วันพุธที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สิ่งที่ควรทำ และไม่ควรทำสำหรับผู้สมัครงาน


            ที่ผมหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาคุยกันก็เพราะเมื่อร่ำเรียนกันจนจบการศึกษาก็จะต้องเข้าสู่โลกของการทำงานซึ่งหลายคนจะต้องไปสมัครงานซึ่งในที่สุดก็ต้องพบกับด่านสุดท้ายคือ “การสัมภาษณ์” เลยอยากจะให้ข้อแนะนำสำหรับผู้ที่จะไปสัมภาษณ์ว่าควรหรือไม่ควรทำอะไรบ้างดังนี้ครับ

ควร

1.      ศึกษาข้อมูลขององค์กรที่เราจะไปสัมภาษณ์ในเบื้องต้นก็ยังดี เพราะหลายครั้งที่ผู้สมัครงานไปถามผู้สัมภาษณ์ว่าที่บริษัทนี้ทำธุรกิจอะไร ? แหมจะมาสัมภาษณ์ทั้งทีไม่ยอมทำการบ้านหาข้อมูลมาอย่างนี้แล้วจะให้กรรมการสัมภาษณ์เขาคิดยังไงล่ะครับ ทั้ง ๆ ที่วันนี้มีตัวช่วยในการหาข้อมูลเยอะแยะเช่น กูเกิ้ล เป็นต้น  คงเคยได้ยินคำว่า “รู้เขา..รู้เรา” มาแล้วนะครับ

2.      ไปถึงสถานที่สัมภาษณ์ก่อนเวลา อันนี้ก็สำคัญนะครับเพราะถ้าไปสายจะทำให้เสียความน่าเชื่อถือไปไม่น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับผู้สมัครรายอื่นที่เขาไปก่อนเวลา และหากมีความจำเป็นกระทันหันไม่สามารถไปสัมภาษณ์ได้ตามที่นัดหมายควรรีบโทรศัพท์ติดต่อกับฝ่ายบุคคลที่นัดเราทันที ไม่ใช่รอให้เขาโทรมาตามนะครับ เรื่องนี้มักจะเจอบ่อยสำหรับผู้สมัครงานในยุคนี้คือไปตามนัดไม่ได้ก็ไม่ติดต่ออะไรมาเลย ที WhatsApp หรือโทรคุยกับแฟนยังมีเวลาแต่พอเรื่องนี้กลับไม่ยอมติดต่อกลับซะงั้น

3.      แต่งกายให้เหมาะสมกับลักษณะธุรกิจขององค์กรนั้น ๆ ซึ่งผู้สมัครงานต้องหาข้อมูลทำการบ้านไปก่อน เช่น ไปสัมภาษณ์กับธนาคารหรือบริษัทที่ต้องการความน่าเชื่อถือก็ควรจะต้องผูกเน็คไท เป็นต้น

4.      แสดงภาษากาย การพูด และใช้น้ำเสียงที่แสดงให้เห็นว่าเรากระตือรือร้นสนใจในงานที่มาสมัคร พูดจาฉาดฉานชัดถ้อยชัดคำ ยิ้มแย้มแจ่มใสแสดงความมั่นใจในตัวเองอย่างมีเหตุมีผล รู้จักซักถามในเนื้อหาของงานในตำแหน่งที่สมัครเพื่อแสดงให้ผู้สัมภาษณ์เห็นว่าเราสนใจในงานนั้นและต้องการจะทำงานนั้นจริง ๆ

5.      ปิดโทรศัพท์ หลายครั้งที่ผู้สมัครเสียคะแนนเพราะเรื่องนี้แหละครับ ปิดโทรศัพท์ในช่วงเวลาสัมภาษณ์คงจะไม่ทำให้ถึงกับไม่มีสมาธิในการสัมภาษณ์จริงไหมครับ

ไม่ควร

1.      ไม่ยกมือไหว้ทักทายกรรมการสัมภาษณ์ เป็นเรื่องแปลกแต่จริงที่ผมมักจะพบมาคือผู้สมัครงานจะผงกหัวทักทายกรรมการสัมภาษณ์แทนที่จะใช้วัฒนธรรมไทย ๆ ที่รู้จักกันทั่วโลกคือการไหว้ ถ้าท่านเป็นกรรมการสัมภาษณ์จะรู้สึกยังไงครับ แถมถ้าตำแหน่งงานนี้ต้องเป็นตำแหน่งที่จะต้องติดต่อกับลูกค้ารายใหญ่ ๆ (ที่เป็นคนไทย) ด้วยจะเหมาะหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้สมัครคนอื่นที่เขาไหว้ทักทายตามวัฒนธรรมไทย รร

2.      ซักถามวนเวียนแต่เรื่องเงินเดือนหรือสวัสดิการ ปกติผู้สมัครงานจะเขียนอัตราเงินเดือนที่ต้องการลงไปในใบสมัครอยู่แล้ว (ซึ่งควรจะต้องใส่เงินเดือนที่ต้องการลงไปไม่ควรทิ้งว่างไว้นะครับ) ซึ่งกรรมการสัมภาษณ์เขาก็จะรู้อยู่แล้ว ผมมักจะพบว่ามีผู้สมัครงานจำนวนไม่น้อยไม่สอบถามเรื่องงานมากนัก แต่จะถามว่าจะได้เงินเดือนเท่าไหร่ สวัสดิการมีอะไรบ้าง ลองคิดดูสิครับในเมื่อกรรมการสัมภาษณ์ยังสัมภาษณ์ผู้สมัครงานรายอื่น ๆ ยังไม่เสร็จ และก็ยังไม่รู้ว่าท่านจะได้รับการคัดเลือกเป็นพนักงานหรือไม่ การถามเรื่องเงินเดือนจะมีประโยชน์อะไรล่ะครับ ? แต่ถ้าท่านผ่านการคัดเลือกและทางบริษัทเขาตกลงรับเราเข้าทำงานแล้ว ยังไงฝ่ายบุคคลเขาก็จะต้องติดต่อกลับมาแล้วเจรจาเรื่องเงินเดือน สวัสดิการอีกครั้งอยู่ดี ซึ่งตอนนี้แหละที่ผู้สมัครจะได้เคลียกันให้ชัดเจนจะดีกว่า ดังนั้นสู้เอาเวลาไปถามเรื่องงานเพื่อให้กรรมการสัมภาษณ์เขาเห็นว่าเราเป็นคนที่เอาเรื่องงานมาก่อนเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวไม่ดีกว่าหรือครับ เพราะองค์กรต้องการคนที่ Give ก่อน Take ครับ

3.      พูดคุยอวดอ้างสรรพคุณจนเกินจริง ผู้สมัครหลายคนชอบพูดคุยความสามารถด้านต่าง ๆ ของตัวเองจนดูเว่อร์ในสายตาของกรรมการสัมภาษณ์ หรือบางคนก็พูดอวดเครือข่ายสายสัมพันธ์คอนเน็คชั่นว่ารู้จักคนใหญ่คนโต ซึ่งเป็นเรื่องไม่ควรทำครับ

4.      ถ่อมตัวจนเกินเหตุ นี่ก็กลับทางกับข้อ 2 คือผู้สมัครงานบางคนก็ถ่อมตัวจนเกินไป เช่น กรรมการสัมภาษณ์ถามว่าสมัยเรียนหนังสือคุณทำกิจกรรมอะไรบ้าง ก็ตอบว่า “ผมเป็นประธานชมรม...ครับ แต่ก็เป็นชมรมเล็ก ๆ ที่ไม่ค่อยเป็นที่สนใจของนักศึกษาในสถาบันซักเท่าไหร่....” เลยดูเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเอง หรือมั่นใจในคุณค่าของงานที่ตัวเองรับผิดชอบอยู่ไปเลย

5.      รู้แต่เรื่องในตำราเรียนเพียงอย่างเดียว ในเรื่องนี้หมายถึงผู้สมัครงานโดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาหลาย ๆ คนที่ผมพบมาจะตอบคำถามได้แต่เฉพาะเรื่องที่เรียนมาเท่านั้น แต่พอถามเรื่องความรู้รอบตัว เช่น “เมื่อมีการเปิดประชาคมอาเซียนหรือ AEC ในปี 2558 คุณคิดว่าจะมีผลกระทบอะไรกับประเทศไทยบ้าง ?” หลายคนก็อึ้งถึงกับไปไม่เป็นเลยทีเดียว แถมอาจจะยังถามกลับมาอีกว่า “AEC แปลว่าอะไร” เสียอีก ดังนั้นจำเป็นจะต้องศึกษาหาความรู้รอบตัว เช่น เรื่องของเศรษฐกิจ, สังคม, การเมือง, ต่างประเทศ, เทคโนโลยี, ศิลปวัฒนธรรม, การเกษตร ฯลฯ เอาไว้ด้วย เรียกว่าถ้าใครอ่านมาก สนใจหาความรู้รอบตัวใส่ตัวไว้มากก็จะสามารถพูดคุยกับกรรมการสัมภาษณ์ได้รอบด้านกว่าคนที่ไม่เคยสนใจอะไรนอกจากตำรานะครับ

จากที่ผมบอกมาในเบื้องต้นนี้คงจะเป็นแนวทางให้กับนิสิตนักศึกษาใหม่ที่กำลังจะจบการศึกษา ซึ่งก็รวมถึงท่านที่มีประสบการณ์ทำงานแล้วและจะต้องไปสัมภาษณ์งานให้ได้ข้อคิดในการเตรียมตัวก่อนที่จะไปสัมภาษณ์กันแล้ว ขอให้โชคดีและประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงานนะครับ

……………………………………