การสิ้นสภาพการจ้างถ้าพูดง่าย ๆ ก็คล้าย ๆ กับการแยกทางของคู่สามีภรรยาแบบทางใครทางมัน หรือเหมือนงานเลี้ยงที่ต้องเลิกราแหละครับ
แล้วมีกี่แบบล่ะ?
ท่านว่ามีอยู่ 3
วิธีคือ
1.
เมื่อนายจ้างบอกเลิกจ้าง
หรือบริษัทเป็นผู้บอกเลิกจ้างพนักงานหรือลูกจ้าง
ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมากมายหลายหลากเช่น
-
บริษัทประสบวิกฤติขาดทุน, ขาดสภาพคล่องทางการเงินต้องปิดกิจการ
-
พนักงานปฏิบัติงานไม่ดีไม่เป็นที่พอใจตามที่บริษัทต้องการ
ทำงานไม่ได้ตาม KPIs
-
พนักงานมีปัญหาโรคภัยไข้เจ็บร้ายแรงจนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ
- การเกษียณอายุตามระเบียบของบริษัท
-พนักงานทุจริตลักขโมยทรัพย์สินของบริษัท
-มาสายเป็นนิจลากิจเป็นประจำพฤติกรรมระรานเพื่อน ๆ ไม่รับผิดชอบการงาน
- ฯลฯ
เหตุผลดังที่ผมยกตัวอย่างมาข้างต้นนี่แหละครับที่มักจะเป็นสาเหตุที่นายจ้างหรือบริษัทเป็นผู้บอกเลิกจ้างพนักงานหรือลูกจ้างได้
สรุปง่าย ๆ
ว่าการสิ้นสุดของสัญญาจ้างเกิดจากทางฝ่ายของนายจ้างหรือบริษัทเป็นผู้บอกเลิกจ้างครับ
2.
เมื่อลูกจ้างบอกเลิกสัญญาจ้าง
ก็คือพนักงานยื่นใบลาออกแหละครับ
ส่วนสาเหตุของการบอกเลิกการจ้างจากทางฝั่งของลูกจ้างก็เช่น
- ได้งานใหม่
- ไปเรียนต่อ
- ไปประกอบอาชีพส่วนตัว
-หัวหน้าบ้าอำนาจมีวาจาเป็นอาวุธมีดาวพุธเป็นวินาศ
- ฯลฯ
ซึ่งเมื่อลูกจ้างเขียนใบลาออกและระบุวันที่มีผลลาออกวันไหน
ก็จะมีผลเมื่อนั้นทันที โดยไม่จำเป็นต้องให้ใครอนุมัติการลาออกแต่อย่างใด
แม้ว่าบางบริษัทอาจจะมีกฎระเบียบบอกไว้ว่าให้พนักงานยื่นใบลาออกล่วงหน้า
30 วัน และต้องให้ฝ่ายบริหารอนุมัติการลาออกเสียก่อนจึงจะลาออกได้ก็ตาม
แต่ถ้าจะว่ากันตามกฎหมายแรงงานแล้ว
จะถือวันที่ลูกจ้างระบุไว้ในใบลาออกเป็นสำคัญ
(แต่ลูกจ้างที่ดีควรจะเขียนใบลาออกวันนี้ให้มีผลวันพรุ่งนี้ไหมล่ะครับ
จากกันด้วยดีจะดีกว่าทำแบบนี้ไหมล่ะ ใจเขา-ใจเราครับ)
3.
เมื่อสัญญาจ้างครบกำหนดระยะเวลาตามเงื่อนไขในมาตรา
118 เช่น บริษัท BBB ทำสัญญาจ้างพนักงานเข้าทำงานตั้งแต่วันที่
1 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2567 เป็นระยะเวลา 1
ปี โดยมีลักษณะงานที่จ้างเป็นไปตามมาตรา118
เช่นไม่ใช่ธุรกิจปกติของนายจ้าง
เมื่อพนักงานทำงานไปจนถึงวันที่
31 สิงหาคม 2567 พอวันรุ่งขึ้น (1 กันยายน 2567) ก็ไม่ต้องมาทำงานกับบริษัทอีก
โดยที่บริษัทก็ไม่ต้องแจ้งเลิกจ้าง และนายสัมฤทธิ์ก็ไม่ต้องเขียนใบลาออก
เพราะการจ้างงานนี้จะสิ้นสุดไปโดยสัญญาจ้างที่ระบุระยะเวลาไว้ดังกล่าว
อย่างนี้ถือว่าการจ้างงานนี้สิ้นสุดลงด้วยสัญญาที่มีระยะเวลาที่ชัดเจนแน่นอนครับ!
แต่ปัญหาของการเลิกจ้างนั้นมักจะเกิดจากข้อ 1
เป็นหลักเสียมากกว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลิกจ้างแบบไม่มีเหตุผล
หรือไม่มีปีมีขลุ่ย
หรือไม่ได้มีการแจ้งให้พนักงานทราบล่วงหน้า
เรียกว่าวันร้ายคืนร้ายก็เรียกพนักงานมารับหนังสือเลิกจ้างแล้วให้เก็บของไปเลยแบบปุ๊บปั๊บรับเคราะห์
หรือเช้าวันรุ่งขึ้นพนักงานอาจจะมาทำงานตามปกติแต่พอมาถึงหน้าโรงงานก็พบประกาศ
“ปิดโรงงาน” อะไรทำนองนี้เสียมากกว่า
ซึ่งหากนายจ้างหรือบริษัททำแบบนี้ก็จะทำให้ลูกจ้างหรือพนักงาน “ช็อค”
ได้ง่าย ๆ จริงไหมครับ โธ่
ก็ไม่มีการบอกกล่าวให้รู้ตัวกันล่วงหน้าเพื่อทำจิตทำใจกันเลยจะให้เขายิ้มอยู่ได้ยังไงล่ะครับ
เพราะแต่ละคนก็มีภาระที่จะต้องส่งเสียเลี้ยงดู หรือมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ
กันทั้งนั้นนี่ครับ !
แล้วถ้านายจ้างเลิกจ้างพนักงานโดยที่พนักงานไม่มีความผิดล่ะ ?
ในกรณีที่นายจ้างหรือบริษัทเลิกจ้างพนักงานที่ไม่ได้กระทำความผิดนั้น
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานได้คุ้มครองลูกจ้างไว้ตามมาตรา 118 (ไปหาอ่านได้ในกฎหมายแรงงานนะครับ)
ขึ้นอยู่กับว่าลูกจ้างทำงานกับบริษัทมากี่ปี
ซึ่งสูงสุดคือได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400
วัน สำหรับลูกจ้างที่ทำงานมาตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป
กรณีไหนบ้างที่นายจ้างเลิกจ้างแล้วไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 118?
ก็กรณีที่ลูกจ้างหรือพนักงานกระทำความผิดร้ายแรงเข้าข่ายมาตรา 119
ของกฎหมายแรงงาน
จากที่ผมแชร์มาทั้งหมดนี้ก็อยากจะให้เห็นว่าการบอกเลิกสัญญาจ้างนั้นจะเกิดขึ้นได้เสมอไม่ว่าจะเป็นการบอกเลิกจากฝั่งนายจ้างหรือฝั่งลูกจ้างก็ตาม
เพราะทั้งสองฝ่ายต่างก็มีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาจ้างซึ่งกันและกันได้เสมอ
จึงไม่ควรหลงไปยึดติดว่าฉันอยู่กับบริษัทที่มั่นคงแล้วฉันจะมั่นคงตามบริษัทไปด้วย
แต่ความมั่นคงที่แท้จริงอยู่กับตัวของแต่ละคนที่จะต้องสร้างคุณค่าสั่งสมความรู้ความสามารถพัฒนาตัวเองให้คนอื่น
(หรือองค์กรใดก็ตาม)
เห็นคุณค่าในตัวของเรามากกว่าการเอาตัวเราไปผูกอยู่กับความมั่นคงขององค์กรโดยไม่พัฒนาคุณค่าในตัวเราให้เพิ่มขึ้นในแต่ละวันที่ผ่านไป
เพราะ
“คนที่จำเป็น” คือคนที่องค์กรยังต้องการอยู่เสมอ
แต่ “คนไม่จำเป็น”
สำหรับองค์กรก็มักเป็นคนที่ถูกเลิกจ้างและต้องเดินจากไปในที่สุดแหละครับ
ในทางกลับกัน “คนที่จำเป็น”
ก็จะเป็นฝ่ายเลือกได้ว่าจะอยู่ที่เดิมหรือจะไปที่ใหม่ที่เขายื่นข้อเสนอดี ๆ
มาให้ได้เหมือนกันนะครับ
…………………………..