วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

พนักงานเข้าใหม่ทำไมถึงทำงานไม่ดี..แก้ไขยังไง ?

            วันก่อนผมได้ยินผู้บริหารในองค์กรใหญ่แห่งหนึ่งบ่นให้ฟังว่า “เด็กรุ่นใหม่ ๆ นี่ทำงานไม่อดทนเลยนะ Service mind ก็ไม่มี ทำงานผิด ๆ พลาด ๆ ไม่ละเอียดรอบคอบไม่ค่อยรับผิดชอบเลย....ฯลฯ”

            ผมก็เลยมีไอเดียมาแชร์กับท่านผู้อ่านจากกรณีนี้ว่าก่อนที่จะไปมองแบบเหมารวมว่าเด็กยุคใหม่ไม่อดทน ไม่มี Service mind หรือไม่รับผิดชอบ ฯลฯ ที่บ่นมานั้น ถามว่าคนรุ่นใหม่เป็นแบบนี้กันทุกคนหรือไม่ ลองคิดดูให้ดี ๆ ก่อนตอบนะครับ

            คือในปัจจุบันผมจะเห็นการแบ่งคนออกเป็นรุ่น ๆ เป็น Generation ที่เรียกกันว่าพวก Gen BB (Baby Boomer) บ้าง Gen X หรือ Gen Y บ้าง พร้อมทั้งบอกคุณลักษณะของคนแต่ละรุ่นที่แตกต่างกันไปตามปีเกิด ตามสภาพแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป

            บางตำราก็จะไปพูดถึงข้อดี-ข้อเสียของคนแต่ละรุ่น แล้วก็เลยทำให้มีคนเอาไปขยายความกันมากมาย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่หรือพวก Gen Y ที่มักจะถูกพวกที่เกิดมาก่อนคือ Gen X  หรือ BB ชี้นิ้วบอกว่าคนรุ่นใหม่ Gen Y ไม่อดทน ไม่ค่อยรับผิดชอบ ฯลฯ ซึ่งมักจะพูดแต่ข้อด้อยเสียเป็นส่วนใหญ่

            แต่ในความเห็นของผมนั้น ผมว่าคนแต่ละรุ่นต่างก็จะมีข้อดี-ข้อด้อยกันทั้งนั้นแหละครับ ไม่มีคนรุ่นไหนที่ดีเลิศหรือเลวสุดหรอกครับ และถ้าจะพูดให้ถึงที่สุดแล้วผมว่าเรื่องเหล่านี้มันเป็นเรื่องพฤติกรรมของแต่ละบุคคลเป็นหลักเสียมากกว่าเรื่องของรุ่น ซึ่งรุ่นหรือยุคที่เกิดมานั้นผมว่าเป็นเพียงปัจจัยเสริมเท่านั้น

            เพราะผมเคยเห็นคน Gen Y ที่มีความละเอียดรอบคอบ มีความรับผิดชอบ มี Service mind ก็ไม่น้อย ในขณะที่ผมเห็นคน Gen BB ที่โบ้ยงานไม่รับผิดชอบ เอาดีเข้าตัวเอาชั่วโยนลูกน้อง หรือพูดแบบมะนาวไม่มีน้ำกับลูกค้าก็บ่อยไป

            แต่จากปัญหาที่ผู้บริหารบ่นออกมาให้ผมได้ยินและนำมาพูดคุยกันในวันนี้ผมมองอีกมุมหนึ่ง แทนที่จะมองว่าเป็นปัญหาของคนรุ่นใหม่ ผมกลับมองว่าปัญหานี้เกิดจากการที่องค์กรนั้น ๆ ไม่เห็นความสำคัญของการสรรหาคัดเลือกคนที่ “ใช่” เข้ามาทำงานเสียมากกว่า

            นั่นคือในแต่ละองค์กรคัดเลือกคนแบบไหนเข้ามาทำงานล่ะครับ !

            You are what you eat กินอะไรก็ได้อย่างงั้นจริงไหมครับ ?

          และสิ่งสำคัญที่สุดที่องค์กรส่วนใหญ่มองข้ามก็คือ....

            ทักษะการสัมภาษณ์ของคนที่เป็นกรรมการสัมภาษณ์ โดยเฉพาะ Line Manager ที่ไม่เคยได้รับการฝึกหรือถูกสอนให้รู้ How to หรือวิธีการสัมภาษณ์ผู้สมัครงานเพื่อให้สามารถคัดเลือกคนที่ “ใช่” ที่เหมาะเข้ามาทำงานแล้วอย่างนี้กรรมการสัมภาษณ์จะคัดเลือกคนที่เหมาะที่ใช่ได้ดีสักแค่ไหนกันล่ะครับ

ยิ่งถ้าผู้สัมภาษณ์มองภาพการสัมภาษณ์เป็นเรื่องของการพูดคุยและดู ๆ ผู้สมัครงานกันไปแบบผิวเผินโอกาสคัดเลือกคนที่ผิดพลาดเข้ามาทำงานยิ่งมีสูงมากขึ้น

          หรือจะพูดให้ชัด ๆ ก็คือเพราะคนที่เป็นกรรมการสัมภาษณ์ขาดทักษะในการคัดเลือก องค์กรถึงได้คนที่ไม่มี Service mind ขาดความรับผิดชอบ หรือทำงานไม่ละเอียดรอบคอบเข้ามาทำงานยังไงล่ะครับ แล้วก็ต้องมาตามล้างตามเช็ดตามแก้ปัญหากับคนที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้กันต่อไป

            ถ้าอย่างงั้นควรทำยังไงดีล่ะถึงจะลดปัญหาได้คนไม่เหมาะสมเข้ามาทำงาน ?

            ทำอย่างนี้สิครับ

1.                              เตรียมตัวก่อนเข้าห้องสัมภาษณ์ทุกครั้งในเบื้องต้นคืออ่านใบสมัครของผู้สมัครงานและดูว่าข้อมูลของผู้สมัครแต่ละรายในใบสมัครงานนั้นมีอะไรน่าสนใจ มีอะไรที่ขัดแย้งกันบ้าง หรือมีอะไรที่ควรจะใช้ตั้งคำถามแบบเจาะลึกบ้าง  เช่น ในใบสมัครงานบอกว่าตอนนี้ยังว่างงานอยู่ก็ควรจะต้องเตรียมคำถามแล้วล่ะว่าทำไมถึงลาออกมาโดยที่ยังไม่มีงานรองรับ หรือในใบสมัครขอเงินเดือนมาเท่าเดิม หรือเผลอ   ๆ ขอเงินเดือนต่ำกว่าเดิม ฯลฯ

2.                              หากองค์กรของท่านมีระบบ Competency ก็ควรนำเอา Competency ของตำแหน่งงานที่ต้องการจะรับคนเข้ามาทำงานเป็นตัวตั้ง แล้วคิดตั้งคำถามที่จะใช้สัมภาษณ์ผู้สมัครงาน และใช้คำถามนั้นกับผู้สมัครงานทุกคนเหมือน ๆ กันเพื่อค้นหาดูว่าในบรรดาผู้สมัครงานทั้งหมดนั้น คนไหนที่ตอบได้ดีที่สุดหรือผู้สมัครคนไหนมีประสบการณ์หรือมีขีดความสามารถที่เหมาะสมกับตำแหน่งงานนั้น ๆ มากที่สุด 

                    ซึ่งการตั้งคำถามตาม Competency ของแต่ละตำแหน่งควรจะต้องมีการเตรียมไว้ล่วงหน้าก่อนเข้าห้องสัมภาษณ์นะครับ ไม่ควรเข้าไปนั่งคิดคำถามในห้องสัมภาษณ์เพราะถ้าทำอย่างงั้นก็เปรียบเหมือนนักมวยที่ไม่ได้ฟิตซ้อมก่อนขึ้นชกนั่นแหละครับ พอขึ้นเวลาก็จะมีโอกาสให้อีกฝ่ายน็อคได้ง่าย ๆ

3.                                 ถ้าหากองค์กรของท่านยังไม่มีระบบ Competency ก็ให้นำ Job Description (JD) ของตำแหน่งงานนั้น ๆ มาดูว่าใน JD ตำแหน่งงานนั้น ๆ ต้องการคนเข้ามาทำงานโดยมีงานและความรับผิดชอบอะไรบ้าง มีคุณสมบัติอย่างไร ก็ให้เตรียมตั้งคำถามตามงานและความรับผิดชอบและคุณสมบัติตาม JD นั้น ๆ ไว้ล่วงหน้าก่อนเข้าห้องสัมภาษณ์ แล้วใช้คำถามที่เตรียมไว้ล่วงหน้านี้กับผู้สมัครงานทุกคนเหมือนกัน แล้วดูว่าผู้สมัครคนไหนมีประสบการณ์หรือตอบคำถามได้ดีที่สุด เหมาะสมกับงานในตำแหน่งงานนี้มากที่สุด

4.                                     จากหลักการที่ผมบอกไปนี้ศัพท์เทคนิคเขาก็จะเรียกว่า Structured Interview” คือการตั้งคำถามไว้ล่วงหน้าแล้วใช้คำถามกับผู้สมัครงานทุกคนแบบเดียวกัน จะทำให้เราสามารถค้นหาความเหมาะสมกับตำแหน่งงานจากผู้สมัครงานแต่ละคนได้ดีกว่าการดูเพียงแค่สถาบันที่จบ, เกรดเฉลี่ย, บริษัทที่ผู้สมัครเคยทำงานมา ฯลฯ
5.      หากผู้สัมภาษณ์ได้เตรียมตัวมาอย่างที่ผมเล่ามานี้ก็จะช่วยลดอคติในระหว่างการสัมภาษณ์ และไปรับเอาคนที่ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งงานไปได้เยอะเลยนะครับ 
                       
                         ซึ่งสมมุติว่าถ้าหากท่านต้องการได้คนที่มี Service mind (ที่เหมาะกับตำแหน่งงานนี้) ท่านก็จะได้มีหลักในการสังเกตผู้สมัครแต่ละรายไว้ในใจว่าใครบ้างที่มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส หรือบึ้งตึง เรียบเฉย มีบุคลิกภาพของคนที่จะให้บริการที่เหมาะสมกับตำแหน่งหรือไม่ ซึ่งคำถามที่เตรียมก็จะเป็นคำถามที่ดูประสบการณ์ในการให้บริการ เช่น “ถ้าให้คุณเลือกระหว่างการให้บริการลูกค้าที่อารมณ์ร้ายโวยวายเสียงดัง กับลูกค้าที่จู้จี้จุกจิกเรื่องมาก คุณชอบให้บริการลูกค้าประเภทไหนมากกว่ากัน”

                         ถ้าหากที่หน้างานของเรามักจะเป็นลูกค้าที่อารมณ์ร้ายเยอะสักหน่อย แล้วผู้สมัครคนไหนตอบว่าไม่ชอบให้บริการลูกค้าอารมณ์ร้าย ถ้าเลือกได้ขอให้บริการลูกค้าจู้จี้จุกจิกจะดีกว่า ท่านจะได้นำมาประกอบการตัดสินใจเปรียบเทียบเทียบกับผู้สมัครรายอื่น เป็นต้น

                 เมื่อท่านอ่านมาถึงตรงนี้ ผมเชื่อว่าท่านคงเข้าใจตรงกันแล้วนะครับว่า การที่จะไปบ่นว่าคนรุ่นใหม่ทำงานไม่ดี อย่างนั้นอย่างนี้นั้น ถ้าหากกระบวนการคัดเลือกมีมาตรฐานที่ดีก็จะสามารถคัดกรองคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมได้แม้จะเป็นคนรุ่นใหม่ก็ตาม

            เรามาแก้ปัญหากันที่ต้นเหตุโดยให้ความสำคัญกับการคัดเลือกคนเข้ามาทำงานเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคตกันก่อนจะดีกว่าไหมครับ

             แต่ถ้าหากคนที่ทำหน้าที่คัดกรอง (หรือผู้สัมภาษณ์ไม่ว่าจะเป็น Line Manager หรือ HR) ยังไม่เข้าใจวิธีการในการสัมภาษณ์อย่างถูกต้ององค์กรนั้นก็คงจะต้องเจอกับปัญหาเดิม ๆ ซ้ำซากอยู่อย่างนั้นแหละครับ.


……………………………………