ต้องยอมรับความเป็นจริงว่าคนที่ทำงานในองค์กรใดมานาน ๆ
แล้วตำแหน่งหน้าที่การงานไม่ค่อยขยับยังคงทำงานในตำแหน่งเดิม งานเหมือนเดิม
ก็มักจะมีอัตราการเติบโตของเงินเดือนโดยเฉลี่ยประมาณปีละ 5-6 เปอร์เซ็นต์ซึ่งอยู่ในราวนี้มาไม่น้อยกว่า 10 ปีแล้วล่ะครับ
จากข้อมูลดังกล่าวก็จะมีผลกับคนที่ทำงานอยู่ในตำแหน่งเดิมแล้วไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้มีความรับผิดชอบที่สูงขึ้น
หรือทำงานไปแบบเดิม ๆ ไม่มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานมาเป็นเวลาหลาย ๆ ปี
โดยจะทำให้คนที่ทำงานดังกล่าวมีอัตราเงินเดือนเติบโตช้ากว่าค่าจ้างภายนอกองค์กร
แล้วในที่สุดก็จะมีปัญหายอดนิยมคือ....
องค์กรปรับเงินเดือนพนักงานเข้าใหม่จะมีอัตราที่ใกล้เคียงกับพนักงานเก่าที่มาก่อน
เช่น เดิมบริษัทกำหนดเงินเดือนพนักงานที่จบปริญญาตรีใหม่ยังไม่มีประสบการณ์ทำงานในอัตรา
12,000
บาท แล้วต่อมาก็มาปรับอัตราการจ้างสำหรับคนที่จบปริญญาตรีจบใหม่ที่จะรับตั้งแต่วันที่
1 เดือนนี้เป็นต้นไปในอัตรา 15,000 บาท
ก็จะเกิดปัญหาขึ้นอย่างแน่นอนว่า
แล้วคนที่จบปริญญาตรีที่บริษัทจ้างมาที่อัตรา 12,000บาทก่อนหน้านั้นที่ทำงานมาแล้วเป็นปี
ๆ ล่ะจะทำยังไง เช่น เมื่อ 3 ปีที่แล้วบริษัทรับเข้ามา 12,000 บาท
แต่ตอนนี้ได้รับเงินเดือนอยู่ 14,000 บาท
ซึ่งจะน้อยกว่าพนักงานที่เข้าใหม่เพิ่งจบใหม่แถมยังไม่มีประสบการณ์ทำงานอะไรเลยกลับจะได้เงินเดือนมากกว่าพนักงานเก่าที่มีประสบการณ์ทำงานมาแล้ว
3 ปี
นี่ถึงเป็นที่มาของวิธีการปรับเงินเดือนกันในวันนี้แหละครับ
ในกรณีอย่างนี้โดยก็มักจะมีวิธีการปรับเงินเดือนดังนี้
วิธีที่ 1 : ปรับเงินเดือนเฉพาะพนักงานใหม่โดยไม่สนใจพนักงานเก่า
วิธีนี้มักจะใช้กับบางกรณี
เช่น กรณีที่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำจาก 215 เป็น 300 บาทต่อวัน บริษัทก็อาจจะปรับเงินเดือนเฉพาะพนักงานที่เข้าใหม่เท่านั้น
โดยมองว่าถ้าหากพนักงานเก่าที่ทำงานมาก่อนไม่พอใจแล้วลาออกไป
บริษัทก็สามารถฝึกสอนงานพนักงานใหม่ไม่นานก็ทำแทนคนเก่าที่ลาออกไปได้
แต่การเลือกใช้วิธีนี้อาจจะใช้ไม่ได้กับงานที่ต้องการประสบการณ์ทำงานที่จะต้องใช้เวลาในการสร้างทักษะฝีมือ
ความรู้ความสามารถในงานนะครับ
วิธีที่ 2 : ปรับเงินเดือนพนักงานเก่าทุกคนเพื่อให้มีเงินเดือนหนีพนักงานใหม่แบบไม่มีเงื่อนไข
วิธีปรับเงินเดือนแบบนี้ไม่ต้องคิดอะไรให้ซับซ้อน
แถมทำแบบตรงไปตรงมาตามหัวข้อคือบริษัทปรับเงินเดือนให้กับพนักงานเก่าทุกคนเพื่อให้เงินเดือนสูงกว่าพนักงานที่จะเข้ามาใหม่ในอัตราเดียวกับที่พนักงานใหม่ได้ปรับ
เช่น บริษัทจะปรับเงินเดือนพนักงานจบปริญญาตรีเข้าใหม่จากเดิม 12,000 บาท เป็น 15,000 บาท บริษัทก็จะปรับเงินเดือนพนักงานเก่าที่จบปริญญาตรีที่เข้ามาก่อนหน้านี้ในอัตราคนละ
3,000 บาทเท่ากันทุกคน ซึ่งแน่นอนว่าวิธีนี้พนักงานเก่าจะแฮ๊ปปี้และรู้สึกว่ายุติธรรม
แต่ในด้านบริษัทต้องคิดให้ดีเพราะจะต้องใช้งบประมาณในการปรับเพิ่มขึ้นซึ่งจะมีผลกระทบถึงต้นทุนด้านบุคลากร
(Staff Cost) ที่เพิ่มสูงขึ้นอีกต่อไป แต่ถ้าบริษัทของท่านมีตังค์พอจ่ายหรือป๋าพอก็เลือกวิธีนี้ได้เลย
แต่จากประสบการณ์ของผมผู้บริหารของบริษัทจะไม่ใช้วิธีนี้ครับ
วิธีที่ 3 : ปรับเงินเดือนพนักงานเก่าแบบมีเงื่อนไข
วิธีนี้ผมว่าเป็นวิธียอดนิยมนะครับ
โดยบริษัทจะกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติของพนักงานเก่าที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการปรับเงินเดือนขึ้นมา
โดยหลักเกณฑ์ยอดนิยมเช่น “ผลการปฏิบัติงานย้อนหลัง” ต้องไม่ต่ำกว่าเกรด B เป็นต้น
ซึ่งตัวอย่างของหลักเกณฑ์พนักงานเก่าที่จะได้รับการปรับเงินเดือน เช่น
-
คุณวุฒิไม่ต่ำกว่า.....
-
มีอายุงานอยู่ในตำแหน่งเดิมมาไม่น้อยกว่า.....ปี
-
ผลการปฏิบัติงานย้อนหลัง 2 ปี
เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าเกรด B
-
มีวันลา เช่น ป่วย, กิจ, มาสาย, ขาดงาน
ไม่เกินที่บริษัทกำหนด
-
ไม่เคยถูกหนังสือตักเตือนหรือถูกลงโทษทางวินัยในปีที่ผ่านมา
โดยผู้บังคับบัญชาของพนักงานจะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมของพนักงานเก่าที่อยู่ในเกณฑ์จะได้รับการปรับเงินเดือนอีกครั้งหนึ่งว่าจะปรับคนเก่ากี่เปอร์เซ็นต์หรือกี่บาท
ทั้ง
3 วิธีข้างต้นก็ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยของมันลงไปอีกนะครับ เช่น
จะปรับเป็นเม็ดเงินหรือปรับเป็นเปอร์เซ็นต์,
จะปรับคนเก่าเท่ากันทุกคนไม่ว่าจะอายุงานกี่ปีหรือจะปรับตามอายุงานมาก-น้อย ฯลฯ
ซึ่งตรงนี้คงเป็นเรื่องเฉพาะกรณีไป (Case by Case) ของแต่ละบริษัทที่ต้องไปพิจารณาในรายละเอียดแบบของใครของมันอีกทีหนึ่ง
โดยจะต้องหาจุดที่ WIN-WIN ให้ได้ระหว่างพนักงานกับค่าใช้จ่ายของบริษัทน่ะครับ
แต่ผมเชื่อว่าตอนนี้ท่านคงพอมีไอเดียในการปรับเงินเดือนพนักงานเก่าเพื่อนำไปประยุกต์ใช้กันบ้างแล้วใช่ไหมครับ
?
………………………………………….