่สอง ฯลฯเหล่านี้
บริษัทจะมีหลักเกณฑ์ในการปรับเงินเดือนพนักงานที่กรณีอื่น
ๆ นี้อย่างไร ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวจำเป็นจะต้องตอบคำถามของพนักงานทุกคนในบริษัทได้อย่างเป็นธรรมด้วยนะครับ
4.
หากบริษัทมีนโยบายในการปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้นให้กับพนักงานที่จบคุณวุฒิสูงขึ้นภายหลัง
ก็เท่ากับบริษัทกำลังส่งสัญญาณไปยังพนักงานทุกคนในบริษัทให้เรียนต่อจะได้นำคุณวุฒิมาปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้นให้กับตัวเอง
ซึ่งคำถามก็คือ “นอกเหนือจากความรู้ความสามารถและผลงานแล้ว คุณวุฒิที่สูงขึ้นจะเป็นปัจจัยสำคัญอีกตัวหนึ่งที่บริษัทจะนำมาปรับฐานเงินเดือนให้พนักงานใช่หรือไม่?”
จากที่ผมให้ข้อคิดมาข้างต้นผมมีคำแนะนำดังนี้ครับ....
1.
บริษัทกำหนดคุณวุฒิของตำแหน่งงานที่จะรับพนักงานจบใหม่ให้ชัดเจน เช่น ในตำแหน่งพนักงานธุรการข้างต้นก็ระบุคุณวุฒิ
ปวส. หรือปริญญาตรี อันใดอันหนึ่งให้ชัดไปเลยโดยไม่ควรเปิดสเป็คเป็นช่วงเช่น
ปวส.-ปริญญาตรี หรือปวส.ขึ้นไป ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาดราม่าตามมาแก้กันภายหลัง
แถมการกำหนดคุณวุฒิให้ชัดเจนยังควบคุม Staff Cost ในตำแหน่งงานนั้น
ๆ ได้ชัดเจนอีกด้วย
2.
การใช้หลักสภาพการจ้างเดิม นั่นคือถ้าบริษัทไหนยังไม่ได้แก้ไข
JD และยังไปเปิดสเป็คคุณวุฒิแบบกว้างอย่างข้างต้นนั้น ส่วนใหญ่มักจะมีระเบียบบอกไว้ว่าบริษัทไม่ปรับเงินเดือนให้พนักงานที่จบคุณวุฒิสูงขึ้นครับ
โดยจะยึดสภาพการจ้างเดิมเป็นหลักซึ่งต้องถือว่าพนักงานได้รับทราบสภาพการจ้างที่บริษัทรับเราเข้ามาในวุฒิปวส.แล้วตั้งแต่ต้น
เมื่อพนักงานเรียนจบคุณวุฒิสูงขึ้นกว่าตอนที่เข้ามาครั้งแรกก็จะไม่มีผลกับการปรับขึ้นเงินเดือนตามระเบียบของบริษัท
3.
ใช้หลักผลงานและความสามารถในการปรับขึ้นเงินเดือน สำหรับกรณีของศรีสมรนี้ผมเสนอแนะว่าถ้าหากบริษัทยังต้องการปรับเงินเดือนเพิ่มให้ศรีสมรก็ควรเป็นการปรับเพิ่มในหลักของผลงานและความสามารถ
ไม่ใช่หลักของการจบคุณวุฒิที่สูงขึ้น โดยอาจจะปรับภายหลังจากที่ศรีสมรมาบอกว่าจบคุณวุฒิที่สูงขึ้นไปแล้วสัก
3-6 เดือน (เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกปะปนกันว่าบริษัทปรับให้เพราะเรียนจบวุฒิสูงขึ้น)
ซึ่งบริษัทก็ต้องแจ้งกับศรีสมรให้ชัดเจนว่าการที่บริษัทปรับเงินเดือนให้นั้น เนื่องมาจากผลการปฏิบัติงานที่ดีเยี่ยมและความรู้ความสามารถที่โดดเด่นของตัวศรีสมรเองนะ
ไม่ใช่ปรับเงินเดือนให้เพราะเรียนจบได้คุณวุฒิสูงขึ้น
อ้อ....แล้วบริษัทก็อย่าลืมไปแก้ไขเรื่องคุณวุฒิใน
JD เสียใหม่ตามที่ผมบอกไปข้างต้นเพื่อจะได้ไม่ต้องมีปัญหากวนใจในเรื่องแบบนี้ตามมาอีกล่ะครับ
……………………………………………