วันศุกร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2567

ให้พนักงานทำโอทีจนเป็นรายได้ประจำดีหรือไม่?

             เมื่อพูดถึงคำว่า “ค่าล่วงเวลา” เราก็มักจะเรียกกันว่า “โอที” หรือ “ค่าโอ” ซึ่งในทางกฎหมายแรงงานหมายถึงการทำงานล่วงเวลาและการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด แต่เรา ๆ ท่าน ๆ ก็มักจะเรียกรวมเอาเรื่องของค่าทำงานในวันหยุดรวมเข้าไปในความหมายของโอทีด้วย

            ในบางองค์กรมีนโยบายเพิ่มรายได้ให้พนักงานด้วยการกำหนดให้พนักงานทำโอทีเพื่อพนักงานจะได้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นจะได้จูงใจให้พนักงานอยากทำงานอยู่กับบริษัท

            ผมมักจะพบว่าบริษัทที่มีนโยบายทำนองนี้มักจะมีการจ่ายเงินเดือนไม่สูงนักค่อนข้างจะต่ำกว่าที่ตลาดเขาจ่ายกัน แต่จะจูงใจให้คนทำงานโอทีให้มากขึ้นเพื่อจะได้ทำให้รายได้สูงขึ้น

            หรือไม่ก็แทนที่จะต้องเพิ่มอัตรากำลังให้เหมาะกับโหลดของงาน แต่ผู้บริหารคิดว่าขืนจ้างคนเพิ่มจะทำให้ต้นทุนต่าง ๆ เพิ่มขึ้นตามไปด้วยแถมถ้าจำเป็นจะต้องลดคนลงในอนาคตก็จะต้องมีค่าชดเชยและอื่น ๆ ตามมาอีก

ก็เลยให้คนที่รับผิดชอบงานนั้นอยู่ทำโอทีก็แล้วกัน จะได้เซฟต้นทุนการจ้างคนเพิ่มแถมคนที่ทำงานอยู่ก็ชอบเพราะมีรายได้เพิ่มขึ้น

            เช่น บริษัทเปิดทำการสัปดาห์ละ 6 วัน หยุดหนึ่งวัน มีชั่วโมงทำงานวันละ 8 ชั่วโมง แต่เนื่องจากบริษัทจ่ายเงินเดือนให้พนักงานไม่มากนัก จึงส่งเสริมให้พนักงานทำงานล่วงเวลาเพิ่มวันละ 4 ชั่วโมง แล้วก็คิดค่าทำงานล่วงเวลาให้ตามกฎหมายแรงงาน (1.5 เท่าสำหรับการทำงานล่วงเวลาในวันทำงานปกติ)

            สรุปว่าเป็นที่รู้กันทั้งพนักงานและบริษัทว่าพนักงานทุกคนต้องทำงานวันละ 12 ชั่วโมง

          ถ้าจะถามว่าบริษัทสามารถทำได้ไหม?

            ก็ตอบได้ว่าทำได้ครับ ตราบใดที่ชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาไม่เกิน 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ก็ยังไม่ผิดกฎหมายแรงงาน (ทำงานล่วงเวลา 4 ชั่วโมงต่อวัน สัปดาห์ละ 6 วัน รวมเป็น 24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์)

            แต่ลองกลับมาดูความเป็นจริงกันสักนิด

          สมมุติว่าพนักงานเข้างาน 8.00-17.00 น.ต้องทำโอทีต่ออีก 4 ชั่วโมงก็จะเลิกงาน 3 ทุ่ม ถ้าบริษัทให้ทำโอทีเต็มแม็กคือ 6 ชั่วโมงก็จะเลิกงาน 5 ทุ่ม และต้องทำงานอย่างนี้ทุกวัน ทุกเดือน และตลอดปี?!?

            แล้วคุณภาพชีวิตของพนักงานจะอยู่ที่ไหน?

            แม้ว่าจะมีวันหยุดให้สัปดาห์ละ 1 วันก็ตาม แต่มนุษย์นั้นมีร่างกายมีเลือดเนื้อนะครับ ไม่ได้เป็นคนเหล็กมาจากไหน เขาจะอดทนทำงานแบบนี้ไปได้เท่าไหร่ สุขภาพก็จะเสื่อมลงตามอายุที่เพิ่มมากขึ้นไปเรื่อย ๆ เพราะไม่มีเวลาที่จะดูแลสุขภาพตัวเอง แม้สิ่งที่ได้รับกลับมาเป็นเงินค่าโอทีที่เขาต้องนำมาจุนเจือเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว ก็จะทำได้ในช่วงที่อายุยังไม่มากนักและยังมีเรี่ยวแรงที่จะอึดอดทน

            และถ้าอายุมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ล่ะ เขาจะยังทำไหวไหม?

            เงิน....ใคร ๆ ก็อยากได้ครับ แต่นายจ้างที่ดีก็ไม่ควรจะใช้เงินเข้ามาล่อลูกจ้างโดยไม่คำนึงถึงผลระยะยาวเกี่ยวกับสุขภาพ คุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ หรือครอบครัวของลูกจ้างว่าจะเป็นอย่างไร

            ผมเคยต่อว่าหัวหน้างานที่สั่งให้ลูกน้องทำโอทีแบบหามรุ่งหามค่ำเป็นชั่วโมงทำงานที่ติดต่อกัน (นับรวมชั่วโมงทำงานปกติรวมกับชั่วโมงที่ทำโอที) 2-3 วัน โดยอ้างว่างานเร่ง ลูกค้าต้องการด่วน

ตัวลูกน้องเองก็อยากได้โอทีและคิดว่าตัวเองอายุยังน้อยยังสู้ไหวก็ทำงานติดต่อกันแบบไม่หลับไม่นอน 2-3 วัน จนที่สุดเมื่องานส่งมอบให้ลูกค้า ลูกน้องขี่มอเตอร์ไซค์กลับบ้านระหว่างทางก็ไปเสยท้ายรถบรรทุกที่จอดข้างทางเพราะหลับใน ดีนะครับที่ไม่ถึงกับเสียชีวิต

            อย่าลืมว่าคนเราไม่ได้มีชีวิตแต่ที่ทำงานเพียงด้านเดียวนะครับ พนักงานในบริษัทของท่านยังมีคนที่เขารัก และรักเขารอคอยอยู่ที่บ้านด้วยเหมือนกัน

ถ้าผู้บังคับบัญชาคิดแต่จะเร่งงานจนลืมคิดถึงความอ่อนล้าของคน หรือไม่คำนึงถึงสวัสดิภาพความปลอดภัยของลูกน้อง คิดแต่เพียงง่าย ๆ ว่าขอให้งานเสร็จ งานเสร็จบริษัทก็พร้อมจ่ายค่าโอทีให้ พนักงานก็แฮ๊ปปี้เพราะมีรายได้เพิ่ม

            คิดอย่างนี้ไม่เห็นแก่ตัวเกินไปหรือครับ?

            เพราะคนเราต้องสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัว (และครอบครัว) ให้ดีด้วยเช่นเดียวกัน

            แม้ลูกน้องอยากจะมีรายได้เพิ่มจากการทำโอที แต่คนที่เป็นหัวหน้าเป็นผู้บริหารก็ควรจะต้องมีดุลยพินิจและมีสามัญสำนึกที่เหมาะสมด้วยถึงจะเป็นผู้นำที่ดีได้ครับ

            จากที่เล่ามาทั้งหมดนี้ก็อยากจะให้เป็นข้อคิดอีกเรื่องหนึ่งว่า ปัจจุบันองค์กรของท่านมีการจ่ายค่าตอบแทนที่เหมาะสมดีแล้วหรือยังเมื่อเทียบกับตลาดแข่งขัน

องค์กรของท่านจ่ายเงินเดือน/ค่าตอบแทนน้อยเกินไปจนกระทั่งพนักงานต้องมาหวังพึ่งพารายได้จากโอทีจนทำให้คุณภาพชีวิตของเขาแย่ลงไปหรือไม่!

            และในอนาคตองค์กรของท่านจะมีแต่พนักงานโหมงานจนสุขภาพย่ำแย่จนทำให้เกิดปัญหาเจ็บไข้ได้ป่วยเรื้อรังเพราะทำแต่งานจนไม่มีเวลาดูแลสุขภาพของตัวเอง

หรือพนักงานมีปัญหาครอบครัวเพราะมัวแต่บ้างานแล้วในที่สุดจากปัญหาครอบครัวก็จะลามมาถึงที่ทำงาน เช่น พนักงานเครียดเพราะมีปัญหาทะเลาะกับแฟน มีปัญหาลูกขาดความอบอุ่นติดเกมติดยา ฯลฯ

อย่างนั้นหรือครับ ?

...........................

วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2567

วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2567

หัวหน้ากับปัญหาความคิดแบบเหมารวม

             เราคงเคยได้ยินข่าวหัวหน้าที่ไม่อนุญาตให้ลูกน้องไปเฝ้าคุณแม่ที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย แถมเมื่อคุณแม่ของลูกน้องเสียชีวิตก็ยังไม่อนุญาตให้ลูกน้องไปจัดการงานศพอีกต่างหาก

            หรืออีกข่าวหนึ่งที่ลูกน้องป่วยมากก็ยังไม่อนุญาตให้ลาป่วยจนกระทั่งลูกน้องเสียชีวิต

            วันนี้ผมคงไม่พูดเรื่องหัวจิตหัวใจของหัวหน้าประเภทนี้นะครับ แต่อยากจะชวนคุยชวนวิเคราะห์วิธีคิดแบบเหมารวมของหัวหน้าประเภทนี้ที่ผมเคยเจอมาเพื่อจะได้เป็นข้อคิดเตือนใจลดดราม่าเรื่องแบบนี้กันจะดีกว่า

          ความคิดแบบเหมารวมคืออะไร?

            คือการเอาเรื่องแต่ละเรื่องมาผสมปนเปกันแบบไม่แยกแยะแล้วก็สรุปตัดสินใจแบบเหมารวมไปทันที

            เช่น สมมุติว่าหัวหน้ามีลูกน้องที่มาสายบ่อย ลาป่วยทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ป่วยจริง ชอบขาดงานหายไปโดยไม่แจ้ง ก็จะคิดแบบรวบยอดเหมารวมว่าลูกน้องคนนี้ไม่สนใจไม่รับผิดชอบงานที่ทำ ยิ่งนานวันอคติของหัวหน้ากับลูกน้องคนนี้จะมากขึ้นเรื่อย ๆ

            จนวันหนึ่งลูกน้องคนนี้มาขออนุญาตลากิจไปจัดงานศพให้คุณแม่ซึ่งเสียชีวิต

            หัวหน้าประเภทนี้ก็จะเอาเรื่องพฤติกรรมที่ไม่ดีของลูกน้องที่ผ่านมา มาเหมารวมกับความจำเป็นของลูกน้องที่จะต้องไปจัดการงานศพของคุณแม่

            แล้วก็ตัดสินใจไม่อนุญาตให้ลูกน้องลากิจไปจัดงานศพคุณแม่!!

          นี่คือปัญหาของการคิดแบบเหมารวมไม่แยกแยะของคนที่เป็นหัวหน้า (บางคน) ประเภทนี้ครับ

            ถ้าหัวหน้าคิดแบบแยกส่วนปัญหาทำนองนี้ก็จะลดลง

            กรณีที่ลูกน้องมีพฤติกรรมเกเร ไม่รับผิดชอบงาน มาสายเป็นนิจ ลากิจเป็นประจำ งานหลักไม่ทำ งานประจำคือด่าบริษัท ฯลฯ

            หัวหน้าก็ควรดำเนินการทางวินัยตามข้อบังคับการทำงานไปได้เลย ตั้งแต่การตักเตือนด้วยวาจา การตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร การขึ้นเงินเดือนประจำปีหรือจ่ายโบนัสที่ลดลงหรือไม่ให้เลย

            ไปจนถึงถ้าผิดซ้ำคำเตือนเช่นกรณีละทิ้งหน้าที่ไม่มีเหตุผลอันสมควรและถูกหนังสือตักเตือนเป็นครั้งสุดท้ายแล้วว่าห้ามขาดงานแบบนี้อีกนะ ถ้างานขาดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรแบบนี้อีกจะถูกเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้น

            แล้วก็ว่ากันไปตามการดำเนินการทางวินัย

            ส่วนกรณีที่เป็นความจำเป็นของลูกน้องที่จะขอลากิจเพื่อไปจัดการงานศพของคุณแม่ อันนี้หัวหน้าก็ต้องอนุญาตให้เขาไปนะครับ

            หัวหน้าจะไปเอาเรื่องพฤติกรรมไม่ดีของลูกน้องอื่น ๆ มาเหมารวมกับเรื่องนี้ไม่ได้!!

            ถ้าคิดแยกแยะได้แบบนี้ปัญหาดราม่าระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องจะน้อยลงครับ

……………………

วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2567

No work no pay กับ Leave without pay เหมือนหรือต่างกันยังไงหยุดได้กี่วัน?

             คำถามมีอยู่ว่าพนักงานใช้วันลาพักร้อน (ที่ถูกต้องคือ “วันหยุดพักผ่อนประจำปี” นะครับไม่ใช่วันลา) หมดแล้วแต่มีธุระจำเป็นแต่อยากจะขอลาแบบ No work no pay จะทำได้ไหม ถ้าทำได้กฎหมายแรงงานให้ได้กี่วัน

            ก็เลยเอาเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังอย่างนี้ครับ

1.      บริษัทควรเขียนข้อบังคับการทำงานในเรื่องการลากิจให้ชัดเจนและแจ้งให้พนักงานทราบกติกาเงื่อนไขการลากิจให้เข้าใจตรงกันอย่างนี้ครับ

1.1   พนักงานมีสิทธิลากิจได้ปีละกี่วัน (ตามกฎหมายแรงงานต้องไม่น้อยกว่าปีละ 3 วัน แต่ถ้าบริษัทให้ลากิจมากกว่านี้ก็ได้เพราะเป็นคุณกับพนักงานมากกว่าที่กฎหมายกำหนด)

1.2   ระบุให้ชัดเจนว่าการลากิจนี้จะต้องเป็นการลาเพื่อไปทำกิจธุระที่จำเป็นต้องไปทำด้วยตัวเองไม่สามารถมอบหมายให้ใครไปทำแทนได้ เช่น การลากิจเพื่อไปรับปริญญา, ลากิจเพื่อบวชทดแทนคุณบิดามารดา, ลากิจเพื่อไปแต่งงาน, ลากิจเพื่อดูแลบุพการีคู่สมรสหรือบุตรที่เจ็บป่วย, ลากิจเพื่อไปจัดการงานศพบุพการี ฯลฯ

1.3   บริษัทจะไม่อนุญาตการลากิจที่ไม่เป็นไปตามข้อ 1.2 เช่น การลากิจเพื่อไปเที่ยว

1.4   การลากิจจะต้องลาล่วงหน้าอย่างน้อย....วัน และต้องได้รับการอนุมัติเสียก่อนถึงจะหยุดได้

2.      ถ้าหากพนักงานไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับการทำงานเรื่องลากิจตามข้อ 1 บริษัทจะถือว่าพนักงานละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร จะต้องถูกดำเนินการทางวินัยถูกตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรตามระเบียบการดำเนินการทางวินัย และบริษัทจะไม่จ่ายค่าจ้าง/เงินเดือนในวันที่พนักงานละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรนั้นหรือ No work no pay

3.      กรณีพนักงานใช้สิทธิลากิจจนหมดแล้วแต่มีความจำเป็นต้องไปทำธุระที่จำเป็นที่ไม่สามารถมอบหมายให้ใครไปทำแทนได้ ให้พนักงานยื่นขออนุญาตลากิจกับผู้บังคับบัญชาล่วงหน้าอย่างน้อย......วัน และต้องได้รับการอนุมัติเสียก่อนถึงจะหยุดได้ โดยผู้บังคับบัญชาจะพิจารณาตามเหตุผลและความจำเป็นเป็นครั้ง ๆ ไป โดยบริษัทจะถือว่าเป็นการลากิจโดยไม่รับค่าจ้าง/เงินเดือนหรือ Leave without pay

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ก็เชื่อว่าท่านจะเห็นความเหมือนและแตกต่างกันระหว่าง No work no pay กับ Leave without pay พร้อมทั้งคำตอบว่าควรจะให้หยุดได้กี่วันแล้วนะครับ

อ่านจบแล้วก็อย่าลืมกลับไปทบทวนระเบียบข้อบังคับการลากิจของบริษัทท่านดูว่าเขียนไว้ครบถ้วนดีแล้วหรือยังจะได้ลดปัญหาที่เล่ามาให้ฟังนี้ลงครับ

...........................

วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2567

หัวหน้างานกับ EQ

             EQ (Emotional Quotient) แปลง่าย ๆ ว่าการควบคุมอารมณ์

            เรื่องนี้เป็นเรื่องแรก ๆ ที่ต้องคุยกันในเรื่องของการเป็นหัวหน้างานหรือการเป็นผู้นำคน เพราะเรามักจะพบเจอหัวหน้างานที่เก่งงาน มีความรอบรู้เข้าใจงาน มีฝีมือ มีความสามารถ

          แต่มีปัญหาในเรื่องของการควบคุมอารมณ์!!

            หรือพูดง่าย ๆ ว่าหัวหน้างานที่มีปัญหาด้าน EQ ที่ไม่ดีก็จะทำให้ลูกน้องเอือมระอา ไม่กล้าเข้าใกล้ เพราะไม่รู้ว่าวันนี้พี่เขาจะมาอารมณ์ไหน จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ฟ้าร้องฟ้าผ่าลงมาที่เราหรือเปล่า

            ตอนพี่เขาอารมณ์ดีก็ดีใจหาย บทจะอารมณ์ร้ายของขึ้นก็เหมือนกับมารเข้าสิง เลยดูเหมือนกึ่งเทพกึ่งมารยังไงก็ไม่รู้

            อย่างงี้ลูกน้องก็จะทำงานกับหัวหน้าด้วยความรู้สึกเหมือนดูหนังสยองขวัญสั่นประสาทอยู่ทุกวันนั่นแหละครับ เพราะไม่รู้ว่าวันไหน เวลาไหนจะองค์ลงทำให้เขย่าขวัญสั่นประสาทต้องหวาดระแวงอยู่เป็นระยะ

            บางท่านอ่านมาถึงตรงนี้อาจจะถามผมในใจว่า “มีด้วยเหรอหัวหน้าที่เป็นอย่างที่ผมบอกมาเนี่ยะ?

            ถ้าท่านมีคำถามอย่างนี้ ผมก็ขอแสดงความยินดีด้วยว่าท่านคงทำบุญมาดี ก็เลยได้เจอแต่สิ่งที่ดี ๆ มาโดยตลอด แล้วก็ได้พบแต่หัวหน้าที่ดี ๆ มาโดยตลอด

          แต่ผมเชื่อว่ามีคนอีกไม่น้อยจะบอกว่าที่ผมเล่าเรื่อง EQ ของหัวหน้างานที่มีปัญหาเนี่ยะ ยังน้อยไป ยังมีแย่กว่านี้ได้อีกเยอะ

            การเป็นหัวหน้างานที่มี EQ ที่ดี ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นหัวหน้างานที่คอยตามใจลูกน้องจนไม่กล้าว่ากล่าวตักเตือนลูกน้องที่พฤติกรรมมีปัญหา

            เพราะลูกน้องที่ดีไม่ได้มีปัญหาที่เป็นคนส่วนใหญ่เขาก็จะมองหัวหน้างานด้วยสายตาไม่เชื่อมั่นไปศรัทธา และเอาไปบอกต่อ ๆ กันเป็นทำนองว่าหัวหน้าแหย..ไม่กล้าจัดการลูกน้องที่ทำผิดกฎระเบียบของบริษัท

            ดังนั้น หัวหน้างานที่มี EQ ที่ดีถึงไม่ใช่หัวหน้าประเภทที่ตามใจลูกน้องไปทุกเรื่องทั้ง ๆ ที่ลูกน้องทำไม่ถูกต้อง

          ถ้าอย่างงั้นหัวหน้างานที่มี EQ ที่ดีควรเป็นยังไงล่ะ ?

สรุปอย่างนี้ครับ

1.      เข้าใจอารมณ์ของตัวเองและคนอื่นอยู่เสมอ

2.      ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดี

3.      มีความละเอียดอ่อนและไวต่อความรู้สึกนึกคิดของคนอื่น

4.      สามารถปรับตัวให้พร้อมรับกับทุกปัญหาได้อย่างมีสติแก้ปัญหาด้วยเหตุผลตามข้อเท็จจริง

5.      เข้ากับคนได้ง่ายคนรอบข้างยอมรับว่าเราเป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี

ผมเคยเจอหัวหน้าบางคนชอบพูดอวดตัวเองกับคนอื่นในงานเลี้ยง, ในการประชุม หรือในการทำงานว่า “ผมเป็นคนมนุษยสัมพันธ์ดีมีแต่คนอยากเข้ามาคุยกับผม....ฯลฯ”  

เมื่อได้ยินแล้วผมก็ได้แต่ยิ้ม ๆ เพราะเรื่องอย่างนี้ต้องให้คนอื่นเขาพูดถึงเรามันถึงจะน่ายอมรับมากกว่าจริงไหมครับ

ทำนองเดียวกับคนที่ชอบพูดอวดตัวเองว่าเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต หรือคุยอวดตัวเองว่าเป็นคนกล้าตัดสินใจนั่นแหละครับ ป่วยการที่จะไปพูดยกย่องตัวเองซึ่งจะทำให้คนฟังเขารู้สึกไม่เชื่อถืออีกต่างหาก

เพราะถ้าคน ๆ นั้นมีความซื่อสัตย์สุจริตหรือมีความกล้าตัดสินใจจริง เขาก็จะมีพฤติกรรมที่แสดงออกมาจากตัวตนของเขาจนมีผลเป็นที่กล่าวขวัญและยอมรับจากคนรอบข้าง จนกระทั่งคนรอบข้างจะนำไปพูดต่อ ๆ กันไปเองแหละครับ

ลองสังเกตตัวเองดูง่าย ๆ ก็ได้ว่าวันนี้ท่านมีเพื่อนฝูง ลูกน้อง คนรอบข้าง กล้าเข้ามาหา เข้ามาพูดคุยกับท่านอย่างเป็นธรรมชาติมากน้อยแค่ไหน

เช่น เวลากินข้าวกลางวัน เมื่อท่านเดินถือจานข้าวเดินไปนั่งโต๊ะที่ลูกน้องกำลังนั่งล้อมวงกินข้าวพูดคุยกันอย่างสนุกสนานร่าเริง

เมื่อท่านไปนั่งร่วมวงด้วยแล้วเขามีพฤติกรรมยังไง ?

เขายังพูดคุยกันเฮฮาร่าเริงเหมือนเมื่อตะกี้ หรือเขาทักทายท่านเพียงแค่เป็นพิธีแล้วแต่ละคนก็รีบ ๆ กินแล้วรีบ ๆ สลายตัวไปเหลือแค่คนสองคนนั่งกับท่าน เผลอ ๆ อาจจะสลายตัวกันหมดไม่เหลือใครนั่งด้วยเลยก็มี

หัวหน้าประเภทนี้แหละที่ลูกน้องชอบแอบเม้าท์กันว่าเป็น “ตัวสลายม็อบ” ครับ

ใคร ๆ ก็ไม่อยากจะอยู่ใกล้....

อย่างงี้แหละครับที่เป็นดัชนีชี้วัดมนุษยสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องแบบง่าย ๆ ว่าเป็นยังไง

ถ้าใครเป็นหัวหน้าที่พอเข้าหาลูกน้องแล้วพบว่าลูกน้องมีปฏิกิริยาอย่างที่เล่ามาข้างต้นนี่ล่ะก็ผมว่าคงจะต้องหันกลับมาทบทวนเรื่อง EQ ในเชิงมนุษยสัมพันธ์กับลูกน้องว่ามีปัญหาในจุดไหน และควรจะต้องเริ่มหาทางแก้ไขแล้วนะครับ

            เพราะโดยปกติแล้วหัวหน้ามักจะเก่งในเรื่องงานมีความรู้ทักษะในงานที่ดีอยู่แล้วผู้บริหารองค์กรเขาถึงได้ไว้วางใจเลื่อนตำแหน่งแต่งตั้งขึ้นมาเป็นหัวหน้า

            แต่ตัวที่จะเสริมให้หัวหน้าที่เก่งงานอยู่แล้วให้สามารถทำงานร่วมกับลูกน้องได้อย่างราบรื่นและนำทีมงานไปสู่เป้าหมายความสำเร็จได้คือ EQ ครับ

             เพราะไม่ว่าใครก็อยากทำงานกับคนที่มี EQ ที่ดีกันทั้งนั้นจริงไหมครับ ?

.......................

วันอังคารที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2567

ถ้ายังคงเป้าหมายเดิมวันละ 600 บาทในปี 2570 ค่าจ้างขั้นต่ำจะไปทางไหนจะรับมือยังไงดี

 มาตามที่เคยบอกกล่าวกันไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว


“ถ้ายังคงเป้าหมายเดิมวันละ 600 บาทในปี 2570 ค่าจ้างขั้นต่ำจะไปทางไหนจะรับมือยังไงดี“


มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกันในวันเสาร์ที่ 19 ตค.67 เวลาดีหนึ่งทุ่มถึงสามทุ่มทางออนไลน์ผ่านซูมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย จะอยู่ที่ไหนแต่งตัวยังไงก็คุยกันได้


งานนี้ผมเตรียมข้อมูลและแนวคิดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังหลายเรื่องเลยครับ


ขอขอบคุณสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่นโดยท่านอธิการบดี รศ.รังสรรค์ เลิศในสัตย์ ที่เห็นความสำคัญในงานด้านทรัพยากรบุคคลซึ่งทางสถาบันฯเป็นผู้สนับสนุนหลักให้เปิดเวทีนี้ขึ้นมา


ผู้สนใจสแกน QR Code เพื่อลงทะเบียนตาม Brochure ข้างล่างนี้ หรือจะส่ง Brochure นี้ต่อ ๆ กันไปให้ผู้สนใจลงทะเบียนเข้ามาฟังกันได้เลย


แล้วพบกันครับ




วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2567

ดาวน์โหลดหนังสือด้าน HR แจกฟรี

             เนื่องจากยังมีคำถามมาที่ผมอยู่เป็นระยะเพื่อขอซื้อหนังสือที่ผมเคยเขียนมานานแล้วและทางสำนักพิมพ์ก็ไม่ได้พิมพ์เป็นเล่มแล้ว แต่เนื่องจากผมเป็นคนเขียนไม่ใช่สำนักพิมพ์จึงไม่มีขาย ผมก็เลยนำเอาหนังสือเหล่านั้นมาปรับปรุงเนื้อหาให้ทันสมัยและเข้าใจง่ายมากขึ้น (เนื้อหาในหนังสือที่แจกฟรี Update มากกว่าที่เคยพิมพ์เป็นเล่ม) แล้วเอามาแจกฟรีในบล็อกของผมคือ http://tamrongsakk.blogspot.com

            หรือถ้าใครอ่านพบในเฟซบุ๊คของผมก็ให้ดาวน์โหลดเล่มที่ต้องการได้ตามนี้

1. Download หนังสือ "การประเมินค่างานและการทำโครงสร้างเงินเดือน (ภาคปฏิบัติ)"

https://www.dropbox.com/s/uho10vpz55vt5xu/JE%26SS_Free.pdf?dl=0

2. ดาวน์โหลด Micro Pocket Book "25 คำถามเกี่ยวกับโครงสร้างเงินเดือนจากประสบการณ์"

 https://www.dropbox.com/s/cc8to40p10ojyat/25%20%20Q%26A_SS.pdf?dl=0


3. ดาวน์โหลดหนังสือ “ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างเงินเดือนแบบง่าย ๆ”

https://www.dropbox.com/s/xaks9yls6nyw7nk/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%87%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%20%E0%B9%86.pdf?dl=0

4. Download หนังสือ “การบริหารความเสี่ยงด้าน HR”

https://www.dropbox.com/s/5rlqkq5yjcfblt3/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%20HR_%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B8%AD.pdf?dl=0

5. Download หนังสือ “หัวหน้างานกับการบริหารลูกน้อง HR for NON HR”

https://www.dropbox.com/s/shwz3usn4wbs4l4/%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87.pdf?dl=0

6. Download หนังสือ "จัดการฝึกอบรมให้มีประสิทธิผลอย่าง Training Officer มืออาชีพ"

https://www.dropbox.com/s/urvq70samjd3tfr/TO_Free.pdf?dl=0

7. ดาวน์โหลดหนังสือ "เรียนรู้โหราศาสตร์ไทยมาใช้ในงาน HR - ภาคปฏิบัติ"

https://www.dropbox.com/s/oe537r47y4yk8g6/HR_Horasad.pdf?dl=0

8. ดาวน์โหลดหนังสือ "คู่มือการเป็นวิทยากร" หรือ Train the trainer

https://www.dropbox.com/s/52as4h4fvo57k8b/TrainTheTrainer.pdf?dl=0

9. ดาวน์โหลดหนังสือ “การทำ Training & Development Roadmap ตามแผนงานขององค์กร (ภาคปฏิบัติ)”

https://www.dropbox.com/s/0rq5x9ukx0zatqm/TRM_By%20Strategic%20Plan.pdf?dl=0

10. ดาวน์โหลดหนังสือ "สนุกไปกับพฤติกรรมคนด้วยจิตวิทยาและเทวดากรีก"

https://www.dropbox.com/s/i4ceoesgslzi6ac/%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9E%E0%B8%A4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%99Free.pdf?dl=0

11. ดาวน์โหลดหนังสือ “กระตุกต่อมคิดชีวิตคนทำงาน”

https://www.dropbox.com/s/xlfhf6uf9277luj/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99.pdf?dl=0

12. ดาวน์โหลดไฟล์ "รู้เขา..รู้เราด้วย D I S C"

https://www.dropbox.com/s/3287l1mnva2jeq8/%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%20D%20I%20S%20C%20%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%A1%205%20%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%99.pdf?dl=0

13. ดาวน์โหลดไฟล์ “ทำไม Functional Competency ถึงไม่เวิร์ค”

https://www.dropbox.com/s/xy4thcslhifo5qh/%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1%20Functional%20Competency%20%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%84-%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%991%2B2%2B3.pdf?dl=0

14. ดาวน์โหลดหนังสือ “คุยเฟื่องเรื่องค่าตอบแทน”

https://www.dropbox.com/s/i8xmaozgs8zhwrw/%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%9F%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B9%81%E0%B8%97%E0%B8%99.pdf?dl=0

15. ดาวน์โหลดหนังสือ “เสริมทักษะหัวหน้างานยุคใหม่”

https://www.dropbox.com/s/8rhbfz8g7vf0crd/%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%84%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88.pdf?dl=0

16. ดาวน์โหลดไฟล์ “อคติกับพฤติกรรมคน”

https://www.dropbox.com/s/ziy5ms95g7yac0h/%E0%B8%AD%E0%B8%84%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9E%E0%B8%A4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%99.pdf?dl=0

17. รวมเรื่องนักคิดจิตวิทยาและการจัดการ

https://www.dropbox.com/s/vlsvrrcvx9ixohc/%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3.pdf?dl=0

18. Micro Pocket Book “25 คำถามเกี่ยวกับโครงสร้างเงินเดือนจากประสบการณ์

https://www.dropbox.com/s/g797sxbkp1chkgo/25%20%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99.pdf?dl=0

19. Check list ปัญหาค่าตอบแทน

https://www.dropbox.com/s/tbkd1i8js9hrfbh/Check%20List%20%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B9%81%E0%B8%97%E0%B8%99.pdf?dl=0

20. หนังสือ “เขาว่า..ที่ทำให้เกิดปัญหาในการบริหารคน”

https://www.dropbox.com/s/5l56ygqzmzu78i2/%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B8%AD_%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%99.pdf?dl=0

21.หนังสือ “ถาม-ตอบปัญหาค่าจ้างเงินเดือนจากหน้างาน”

https://www.dropbox.com/scl/fi/7tcldqpsqqfjtywaxye0e/.pdf?rlkey=vo26my5vwpyud811wkg84968k&dl=0

22. บทความ “คุยเฟื่องเรื่องการประเมินผลการปฏิบัติงาน_Mar 2024

https://www.dropbox.com/scl/fi/eulilaxw4q5dii3mwefdj/_Mar-2024.pdf?rlkey=5htz95m3hrc5jxbcpcsv1ng1t&dl=0

....................................