บทนำ
หากเราจะพูดถึงหน้าที่ (Human Resource
Functions) ในการบริหารงานบุคคลกันแล้วคงหนีไม่พ้นหลักใหญ่คือ
การสรรหาคัดเลือก, การบริหารค่าตอบแทนและสวัสดิการ, การพัฒนาบุคลากร,
การบริหารผลการปฏิบัติงาน และเรื่องของแรงงานสัมพันธ์
ซึ่งผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในกระบวนการบริหารทรัพยากรบุคคลในองค์การต่าง ๆ
คงจะทราบกันเป็นอย่างดีแล้วใช่ไหมครับ
สำหรับหน้าที่ในการบริหารทรัพยากรบุคคลตามที่ผมบอกมาข้างต้นนี้ในปัจจุบันเราจะพบว่าในหลายองค์การจะกำหนดให้หัวหน้างานหรือผู้จัดการในหน่วยงานต่าง
ๆ หรือที่เรียกกันว่า Line
Manager เป็นผู้มีส่วนรับผิดชอบร่วมกับฝ่ายทรัพยากรบุคคล เช่น ให้ Line
Manager เข้ามามีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้สมัครงานโดยการสัมภาษณ์,
ให้ Line Manager เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาประเมินผลการปฏิบัติงานรวมถึงการขึ้นเงินเดือนหรือปรับเงินเดือนประจำปีให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเอง,
ให้ Line Manager มีอำนาจในการตักเตือนผู้ใต้บังคับบัญชาเมื่อมีการกระทำผิดเช่นมาสาย,ขาดงาน
ทั้งด้วยวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษร ฯลฯ
โดยอาจกล่าวได้ว่า “ในวันนี้ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลตัวจริงก็คือ
Line Manager นั่นเอง !!”
จึงทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาว่า
แล้วฝ่ายทรัพยากรบุคคลมีบทบาทหน้าที่อะไรกันแน่ รวมไปจนถึงว่าคุณสมบัติหรือ Competency ของคนที่จะมาทำงานในฝ่ายทรัพยากรบุคคลควรจะต้องมีอะไรบ้าง ?
ท่านอ่านตามมาสิครับ
เรามาหาคำตอบด้วยกัน
บทบาทของฝ่ายทรัพยากรบุคคล
จากคำถามที่ผมติดค้างไว้ในบทนำจึงนำมาสู่บทบาทของผู้ที่ปฏิบัติงานในฝ่ายทรัพยากรยุคใหม่ดังนี้ครับ
1.
ให้คำแนะนำ (Advice) กับพนักงานทุกคนในองค์การ เช่น พนักงานมีข้อสงสัยในเรื่อง
หลักเกณฑ์วิธีการขึ้นเงินเดือนประจำปี,
หัวหน้างานมาขอคำแนะนำว่าจะตักเตือนลูกน้องที่ขาดงานอย่างไรดี,
พนักงานมาขอคำปรึกษาว่าถ้าหัวหน้างานไม่แจ้งผลการประเมินจะทำอย่างไรดี ฯลฯ
เหล่านี้แหละครับที่ผู้ปฏิบัติงานในฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะต้องเป็นผู้ให้คำแนะนำในเรื่องเหล่านี้กับพนักงานในทุกระดับ
2.
ให้ความช่วยเหลือ (Assistant) กับพนักงานทุกคนในองค์การ จากข้อ 1 ที่ให้
คำแนะนำไปแล้ว
หากพนักงานต้องการให้ช่วยเหลือเพิ่มเติม เช่น
เมื่อหัวหน้างานมาปรึกษาว่าได้ตักเตือนพนักงานด้วยวาจาในเรื่องขาดงานมาหลายครั้งแล้ว
จะทำหนังสือตักเตือนอย่างไรเพราะเขียนไม่เป็น
ซึ่งฝ่ายทรัพยากรบุคคลในฐานะมืออาชีพจะต้องให้ความช่วยเหลือโดยจัดเตรียมหนังสือตักเตือนดังกล่าวให้กับหัวหน้างานได้อย่างถูกต้อง
เป็นต้น
3.
เป็นผู้ดูแลให้มีการใช้กฎระเบียบขององค์การด้วยความเสมอภาคและเท่าเทียม
กัน
(Regulation
Control)
เช่น หัวหน้างานในหน่วยงาน ก
ปล่อยปละละเลยในเรื่องการตักเตือนผู้ใต้บังคับบัญชาที่มาทำงานสาย
จนกระทั่งเกิดปัญหาการร้องเรียนของพนักงานในหน่วยงานอื่น
ฝ่ายทรัพยากรบุคคลก็จะต้องไปแจ้งกับหัวหน้าหน่วยงาน ก ให้ปฏิบัติไปตามระเบียบกฎเกณฑ์ของบริษัทเพื่อให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียมกันเพื่อลดข้อครหาต่าง
ๆ หรือในกรณีที่พนักงานใช้สิทธิในการเบิกสวัสดิการต่าง ๆ
ฝ่ายทรัพยากรบุคคลก็จะต้องดูแลให้การเบิกสวัสดิการดังกล่าวเป็นไปในแนวทางปฏิบัติเหมือน
ๆ กันโดยไม่เกิดกรณีสองมาตรฐานเช่นคนหนึ่งเบิกได้ ส่วนอีกคนหนึ่งเบิกไม่ได้ ทั้ง ๆ
ที่เป็นการใช้สิทธิแบบเดียวกันเป็นต้น
4.
การเป็นคู่คิดทางธุรกิจกับ CEO หรือที่เรามักจะได้ยินคำว่า
“Strategic Partner” ไง
ครับนั่นคือผู้ที่ทำงานในฝ่ายทรัพยากรบุคคลในยุคใหม่จะต้องมีความรู้หลาย
ๆ ด้านที่ไม่ใช่จะมีแต่ความรู้ในด้านของงานบุคคลเพียงอย่างเดียวซึ่งผมจะเล่าในท่านฟังในหัวข้อถัดไปครับ
5.
การเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในองค์การหรือการเป็น
“Change
Agent”
ซึ่งฝ่ายทรัพยากรบุคคลในยุคใหม่จะต้องเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในองค์การเพื่อทำให้ผู้คนในองค์การมุ่งไปสู่เป้าหมายตามที่องค์การกำหนดไว้ครับ
คุณสมบัติของผู้ปฏิบัติงานในฝ่ายทรัพยากรบุคคลในยุคใหม่
จากที่ผมเล่าให้ท่านฟังมาในข้างต้น
ท่านคงจะมองเห็นแล้วนะครับว่าผู้ที่ทำงานในฝ่ายทรัพยากรยุคใหม่นอกจากจะต้องทำงานในลักษณะที่เป็นปฏิบัติการในการให้คำแนะนำหรือช่วยเหลือพนักงาน
โดยมี Line
Manager รับผิดชอบงานด้านบริหารผู้คนที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของเขาแล้ว
ผู้ที่ทำงานในฝ่ายทรัพยากรบุคคลยังจะต้องมีคุณสมบัติเพิ่มเติมอีก 2 เรื่องใหญ่ ๆ คือในเรื่องของการเป็นคู่คิดเชิงกลยุทธ์ (Strategic
Partner) และยังต้องมีความเป็นตัวก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง (Change
Agent) ในองค์การอีกด้วย
ผมจึงขอนำเสนอคุณสมบัติของผู้ปฏิบัติงานในฝ่ายทรัพยากรยุคใหม่
(Human
Resource Competency Model) มาให้ท่านได้ทราบดังนี้
จากรูปข้างต้นผมนำมาจากหนังสือ Managing Human
Resource โดยเขาได้พูดถึงผู้บริหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่จะต้องทำงานรับผิดชอบในด้านทรัพยากรบุคคลควรจะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
1.
ความรู้ในเชิงธุรกิจ (Business
Mastery)
แน่นอนว่าคนที่ทำงานในฝ่ายทรัพยากรบุคคลในยุคนี้จะต้องมีความแตกต่างไปจากยุค
ก่อน
ๆ ค่อนข้างมาก กล่าวคือในยุคก่อน ๆ สัก 20 ปีมาแล้ว
คนที่ทำงานในฝ่ายทรัพยากรบุคคลไม่จำเป็นต้องรู้ธุรกิจขององค์การเท่าใดนัก
เพียงแต่ดูแลรับผิดชอบงานประจำวัน (Routine) เช่น
การจ้างผู้สมัครงาน, การจ่ายเงินเดือนทุกสิ้นเดือนไม่ให้ผิดพลาด,
การส่งแบบฟอร์มประเมินผลงานให้หัวหน้างานประเมิน,
การทำเรื่องเบิกจ่ายสวัสดิการไม่ให้ผิดพลาด ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นงานประจำวัน,
ประจำเดือน และประจำปี ไปอย่างนี้ทุก ๆ
วัน ทุก ๆ เดือน ทุก ๆ ปี จนเป็นความเคยชินและให้เกิดความผิดพลาดให้น้อยที่สุด
ส่วนธุรกิจขององค์การจะเป็นอย่างไรฉันไม่จำเป็นต้องรับรู้รับทราบ
แต่สำหรับในยุคนี้และยุคต่อไปคงไม่เป็นอย่างที่ผมบอกมาข้างต้นแล้วล่ะครับ
เพราะคนที่ทำงานในฝ่ายทรัพยากรบุคคลจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ในเชิงธุรกิจขององค์การที่ตนเองทำงานอยู่โดย
มีความรู้ในสินค้าและบริการขององค์การเป็นอย่างดี
(Business
Acumen) เรียกว่า
ต้องรู้
เข้าใจ
และสามารถตอบคำถามในเรื่องของสินค้าหรือบริการที่บริษัทดีไม่แพ้ฝ่ายขายหรือฝ่ายการตลาดเลยล่ะครับ
จะต้องสามารถพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถของพนักงานในองค์การให้สร้าง
ความพึงพอใจให้กับลูกค้าเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าโดยยึดความพึงพอใจของลูกค้าเป็นแนวทางในการพัฒนาบุคลากรซึ่งจะต้องกับในภาพข้างต้นคือเน้นในเรื่องของ
Customer
Orientation และ External Relations นั่นเองครับ
2.
ความรู้ในงานด้านทรัพยากรบุคคล (HR Mastery)
ในเรื่องนี้ก็คงไม่ต้องอธิบายกันให้มากความนะครับ
เพราะถ้าจะมาทำงานด้านทรัพยากร
บุคคลแล้วยังไม่มีความเป็นมืออาชีพ
(Professional)
ในวิชาชีพที่ตัวเองทำอยู่ก็คงจะหาความเจริญรุ่งเรืองได้ยากจริงไหมครับ
อย่างไรก็ตามถึงแม้ผู้ที่ทำงานด้าน
HR มานานสักเพียงใด ก็ควรทำตัวให้เป็น “น้ำไม่เต็ม
แก้ว”
อยู่เสมอนะครับ เพราะทุกวันนี้ยังมีสิ่งใหม่ ๆ วิวัฒนาการใหม่ ๆ
ในเครื่องไม่เครื่องมือด้าน HR เข้ามาอีกมากมายที่ทำให้ต้องเรียนรู้ไปอย่างไม่รู้จบสิ้น
ดังนั้นจึงต้องเป็นคนที่รักการเรียนรู้
รักการอ่าน รักการพูดคุยสนทนากับผู้รู้อยู่สม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้ตกยุคไงล่ะครับ
3.
ผู้ที่ทำงานด้านทรัพยากรบุคคลจะต้องมีความรู้
เข้าใจ และสามารถบริหารการเปลี่ยนแปลงได้ (Change Mastery)
โดยจะต้องยอมรับกฎพื้นฐานของธรรมชาติตามแนวพุทธศาสตร์ว่า
“อนิจจังไม่เที่ยง” นั่น
แหละครับ
หรือที่มักจะพูดกันอยู่เสมอ ๆ ว่า “สิ่งที่แน่นอนที่สุด
คือสิ่งที่ไม่แน่นอน”
นั่นคือสรรพสิ่งย่อมมีการเปลี่ยนแปลงครับ
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นโดยเนื้อแท้แล้วมันไม่ได้ดีหรือเลยในตัวเองเลยนะครับ
แต่ความรู้สึกของคนที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงต่างหากที่ทำให้ความเปลี่ยนแปลงนั้นดีหรือเลว
ดังนั้นเมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว
ผู้ที่ทำงานด้านทรัพยากรบุคคลจะต้องมีทักษะในเรื่องของการ
โน้มน้าวใจคนรอบข้างด้วยความรู้สึกที่ดีต่อกัน
(Interpersonal
Skills and Influence) คอยช่วยแก้ไขปัญหาของคนที่อาจจะเกิดขึ้นจากการต่อต้านการเปลี่ยนแปลง
(Problem Solving Skills) รู้จักวิธีการจูงใจคนด้วยระบบรางวัล
(Rewards System) บ้าง ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ใหม่
ๆ (Innovativeness and creativity) เพราะความคิดสร้างสรรค์จะกลับมาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาต่าง
ๆ ได้เป็นอย่างดี
4.
ได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง (Personal
Credibility)
ฝ่ายทรัพยากรบุคคลมักจะถูกวางไว้ในฐานะ
“คนกลาง” ระหว่างฝ่ายบริหารกับพนักงาน
ดังนั้น
ผู้ที่ทำงานในฝ่ายทรัพยากรบุคคลจึงจำเป็นจะต้องวางตัวไว้อย่างเหมาะสมเพื่อไม่ให้ถูกมองจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งว่า
“ไม่เป็นกลาง” ไงครับ
ซึ่งความจริงแล้วการเป็นคนกลางนี้ก็ไม่ง่ายนะครับ
เพราะคนที่อยู่ทางซ้ายมือของเราก็มักจะมองว่าเราอยู่ทางขวา ในขณะที่คนที่อยู่ทางขวามือของเราก็มักจะมองว่าเราเอียงไปทางซ้ายด้วยเหมือนกัน
ดังนั้นผู้ทำงานในฝ่ายทรัพยากรบุคคลจึงควรจะต้องมีคุณสมบัติในเรื่องของความน่าเชื่อถือและมีจริยธรรมหรือมีคุณธรรม
(Trust
& Ethics) ให้คนรอบข้างยอมรับ
เรียกว่าสิ่งใดที่หมิ่นเหม่ต่อหลักจริยธรรมก็ต้องงดเว้น เช่น
ไม่มาทำงานสายเสียเอง, ไม่เบิกค่าเบี้ยเลี้ยงที่เกินสิทธิที่ตนมีอยู่,
การนำรถบริษัทไปใช้ส่วนตัว ฯลฯ ต่าง ๆ เหล่านี้
เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาขึ้นและจะทำให้คนรอบข้างเกิดความไม่เชื่อถือและขาดความไว้วางใจในที่สุด
ในขณะที่จะต้องเป็นคนที่สามารถสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างได้
(Build
personal relationships) ไม่ใช่ทำตัวเป็นครูไหวใจร้าย
หรือเป็นตำรวจลับที่คอยไล่จับพนักงานไปทั่วทั้งองค์การ
และยังต้องเป็นคนที่กล้าตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้องไม่ใช่ถูกใจ (Courage) โดยกล้าคิดกล้าตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผลสามารถตอบคำถามคนทั่วไปได้อย่างกระจ่างครับ
จากที่ผมเล่าให้ท่านฟังมาทั้งหมดคงจะพอทำให้ท่านได้เห็นภาพคุณสมบัติของคนที่จะต้องมี
หากจะมาทำงานในฝ่ายทรัพยากรในปัจจุบันและอนาคตได้ชัดเจนขึ้นแล้วนะครับ
ในความเห็นของผมแล้วผมเห็นว่าเป็นเรื่องปกติที่คนทั่วไปก็ทำได้ ซึ่งคุณสมบัติต่าง
ๆ
ข้างต้นนั้นก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่เหลือวิสัยสำหรับคนที่จะมาทำงานในฝ่ายทรัพยากรบุคคลเลยนะครับ
ดังนั้นคงเป็นข้อมูลให้กับทั้งท่านที่กำลังจะหาผู้ที่จะมาทำงานในฝ่ายทรัพยากรบุคคลในองค์การ
และท่านที่กำลังทำงานอยู่ในฝ่ายทรัพยากรบุคคลได้พิจารณากันนะครับว่าท่านหาได้หรือมีคุณสมบัติต่าง
ๆ เหล่านี้แล้วหรือยัง.
…………………………………