วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2556

ยื่นใบลาออกล่วงหน้า 15 วัน แต่หัวหน้าไม่อนุมัติ..ทำยังไงดี


เรื่องก็มีอยู่ว่าบริษัทมีกฎระเบียบเรื่องการลาออกเอาไว้ว่า หากพนักงานจะลาออกจะต้องยื่นใบลาออกล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน แล้วก็มีพนักงานที่อยากจะลาออกโดยต้องการให้มีผลเร็วกว่าที่บริษัทกำหนดไว้ เช่น ยื่นใบลาออกล่วงหน้า 15 วัน เช่นส่งใบลาออกวันที่ มีนาคม ระบุให้การลาออกมีผลตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม เป็นต้นไป เมื่อส่งใบลาออกให้หัวหน้ากลับถูกหัวหน้าปฏิเสธโดยบอกว่ายังไม่อนุมัติและให้มาทำงานต่อไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม โดยหัวหน้าจะเซ็นใบลาออกให้ในวันที่ 30 มีนาคม
พนักงานก็ถามว่า “จะทำยังไงดี ?”
ถ้าหากจะดูแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ฎ.6020/2545 ก็จะพบว่า “ลูกจ้างยื่นใบลาออกต่อายจ้าง ย่อมถือเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้าง และการเลิกสัญญาจ้างมีผลในวันที่ลูกจ้างแจ้งไว้ในใบลาออกนั้นการเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลานั้น นายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างได้แต่เพียงฝ่ายเดียวไม่จำเป็นต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งยินยอมหรือตกลงหรืออนุมัติแต่อย่างใด
พูดง่าย ๆ จากแนวคำพิพากษาข้างต้นก็คือ เมื่อไหร่ที่พนักงานยื่นใบลาออกและระบุวันที่มีผลไว้วันไหน (เช่นในกรณีนี้คือให้มีผลวันที่ 16 มีนาคม) แม้ไม่ถูกต้องตามระเบียบของบริษัท แต่ใบลาออกนั้นก็จะมีผลในวันที่ 16 มีนาคมทันทีโดยไม่ต้องรอให้ผู้บริหารของบริษัทอนุมัติแต่อย่างใดครับ
หรือจะพูดให้ถึงที่สุดก็คือ ถ้าลูกจ้างยื่นใบลาออกวันนี้เพื่อให้มีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปก็ย่อมทำได้และมีผลทันทีโดยไม่ต้องรอให้บริษัทอนุมัติก็ได้นะครับ !
พอพูดมาถึงตรงนี้คนที่รักษากฎระเบียบเช่นฝ่ายบุคคลก็อาจจะถามว่า “อ้าว..แล้วพนักงานที่มีพฤติกรรมไม่รับผิดชอบเยี่ยงนี้จะทำยังไง    นึกอยากจะลาออกทิ้งงานทำให้งานเสียหายอย่างนี้ก็ทำได้เหรอ ?”
ก็ตอบได้ว่าการที่พนักงานมีพฤติกรรมอย่างนี้ก็แสดงถึงจิตใจของตัวพนักงานเองด้วยเหมือนกันว่าเขาคิดยังไงกับหัวหน้า, เพื่อนร่วมงาน หรือองค์กรแห่งนี้
ลองย้อนกลับมาดูต้นเหตุของปัญหานี้สักหน่อยดีไหมครับ..
ก่อนที่พนักงานคนนี้จะยื่นใบลาออกน่ะ หัวหน้างานมีพฤติกรรมยังไงกับพนักงานรายนี้บ้าง เช่น หัวหน้างานเป็นคนมีวาจาเป็นอาวุธ มีดาวพุธเป็นวินาศ จุดเดือดต่ำฟิวส์ขาดง่าย ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ มักจะเอะอะเอ็ดตะโรพนักงานรายนี้ให้เขาได้อับอายขายหน้าอยู่เสมอ ๆ หรือเปล่า หรือพนักงานรายนี้ทำงานดียังไงก็ไม่ถึงใจหัวหน้าซะที แถมทำดีไม่เคยจำ..แต่ทำพลาดไม่เคยลืม ฯลฯ
พนักงานรายนี้ก็ต้องกล้ำกลืนฝืนทนทำงานไปหางานใหม่ไป พอถึงทีของเขาที่หางานใหม่ได้เขาก็เลยยื่นใบลาออกให้มีผลทันทีเพื่อความสะใจของตัวเอง
หรือถ้าหากหัวหน้าของเขาไม่เคยมีพฤติกรรมร้าย ๆ อย่างที่ผมยกตัวอย่างมาข้างต้น แต่เป็นเพราะตัวพนักงานเองขาดความรับผิดชอบพอได้งานใหม่ก็พร้อมจะสะบัดก้นหนีไปที่ใหม่ทันทีโดยไม่สนใจว่าเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าในที่ทำงานเดิมเขาจะเดือดร้อนแค่ไหนเพราะยังหาคนไม่ได้แถมยังเก็บเอางานสำคัญ ๆ ไว้กับตัวเองไม่ยอมส่งมอบให้กับคนที่เขาจะมาทำงานแทน ฯลฯ
ถ้าหากบริษัทใหม่ที่พนักงานรายนี้เขาสอบถามมาที่ฝ่ายบุคคล (ที่เก่า) ทางฝ่ายบุคคลหรือหน่วยงานเดิมก็คงจะต้องตอบเขาตามจริงแหละครับว่าพนักงานรายนี้มีพฤติกรรมขาดความรับผิดชอบ และทำให้บริษัทเดิมเขาเดือดร้อนกันมากน้อยแค่ไหน แล้วถ้าบริษัทใหม่ยังคิดจะรับเอาไว้ก็ไปเสี่ยงดวงกันเองในอนาคตก็แล้วกัน
แต่ก็คงไปยืดระยะเวลาการลาออกของเขาไม่ได้หรอกครับ ถ้าเขาไม่ยินยอม
ดังนั้น คำแนะนำของผมก็คือถ้ายังอยู่ในวิสัยที่จะพอพูดคุยกันได้ก็คุยกันแบบพี่แบบน้องให้เขารู้ว่างานที่เขารับผิดชอบอยู่น่ะต้องส่งมอบให้กับคนที่จะมาทำแทนให้เรียบร้อยก่อนได้ไหม และขอให้เขาขยายวันที่จะลาออกจากเดิมคือวันที่ 16 มีนาคม ไปเป็นให้มีผลวันที่ เมษายน ได้ไหม ถ้าเขาตกลงก็ให้เขาแก้ไขวันที่มีผลลาออกเอาไว้ (ในใบลาออกใบเดิมนั่นแหละครับ) แล้วให้เขาเซ็นชื่อกำกับไว้ต้องที่จุดที่เขาแก้ไขวันที่มีผลลาออก เท่านี้ก็เรียบร้อย
จากประสบการณ์ของผมแล้วการพูดคุยกันแบบพี่แบบน้องแบบเพื่อนกันในลักษณะของการจูงใจแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยจะดีกว่าการพูดจากันด้วยภาษากฎหมายครับ
ประเด็นสำคัญก็คือ ในวันนี้หัวหน้างานหรือผู้บริหารมีแรงงานสัมพันธ์ที่ดีกับพนักงานมากน้อยแค่ไหนล่ะครับ ?

………………………………………