วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2555

คำว่า “ค่าจ้างขั้นต่ำ” จะรวมสวัสดิการด้วยหรือไม่ เพราะบริษัทอ้างว่าเงินเดือนรวมสวัสดิการก็เกินค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว

ตอบ

ผมเคยเห็นคำถามทำนองนี้ตามเว็บบอร์ดต่าง ๆ ที่ถามว่าบริษัทจะสามารถนำเอาสวัสดิการเช่น ค่าอาหาร, ค่ากะ หรือเงินเพิ่มบางตัวเช่นค่าครองชีพ, ค่าตำแหน่ง, ค่าภาษา ฯลฯ เข้ามารวมกับค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อให้ได้ตามประกาศค่าจ้างขั้นต่ำได้หรือไม่ แล้วก็จะมีผู้รู้ (รู้จริงหรือไม่ก็ไม่ทราบ) เข้ามาตอบคำถามเหล่านี้ในลักษณะที่อาจจะทำให้เกิดปัญหาต่อไปในอนาคต เช่น

แนะนำว่าให้พิจารณานำมารวมเป็นค่าจ้างขั้นต่ำได้เรียกว่าขอให้ได้วันละ 300 บาท ตามที่กฎหมายเขากำหนดก็ถือว่าใช้ได้แล้ว แถมที่หนักไปกว่านั้นบางคนก็ไปแนะนำให้เปลี่ยนสภาพการจ้างจากลูกจ้างรายเดือนให้เป็นลูกจ้างรายวันเสียเลยจะได้ลดค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำลง

ซึ่งผมอยากจะบอกว่าคำแนะนำทำนองนี้สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ลูกจ้างนำไปฟ้องศาลแรงงานเพื่อให้วินิจฉัยว่านายจ้างจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำถูกต้องตามกฎหมายแรงงานหรือไม่ ซึ่งไม่ควรแนะนำให้มีการปฏิบัติแบบ “เลี่ยงบาลี” เช่นนี้ เพราะนี่ไม่ใช่คนที่ทำงานโดยใช้วิชาชีพด้าน HR นะครับ

คนที่เป็น HR มืออาชีพควรจะต้องให้คำแนะนำสิ่งที่ถูกต้องกับฝ่ายบริหารว่าอะไรควร อะไรไม่ควร อะไรผิดอะไรถูก เรื่องไหนทำแล้วบริษัทจะมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนอย่างไร และควรจะป้องกันหรือบริหารความเสี่ยงในเรื่องของบุคลากรอย่างไร ไม่ใช่จะให้คำแนะนำที่ “ถูกใจ” ฝ่ายบริหารเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ใช่คำแนะนำที่ “ถูกต้อง” และต้องกล้ายืนยันในสิ่งที่ถูกต้องอย่างมั่นคง รวมถึงจะต้องมองถึงผลกระทบในเชิงแรงงานสัมพันธ์ในองค์กรด้วยนะครับ

นี่จึงเป็นความแตกต่างของ “HR มืออาชีพ” กับ “คนที่มีอาชีพ HR” ครับ

พร้อมกันนี้ผมอยากจะให้ท่านได้ใช้หลัก “กาลามสูตร” ที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนมากว่าสองพันปีแล้วว่าอย่าเชื่อเพราะเขาบอกต่อ ๆ กันมา, เขาทำตาม ๆ กันมา, เพราะตรงกับใจเรา หรือแม้แต่อย่าเชื่อเพราะเขาเป็นครูบาอาจารย์ของเรา ดังนั้นแม้แต่สิ่งที่ผมอธิบายให้กับท่านในวันนี้ก็อย่าเพิ่งเชื่อนะครับ

แต่ท่านควรเชื่อโดยมีการหาข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง มีการคิดวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านั้นถึงผลดี-ผลเสียอย่างถ่องแท้ด้วยสติปัญญาของตนเองจนเกิดความแน่ใจแล้วจึงค่อยเชื่อและนำไปปฏิบัติให้ถูกต้องพร้อมทั้งติดตามผลด้วยว่าเมื่อตัดสินใจแล้วจะแก้ปัญหาที่เจออยู่ได้หรือไม่

สำหรับในเรื่องนี้ผมจึงอยากจะให้หลักในการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำง่าย ๆ ดังนี้

1.      ตอนที่บริษัทจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำให้ลูกจ้างในอัตราเดิมก่อนที่จะมีประกาศให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทน่ะ บริษัทนำเอาค่าครองชีพ, ค่าตำแหน่ง, ค่าอาหาร, ค่ากะ, ค่าเซอร์วิสชาร์จ ฯลฯ (ที่ผมขอเรียกว่า “สารพัดค่าต่าง ๆ”) เข้าไปรวมอยู่ในค่าจ้างขั้นต่ำ (เดิม) หรือไม่

2.      ถ้าตอบว่า “ไม่” แล้วเหตุไฉนในการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำตามประกาศล่าสุดของกระทรวงแรงงานที่ให้จ่ายวันละ 300 บาท จึงจะนำเอาสารพัดค่าต่าง ๆ เข้าไปรวม ? (สำหรับบริษัทที่นำเอาสารพัดค่าต่าง ๆ เข้าไปรวมเป็นค่าจ้างขั้นต่ำนะครับ)

เพราะถ้าหากบริษัทนำเอาสารพัดค่าต่าง ๆ เข้าไปรวมเป็นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้แล้ว แสดงว่าในการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำก่อนหน้านี้บริษัทก็คิดค่าล่วงเวลา, ค่าทำงานในวันหยุด, และค่าล่วงเวลาในวันหยุด รวมถึงค่าชดเชย, ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าเมื่อเลิกจ้างพนักงานผิดทั้งหมด !

ซึ่งฐานของ “ค่าจ้าง” ที่จะต้องนำมาคำนวณโอที, ค่าชดเชย, ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าจะต้องรวมสารพัดค่า เช่น ค่าครองชีพ, ค่าอาหาร, ค่ากะ, ค่าตำแหน่ง, ค่าเซอร์วิสชาร์จ ฯลฯ ด้วยสิครับ

ดังนั้นลูกจ้างจึงมีสิทธิฟ้องศาลแรงงานให้นายจ้างจ่ายโอที, ค่าชดเชย, ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าที่นายจ้างจ่ายผิดพลาดไปในครั้งก่อนหน้านี้ โดยใช้ฐานค่าจ้างขั้นต่ำ (เดิม) บวกสารพัดค่าต่าง ๆ ได้จริงไหมครับ
อีกประการหนึ่งบางเรื่องยังต้องมาดูกันอีกนะครับว่าเป็น "ค่าจ้าง" หรือไม่ เช่น ค่าอาหารที่เคยจ่ายเป็นคูปองรายวัน ๆ ละ 30 บาท อย่างนี้ไม่ใช่ค่าจ้างนะครับ เพราะไม่ได้จ่ายเป็นเงินและเป็นเงินสวัสดิการสำหรับลูกจ้าง เป็นต้น จะไปโมเมเหมารวมเข้าไปในค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้ เป็นต้น เห็นไหมครับว่าเรื่องเหล่านี้มีรายละเอียดของมันอยู่ ดังนั้นการจะมาแนะนำแบบเหวี่ยงแหให้นับรวมเป็นค่าจ้างขั้นต่ำนั้นมีโอกาสจะเกิดปัญหากับบริษัทในภายหลังครับ

3.      การแนะนำให้เปลี่ยนสภาพการจ้างจากลูกจ้างรายเดือนให้เป็นรายวันก็ถือเป็นการเปลี่ยนสภาพการจ้าง ซึ่งถ้าหากลูกจ้างไม่ยินยอมนายจ้างก็ทำไม่ได้นะครับ เพราะถ้าฝืนทำลูกจ้างก็จะสามารถนำไปฟ้องศาลแรงงานได้ ซึ่งจะทำให้บริษัทเสียชื่อเสียงเปล่า ๆ

จากที่ผมอธิบายมานี้ ท่านคงพอจะเห็นเป็นแนวทางในการตัดสินใจได้แล้วนะครับว่าควรจะนำสารพัดค่าต่าง ๆ เข้าไปรวมกับค่าจ้างขั้นต่ำหรือไม่ และถ้าฝืนทำไปจะมีผลอย่างไร

            ผมเข้าใจว่าผลจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท (ทั่วประเทศพร้อมกันในวันที่ 1 มกราคม 2556) นี้จะกระทบต่อ Staff Cost ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรของบริษัทเพิ่มสูงขึ้น แต่เมื่อประเทศชาติมีกฎหมายพลเมืองที่ดีก็ควรจะปฏิบัติตามกฎหมาย และไม่ควรจะใช้กฎหมายแบบศรีธนญชัย

บริษัทควรจะเอาเวลามาช่วยกันคิดหาวิธีอื่นในการเพิ่มยอดขายมาลดภาระด้านต้นทุนค่าใช้จ่ายของบริษัท ด้วยวิธีการร่วมแรงร่วมใจระหว่างผู้บริหารกับพนักงานเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

โดยแจ้งให้พนักงานทราบแบบตรงไปตรงมาเลยว่าบริษัทได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้แค่ไหน แต่บริษัทก็ยังปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานแม้จะมีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งบริษัทยังเชื่อมั่นในว่าพนักงานจะให้ความร่วมมือกับบริษัทในการเพิ่มประสิทธิภาพปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้นเพื่อให้ทั้งบริษัทและพนักงานก้าวไปข้างหน้าและฝ่าฟันปัญหานี้ไปด้วยกัน

จะดีกว่าการที่ผู้บริหารมาคอยนั่งคิดลดต้นทุนด้านบุคลากรแบบสุ่มเสี่ยงหรือตุกติกแล้วทำให้เกิดปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์ตามมาในภายหลังจริงไหมครับ
...................................................