วันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2558

บริษัทจะหักค่าจ้างได้ในกรณีใดบ้าง ?


            เรามักจะเคยได้ยินเรื่องการหักค่าจ้างกันอยู่หลาย ๆ กรณีนะครับ ไม่ว่าจะเป็นการที่บริษัทหักค่าจ้างเพื่อค้ำประกันการเข้าทำงานในกรณีพนักงานเข้าใหม่บ้าง, หักค่าจ้างเมื่อพนักงานทำให้บริษัทเกิดความเสียหายบ้าง ฯลฯ แถมจำนวนเงินที่หักในแต่ละเดือนก็มากบ้างน้อยบ้าง

            เมื่อไปดูในกฎหมายแรงงานก็จะพบว่ามีอยู่ในสองมาตราดังนี้ครับ

 มาตรา ๗๖  ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักเพื่อ

(๑)  ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่ายหรือชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้

(๒)  ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานตามข้อบังคับของสหภาพแรงงาน

(๓)  ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือสหกรณ์อื่นที่มีลักษณะเดียวกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์หรือหนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียว โดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง

(๔)  เป็นเงินประกันตามมาตรา ๑๐ หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้าง ซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง

(๕)  เป็นเงินสะสมตามข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนเงินสะสม

การหักตาม (๒) (๓) (๔) และ (๕) ในแต่ละกรณีห้ามมิให้หักเกินร้อยละสิบ และจะหักรวมกันได้ไม่เกินหนึ่งในห้าของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกำหนดเวลาการจ่ายตามมาตรา ๗๐ เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง

          เป็นยังไงครับ จากมาตรา 76 ข้างต้น ผมเชื่อว่าท่านคงจะเข้าใจได้ชัดเจนขึ้นแล้วนะครับ..

            นั่นคือบริษัทจะหักเงินค่าจ้างหรือค่าโอที (ภาษาคนทำงาน) ได้ ตาม 5 กรณีข้างต้นเท่านั้น ซึ่งผมขออธิบายเพิ่มเติมคือ

            การหักตามข้อ 1-3 คงไม่ต้องอธิบายเพราะชัดเจนอยู่ในความหมายแล้ว

            แต่ในข้อ 4 กรณีบริษัทจะหักเงินค้ำประกันการเข้าทำงานนั้น โดยปกตินายจ้างจะหักเงินค้ำประกันการเข้าทำงานจากลูกจ้างไม่ได้นะครับ นายจ้างจะหักเงินค้ำประกันการทำงานได้ก็เฉพาะตำแหน่งงานที่ลูกจ้างจะต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้างซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้ (ตามมาตรา 10 ของกฎหมายแรงงาน) เท่านั้น เช่น พนักงานเก็บเงิน, พนักงานที่มีหน้าที่เฝ้าดูแลทรัพย์สินของนายจ้าง เป็นต้น

ถ้าลูกจ้างไม่ได้มีลักษณะงานที่ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้างที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้นั้น นายจ้างจะไปโมเมมั่ว ๆ หักเงินค้ำประกันการทำงานไม่ได้นะครับ

            อีกประการหนึ่งของข้อ 4 ในมาตรา 76 ข้างต้นคือ นายจ้างจะหักเงินลูกจ้างได้เมื่อลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงถึงจะหักเงินได้นะครับ ซึ่งก็ต้องมาดูข้อเท็จจริงว่าลูกจ้างได้จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงที่ทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายยังไงบ้างถึงกับจะต้องมีการหักเงินใช้หนี้กัน

            อีกประการหนึ่งคือจำนวนเงินที่นายจ้างจะหักเงินลูกจ้างได้นั้น ในกรณีข้อ 2-5 ข้างต้น จะหักแต่ละกรณีได้ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ และรวมทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกำหนดจ่ายด้วยนะครับ

            ยกตัวอย่างเช่น ลูกจ้างเงินได้รับเงินเดือน ๆ ละ 10,000 บาท หากจะถูกหักเงินตามข้อ 2-5 ได้รายการละไม่เกิน 1,000 บาท และเมื่อรวมทุกกรณีแล้วต้องไม่เกิน 2,000 บาทครับ

            นอกจากนี้ยังต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างให้หักเงินเป็นลายลักษณ์อักษรโดยลูกจ้างต้องเซ็นยินยอมเอาไว้อีกด้วย ซึ่งตามมาตรา 77 ได้บอกไว้ดังนี้ครับ

มาตรา ๗๗  ในกรณีที่นายจ้างต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง หรือมีข้อตกลงกับลูกจ้างเกี่ยวกับการจ่ายเงินตามมาตรา ๕๔ มาตรา ๕๕ หรือการหักเงินตามมาตรา ๗๖ นายจ้างต้องจัดทำเป็นหนังสือและให้ลูกจ้างลงลายมือชื่อในการให้ความยินยอมหรือมีข้อตกลงกันไว้ให้ชัดเจนเป็นการเฉพาะ

            เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ผมเชื่อว่าท่านคงเข้าใจหลักการและวิธีการหักค่าจ้างได้ชัดเจน และเข้าใจตรงกันเกี่ยวกับการหักค่าจ้างพนักงานแล้ว และอยากจะฝากถึงบริษัทที่ยังหักเงินพนักงานแบบไม่ถูกต้องได้ลองกลับไปทบทวนดูและทำให้ถูกต้องต่อไปด้วยนะครับ

………………………….