ผมได้เคยเขียนเรื่อง
“เหตุใดองค์กรจึงได้คนที่ไม่เหมาะสมเข้ามาร่วมงาน” ไปในตอนที่แล้วโดยชี้ให้เห็นถึงปัญหาของกรรมการสัมภาษณ์ในเรื่องการสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกคนที่ยังขาด
“ทักษะ” ในการสัมภาษณ์, ใช้ “ความรู้สึก” หรืออคติ
แถมไม่มีการเตรียมตัวหรือเตรียมคำถามล่วงหน้า (Structured Interview) เพื่อที่จะได้มีหลักเกณฑ์ในการตัดสินใจคัดเลือกผู้สมัครที่ชัดเจนว่าใครเหมาะสมกับตำแหน่งนี้ที่สุดเสียอีก
สุดท้ายก็เลยได้คนไม่เหมาะสมเข้ามาก่อปัญหาให้กับองค์กรทั้งระยะสั้นและระยะยาว !!
วันนี้ผมจะมาพูดต่อในจุดสำคัญอีกจุดหนึ่งที่กรรมการสัมภาษณ์มองข้ามไป
ซึ่งอันที่จริงผมก็พูดเอาไว้บ้างแล้วในตอนที่แล้ว
ในตอนนี้ก็เลยขอนำมาให้ข้อคิดเพิ่มเติมกับท่านอีกครั้งดังนี้ครับ....
คำถามมีอยู่ว่า
“เวลาเราจะตัดสินใจคัดเลือกผู้สมัคร (ที่มีหลาย ๆ
คน) ว่าใครจะเหมาะสมกับตำแหน่งงานนี้มากที่สุด เราตัดสินใจจากเรื่องใด ?”
ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะ Line Manager) จะตัดสินใจเลือกจากคนที่มีความรู้ มีทักษะ
หรือมีประสบการณ์ตรงในตำแหน่งงานนั้นเป็นหลัก
ยิ่งในยามที่กำลังต้องการหาคนใหม่มาทดแทนคนเก่าในขณะที่งานนั้น
ๆ ก็เร่งด่วนต้องการคนมาทำแทนได้รวดเร็วเพื่อไม่ให้งานสะดุด
แล้วผู้สมัครคนไหนที่มีความรู้ประสบการณ์ตรงแล้วล่ะก็ Line Manager แทบจะบอกให้มาเริ่มงานในวันพรุ่งนี้เลยด้วยซ้ำไป
แต่เมื่อรับผู้สมัครคนดังกล่าวเข้ามาทำงานสักระยะหนึ่ง
ไม่ว่าจะในระหว่างช่วงทดลองงาน, ทำงานไปแล้วสัก 1 ปี
หรือทำงานอยู่กับองค์กรไประยะยาวก็ตาม
จะเกิดปัญหาที่ตามมาก็คือ
(อดีต)
ผู้สมัครงานรายนี้ที่กลายเป็นพนักงานของบริษัทมีปัญหาเชิงทัศนคติทั้งต่อหัวหน้า
ผู้บริหาร และทัศนคติไม่ดีต่อองค์กรน่ะสิครับ
ยกตัวอย่างเช่น
เมื่อหัวหน้างานจะส่งพนักงานที่เก่งงานคนนี้ไปฝึกฝนอบรมเพิ่มเติม
ก็จะได้รับคำตอบกลับมาว่า “อย่างผมไม่ต้องไปอบรมก็ได้พี่
ผมรู้งานดีหมดทุกเรื่องแล้ว งานผมเยอะไปหมด พี่ส่งคนอื่นไปอบรมแทนดีกว่า” หรือ
เมื่อจะให้พนักงานคนนี้สอนงานเพื่อนฝูงหรือพนักงานใหม่เพื่อจะให้มีการถ่ายทอดความรู้ซึ่งกันและกัน
ก็จะได้คำตอบว่า “ผมไม่มีเวลาสอนหรอกพี่ ก็ผมทำงานมาไม่เห็นมีใครมาสอนผม
ผมยังทำได้เลย เรื่องง่าย ๆ อย่างงี้ถ้าใครทำไม่ได้ก็ลาออกไปซะ..”
หนักกว่านั้นก็คือ
เมื่อพนักงานที่เก่ง ๆ เหล่านี้ทำงานไปนาน ๆ
เข้าก็อาจจะไม่ยอมรับความสามารถของหัวหน้างาน แล้วก็ปัญหาต่อต้านหัวหน้า
ต่อต้านผู้บริหาร
คิดว่าตัวเองถูกแต่คนอื่นที่คิดไม่เหมือนตัวเองคือคนที่เก่งที่สุดในองค์กร
แถมเก็บงำองค์ความรู้ต่าง ๆ ไว้ไม่ยอมถ่ายทอดให้ใคร คิดเพียงว่าเมื่อไหร่ฉันลาออกไปฝ่ายบริหารจะรู้สึก
ฯลฯ
ปัญหาทั้งหลายเหล่านี้ผมเชื่อว่าท่านคงจะคุ้น
ๆ ใช่ไหมครับ ?
ถ้าจะถามว่าปัญหาทำนองนี้เกิดมาจากอะไร
ก็ต้องมองย้อนกลับไปที่ต้นทางหรือสาเหตุของปัญหาสิครับ....
นั่นก็คือ
ตอนก่อนจะตัดสินใจคัดเลือกว่าผู้สมัครคนไหนเหมาะสมกับตำแหน่งงานมากที่สุด
ท่านนำเอาเรื่อง “ทัศนคติ” เข้ามาร่วมพิจารณาด้วยหรือไม่ล่ะครับ ?
ผมเลยอยากฝากข้อคิดเอาไว้ว่า
การนำเอาเรื่องของความรู้ (Knowledge) หรือทักษะ (Skills)
มาประกอบในการตัดสินใจรับคนเข้าทำงานเป็นเรื่องจำเป็นก็จริงอยู่ แต่อย่าลืมมองเรื่องของคุณลักษณะภายใน
(Attributes)
คำว่าคุณลักษณะภายในนี้เป็นเรื่องเชิงนามธรรมที่อยู่ภายในตัวของทุกคน
เช่น ความซื่อสัตย์, ความขยัน, ความอดทน, ความมุ่งมั่น, ความรับผิดชอบ,
ทัศนคติเชิงบวก, มนุษยสัมพันธ์ ฯลฯ
ดังนั้น คนที่เป็นกรรมการสัมภาษณ์จำเป็นจะต้องเตรียมคำถาม
(Structured
Interview) เพื่อค้นหาคุณลักษณะเชิงนามธรรมเพื่อประกอบการตัดสินใจคัดเลือกผู้สมัครงานด้วย
ซึ่งในหลายองค์กรก็อาจจะมีแบบทดสอบเพื่อค้นหาคุณลักษณะภายในเหล่านี้ประกอบการคัดเลือกด้วยครับเพราะ....
ไม่เก่งงาน ไม่รู้งาน
ขาดทักษะความชำนาญ องค์กรยังสามารถฝึกอบรม สอนงาน ยังใช้เวลาไม่นานนักก็จะทำให้คนที่ไม่เก่งงานเหล่านี้เก่งงานได้
แต่คนที่ทัศนคติไม่ดี
EQ
ต่ำ ขาดความอดทน ขาดความมุ่งมั่น ขาดมนุษยสัมพันธ์ นั่งด่าผู้บริหาร
ด่าองค์กรทุก ๆ วัน แถมไปคอยยุแยงตะแคงรั่วกับเพื่อนร่วมงานอย่างสม่ำเสมอ ฯลฯ
ท่านจะส่งคนเหล่านี้ไปอบรมหลักสูตรอะไรดีครับ
หรือจะหาวิธีพัฒนาคนเหล่านี้ยังไง
และจะใช้เวลาเท่าไหร่ถึงจะทำให้คนเหล่านี้มีคุณลักษณะภายในตัวที่ดีขึ้น ?
เมื่อรู้ว่าจะมีปัญหาจากสาเหตุในเรื่องนี้แล้ว
ผมเชื่อว่าท่านคงเริ่มคิดที่ปรับปรุงวิธีการคัดเลือกคน
และมีไอเดียลดปัญหาเรื่องคนในองค์กรโดยเริ่มจากการสัมภาษณ์ผู้สมัครงานกันแล้วจริงไหมครับ
?
……………………………….