วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ข้อคิดในการพัฒนา Talent

            ในปัจจุบันผมเห็นหลายองค์กรต่างก็กำลังพยายามค้นหาเดอะสตาร์หรือ Talent ขององค์กร และทำการพัฒนากันอย่างเอาจริงเอาจัง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีนะครับที่องค์กรเหล่านั้นเห็นความสำคัญของคนในและหาวิธีการพัฒนาคนในให้เติบโตก้าวหน้าไปพร้อม ๆ กับองค์กร ดีกว่าจะเอาแต่มุ่งหาคนนอกเข้ามาแถมตั้งเงินเดือนแพง ๆ แล้วในที่สุดคนนอกก็อยู่ได้ไม่นานแล้วก็ลาออกไป ทำให้คนในเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีอีกต่างหาก

            วันนี้ผมมีเรื่องมาเล่าสู่กันฟังกับท่านอีกแหละครับในเรื่องของ Talent นี่แหละ

            เรื่องเป็นอย่างนี้

1.      ในทุกองค์กรต่างก็มุ่งพัฒนา Talent ไปตามโปรแกรม หรือแผนการพัฒนาที่วางไว้ ซึ่งอาจจะมีทั้งการฝึกอบรม, การสอนงาน, การมอบหมายงานพิเศษให้ทำ, การส่งไปดูงาน ฯลฯ

2.      อย่างไรก็ตามในที่สุดก็ต้องมีการทดสอบ Talent เป็นรายบุคคล ว่ามีความรู้ความสามารถ หรือมี Competency ในด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน เช่น การทดสอบเรื่องทักษะการบริหารจัดการ, ทักษะการวางแผน, EQ, ทักษะการแก้ปัญหาและตัดสินใจ ฯลฯ ซึ่งแน่นอนครับว่าจะต้องมีการวัดผลการทดสอบออกมาเป็นคะแนนว่าในแต่ละ Competency น่ะ Talent แต่ละคนจะทำคะแนนได้ดีแค่ไหน

แล้วมันผิดปกติตรงไหนล่ะ ?

ดูเผิน ๆ ก็ไม่ผิดปกติหรอกครับ..แต่ภาคปฏิบัติผมพบว่า

1.      ในระหว่างการพัฒนา Talent เช่นเมื่อจัดให้ Talent เข้าอบรมในหลักสูตรที่กำหนด Talent บางคนก็ไม่เข้าอบรม และก็ฝากเพื่อนให้ช่วยเซ็นชื่อแทนเสียเป็นส่วนใหญ่

2.      ในการทดสอบวิชาต่าง ๆ มีการลอกข้อสอบกัน (เหมือนเด็ก ๆ )

3.      เมื่อมีการมอบหมายงานพิเศษให้ไปทำ Talent บางคนก็เอางานเหล่านี้ไปให้ลูกน้องทำให้ (ทั้ง ๆ ที่จุดมุ่งหมายต้องการให้ Talent ทำงานเหล่านี้เอง) ซึ่งลูกน้องก็คงจะบอกกับ Talent ที่เป็นหัวหน้าไม่ได้หรอกนะครับว่า “ไม่ใช่แฟนทำแทนไม่ได้” ก็ต้องทำไปนั่นแหละ

4.      หรือเมื่อมีการมอบหมายให้ Talent ทำงานหรือกิจกรรมกลุ่ม ก็จะมี Talent บางคนไม่ทำงานกับกลุ่ม ไม่เข้าร่วมประชุม แต่กลับฝากให้เพื่อนเอาชื่อตัวเองแปะเข้าไปในกลุ่มเสมือนได้ทำงานกับกลุ่มไปด้วย ซึ่งภาษาบ้านผมเขาเรียกว่า “กินแรงเพื่อน” นั่นแหละครับ

โดยทั่วไปในระหว่างการพัฒนา Talent องค์กรมักจะมีผู้ดูแลการพัฒนา Talent เช่นเมื่อมีการจัดการฝึกอบรมให้กับ Talent ก็จะมีเจ้าหน้าที่ประสานงานดูแลอยู่หลังห้องคอยอำนวยความสะดวกให้กับบรรดา Talent เหล่านี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ประสานงานนี้ก็มักจะยังมีอาวุโสน้อย ในขณะที่บรรดา Talent นั้นมักจะเป็นผู้อาวุโสมีตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับกลาง หรือระดับสูง

            ผมก็ได้รับคำบอกเล่าปรับทุกข์จากเจ้าหน้าที่ประสานงานเหล่านี้แหละครับว่าเห็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของ Talent อย่างที่ผมยกตัวอย่างไปข้างต้นนั่นแหละ แต่ก็ไม่รู้จะทำยังไงดี เพราะเป็นผู้น้อยต้องคอยก้มประนมกร ขืนไปรายงานพฤติกรรมของบรรดา Talent (บางคน) เหล่านี้เข้าเดี๋ยวท่านทราบเข้าก็เป็นอันถูกลงบัญชีดำเอาไว้ไม่ได้ผุดได้เกิดแหง ๆ

            ที่ตลกร้ายก็คือ Talent ที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมบางคนที่ผมยกตัวอย่างมานั้นก็สอบภาคทฤษฎี หรือปฏิบัติได้คะแนนสูงเสียอีกต่างหาก !

            แล้วองค์กรนั้น ๆ ก็จะชื่นชมกับมันสมองหรือ IQ อันฉลาดปราดเปรื่องของ Talent (ภาคทฤษฎี) เหล่านั้น และอาจจะตอบแทนทั้งตำแหน่งและค่าตอบแทนสวัสดิการที่สูงขึ้นไปด้วยคาดหวังว่านี่แหละเขาจะเป็นอนาคตผู้บริหารหรือผู้นำองค์กรของเราในอนาคต ?!?

            ท่านคงคิดต่อได้เองนะครับว่า Talent ที่มีพฤติกรรมอย่างที่ผมบอกมาข้างต้นเหล่านี้ จะเป็นผู้นำแบบไหนต่อไป แล้วองค์กรของท่านต้องการผู้นำในอนาคตมีพฤติกรรมแบบนี้หรือครับ ?

            จากประสบการณ์ตรงนี้ ผมก็เลยนำมาแลกเปลี่ยนเพื่อเป็นข้อคิดเตือนใจให้กับองค์กรที่กำลังพัฒนา Talent อย่างขมักเขม้นว่าอย่าเอาแต่เพียงเน้นความสำคัญไปที่ภาควิชาการหรือทฤษฎีและวัดผลกันเพียงการทดสอบในกระดาษเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งสำคัญคือระหว่างการพัฒนา Talent นั้น องค์กรควรสังเกตพฤติกรรมในระยะยาวในระหว่างการพัฒนา Talent เป็นรายบุคคลอย่างจริง ๆ จัง ๆ ด้วยนะครับ

          มาถึงตรงนี้คงจะเป็นเรื่องที่ท่านที่รับผิดชอบโครงการนี้ต้องกลับไปคิดกันต่อนะครับว่าท่านควรจะจัดการกับเรื่องเหล่านี้อย่างไร เพื่อให้องค์กรของท่านมี Talent ตัวจริงที่เป็นผู้นำองค์กรที่ทั้งเก่งและดีในอนาคตครับ

....................................