คำว่า OT หรือ Overtime หรือที่เราเรียกกันว่า “ค่าล่วงเวลา” หรือ “ค่าโอ” นั้น ในทางกฎหมายแรงงานหมายถึง
- ค่าล่วงเวลาในวันทำงาน - ค่าล่วงเวลาในวันหยุด
ซึ่งกำหนดเอาไว้ว่าการที่ลูกจ้างจะทำงานเพื่อรับ “ค่าโอ” นั้น นายจ้างจะบังคับให้ลูกจ้างทำไม่ได้ ต้องให้ลูกจ้างยินยอมที่จะทำเป็นครั้ง ๆ ไป แต่ยกเว้นงานที่ลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน หรือเป็นงานฉุกเฉิน หรือเป็นงานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้เท่าที่จำเป็น
ซึ่งก็จะมีข้อยกเว้นดังกล่าวสำหรับงานบางงานที่จำเป็น แต่ทั้งนี้กฎหมายแรงงานก็กำหนดเอาไว้อีกนะครับว่าในการทำงานล่วงเวลานั้น ห้ามไม่ให้เกินสัปดาห์ละ 36 ชั่วโมง แม้ว่าลูกจ้างยินยอม และนายจ้างก็พร้อมจะจ่ายค่าล่วงเวลาให้ก็ตาม จึงเป็นข้อคิดสำหรับบริษัทที่ให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาเกิน 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เอาไว้ด้วยว่ากำลังทำผิดกฎหมายแรงงานอยู่นะครับ
ปัญหาในเรื่อง OT กับงานบางงาน
ผมเชื่อว่าบริษัทของท่านก็คงจะต้องมีการให้พนักงานในหน่วยงานต่าง ๆ ทำงานล่วงเวลากันอยู่บ้างไม่มากก็น้อย แต่มีตำแหน่งงานหนึ่งซึ่งมักจะมีปัญหาเกี่ยวกับโอที ก็คือตำแหน่ง “พนักงานขับรถยนต์” ยังไงล่ะครับ
จากประสบการณ์ทำงานที่ผมเจอมา มักจะพบว่าผู้บริหารที่มีพนักงานขับรถยนต์ประจำตำแหน่งนั้น มักจะต้องมีการให้พนักงานขับรถยนต์ทำโอที เช่น การไปรับนายที่บ้านแล้วขับรถพามาที่ทำงาน และเมื่อเลิกงานก็ขับรถพานายกลับมาส่งบ้าน
แต่คราวนี้ผู้บริหารหลาย ๆ ท่านก็อาจจะยังไม่ได้กลับบ้านทันทีในตอนเย็นน่ะสิครับ !
เพราะอะไรหรือครับ ?
ก็เพราะผู้บริหารท่านอาจจะมีภารกิจนัดหมายเจรจาธุรกิจกับลูกค้านอกเวลางาน หรือ Entertain ลูกค้าในวันหยุดเช่นการนัดกันไปตีกอล์ฟที่ต่างจังหวัดเพื่อเจรจาธุรกิจ ฯลฯ ซึ่งนี่จึงเป็นสาเหตุของการที่ต้องให้พนักงานขับรถยนต์ทำโอทีนั่นเองครับ
แต่คราวนี้หากจะจ่ายค่าโอทีก็อาจจะทำให้ต้นทุนของบริษัทสูง จึงมีบางบริษัทหันไปกำหนดเป็น “ค่าเบี้ยเลี้ยง” ให้กับคนขับรถแทนโอทีที่จะต้องจ่ายให้ตามกฎหมาย เพื่อลดต้นทุนลงน่ะสิครับ
โดยเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวมักจะเป็นการจ่ายแบบเหมากันไปเป็นรายเดือนเช่น เดือนละ 1,000 หรือ 2,000 บาท (แล้วแต่บริษัทจะกำหนดตัวเลขขึ้นมา)
และหลายบริษัทก็ยังทำสัญญาในการรับค่าเบี้ยเลี้ยงโดยให้พนักงานขับรถเซ็นสัญญาว่าจะไม่ติดใจรับค่าโอที โดยจะรับเป็นเบี้ยเลี้ยงแบบเหมาแทน
ท่านลองดูกรณีศึกษาข้างล่างนี้สิครับ
อุทัยเป็นพนักงานขับรถประจำตำแหน่งของนายญี่ปุ่น โดยในตอนเช้าเวลา 6.30 น.ต้องขับรถไปรับนายญี่ปุ่นมาทำงานที่บริษัท และในช่วงเย็นก็รับนายจากบริษัทกลับไปบ้าน (เวลาทำงานปกติของบริษัทคือ 8.00-17.00 น.) กว่าจะถึงบ้านนายเวลาประมาณ 18.00 น.
อุทัยทำสัญญาไว้กับทางบริษัทว่า การขับรถรับส่งผู้จัดการกลับบ้านไม่ถือเป็นเวลาทำงาน โดยจะถือเป็นการเดินทางมาทำงานและเดินทางกลับบ้านตามปกติของตนเอง ซึ่งอุทัยก็ลงนามในสัญญาดังกล่าวไว้เป็นหลักฐาน
วันหนึ่ง บริษัทเลิกจ้างอุทัยเพราะเหตุดื่มสุราในระหว่างเวลาทำงาน อุทัยจึงไปฟ้องศาลแรงงานเพื่อเรียกค่าชดเชย และเรียกค่าล่วงเวลาที่ได้ทำงานมาแล้ว 2 ปีอีกด้วย
กรณีดังกล่าวข้างต้น ท่านคิดว่าท่านจะต้องจ่ายค่าโอทีย้อนหลังตามที่อุทัยฟ้องหรือไม่ครับ ?
หลายท่านอาจจะบอกว่า “ไม่ต้องจ่าย เพราะทำสัญญาเอาไว้แล้วนี่ แถมอุทัยก็เซ็นสัญญาเป็นหลักฐานเอาไว้อีกด้วย ดังนั้นจึงไม่ต้องจ่ายชัวร์ ๆ”
ท่านลองดูคำพิพากษาของศาลแรงงานในคดีนี้สิครับ
ศาลแรงงานกลาง พิพากษายกฟ้องนายอุทัย
นายอุทัย อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
โจทก์เป็นพนักงานขับรถของจำเลย มีเวลาการทำงานแน่นอนตั้งแต่ 8.00-17.00 น. ระยะเวลาที่นอกจากเวลาปกตินี้ถือว่าเป็นการทำงานล่วงเวลา โจทก์มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
“การที่นายจ้างทำสัญญางดเว้นไม่จ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้างตามกฎหมายดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงมีสิทธิได้ค่าล่วงเวลา” (ฎ.1390/2537)
ดังนั้น ข้อคิดจากคดีนี้จึงน่าจะทำให้บริษัทที่คิดว่าการทำสัญญาที่พนักงานเซ็นยินยอมหรือรับทราบไว้ในสัญญาแล้วจะทำให้สัญญานั้นมีผลใช้บังคับ เป็นความเชื่อที่ผิดนะครับ
เพราะอะไรหรือครับ..ก็เพราะหากสัญญาใด ๆ ก็ตามที่ผิดเจตนารมย์ของกฎหมายแรงงานแล้ว สัญญานั้นมีโอกาสจะเป็นโมฆะน่ะสิครับ
จึงอยากจะฝากไว้เป็นข้อคิดสำหรับท่านในการทบทวนว่า วันนี้ในบริษัทของท่านยังมีสัญญาใดที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายแรงงานอยู่หรือไม่ เพราะหากสัญญาเหล่านี้ขึ้นศาลบริษัทของท่านก็มีความเสี่ยงที่จะแพ้คดีได้ง่าย ๆ เลยนะครับ
........................................
ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์081-846-2525