คำถามนี้น่าสนใจดีนะครับเพราะเป็นเรื่องพื้น ๆ ที่เจอได้ทั่วไปก็จริง แต่หลายคนก็ไม่รู้ว่าจะกรอก “เงินเดือนที่ต้องการ” ในใบสมัครงานที่ใหม่เท่าไหร่ดีถึงจะเหมาะสมและทำให้ที่ใหม่สนใจเรา
แต่ก่อนจะตอบคำถามนี้ผมขอทำความเข้าใจกับท่านที่จะไปสมัครงานเสียก่อน ไม่ว่าท่านจะเป็นคนที่เพิ่งจบมาใหม่เอี่ยม
หรือท่านที่มีประสบการณ์ทำงานมาแล้วก็ตาม
สิ่งที่สำคัญคือท่านจำเป็นจะต้องกรอกเงินเดือนที่ต้องการลงในช่อง
“เงินเดือนที่ต้องการ” ในใบสมัครงานนะครับ !
ผมมักจะพบเห็นอยู่บ่อยครั้งว่าผู้สมัครงานไม่กรอกเงินเดือนที่ต้องการ
หรือบางคนก็เขียนคำว่า “แล้วแต่จะตกลงกัน” หรือ
“แล้วแต่โครงสร้างเงินเดือนของบริษัท” ฯลฯ
เพราะถ้าผู้สมัครงานคนไหนไม่กรอกเงินเดือนที่ต้องการ
หรือเขียนทำนองข้างต้นก็แสดงว่าผู้สมัครงานคนนั้นยังขาดความมั่นใจในตัวเอง
ยังขาดความมั่นใจใน “คุณค่า” หรือ “มูลค่า” ที่มีในตัวเอง
ท่านเคยไปซื้อส้มที่ตลาดไหมครับ ?
ถ้าไปซื้อส้มแล้วถามแม่ค้าว่า
“ส้มกิโลละเท่าไหร่” แต่แม่ค้าตอบมาว่า “แล้วแต่เงินในกระเป๋าของคุณ”
ท่านจะว่ายังไงครับ ?
แม่ค้าควรจะต้องรู้ว่า “ต้นทุน”
ของส้มที่จะขายไหมว่ามีมูลค่าเท่าไหร่ และแม่ค้าควรจะตั้งราคาขายสักเท่าไหร่ถึงจะได้กำไรในจุดที่ตัวเองพอใจ
แต่ถ้าแม่ค้าไม่รู้ต้นทุน
หรือรู้ต้นทุนแต่ไม่กล้าที่จะบอกราคาที่อยากจะขายส้มน่ะ จะขายของได้ไหมล่ะครับ
ผู้สมัครงานก็เปรียบเสมือนแม่ค้าแหละ
เราต้องมั่นใจเสียก่อนว่า “คุณค่า” หรือ “ต้นทุน” ในตัวของเรามีอยู่เท่าไหร่
เช่นตอนนี้เราได้เงินเดือนอยู่เดือนละ
20,000 บาท
นั่นแปลว่าบริษัทที่เราทำงานอยู่ในปัจจุบันเขาให้คุณค่าของเราอยู่เท่านี้
เมื่อเราไปสมัครงานที่ใหม่เราควรจะ “ขาย”
ความสามารถของเราเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสมกับคุณค่าที่มีอยู่ในตัวเรา (ตามที่เราคาดหวัง)
เช่น ถ้าเราใส่เงินเดือนที่ต้องการไป 30,000 บาท
ก็แปลว่าเราต้องการเงินเดือนเพิ่มขึ้น
50 เปอร์เซ็นต์ !
เราก็ต้องขายความสามารถโดยนำเสนอให้บริษัทใหม่เขาเชื่อถือให้ได้ว่า
หากรับเราเข้าทำงานด้วยเงินเดือน 30,000 บาทแล้ว เราจะทำให้บริษัทนั้นใช้ประโยชน์อะไรจากเราได้คุ้มค่าบ้าง
ถ้าหากเงินเดือนที่เราตั้งไปนั้นเกินจากโครงสร้างเงินเดือนของบริษัทแห่งใหม่และเขายังสนใจความสามารถของเรายังไงเขาก็ต้องต่อรองมาอีกทีอยู่ดี
ซึ่งก็อยู่ที่ว่าเราจะรับอัตราเงินเดือนที่ต่อรองกันได้อยู่ที่ระดับไหนเราถึงจะคิดว่าไม่ขาดทุนเหมือนกับแม่ค้าขายส้มนั่นแหละ
แต่ยังไงก็ดีกว่าที่เราไม่ใส่เงินเดือนที่ต้องการซึ่งจะทำให้ดูเสมือนว่าเราไม่เชื่อมั่นในความสามารถที่เรามีอยู่ในตัวเลย
จริงไหมครับ ?
ผมเคยตั้งสมการไว้ว่า
เงินเดือนหรือค่าตอบแทน = P+C
P=Performance
คือผลการปฏิบัติงานหรือ Portfolio ผลงานดีเด่นที่เราเคยทำแล้วประสบความสำเร็จมาในอดีต
C=Competency สมรรถนะหรือความสามารถประกอบด้วยความรู้ในงานที่ทำอยู่
(Knowledge), ทักษะหรือความชำนาญในงานที่ปฏิบัติ (Skills)
และคุณลักษณะภายใน (Attributes) เช่นความอดทน,
ความละเอียดรอบคอบ, ความรับผิดชอบ ฯลฯ ที่เหมาะตรงกับงานที่ทำอยู่
ทั้ง P+C นี่แหละครับคือ “คุณค่า” หรือ
“มูลค่า” หรือ “ต้นทุน” ในตัวของพนักงานที่บริษัทเขามองเห็นและจ่ายเงินเดือนให้ตามคุณค่าที่มีในตัวของพนักงานแต่ละคน
ตรงนี้ผู้สมัครงานจึงต้องมีความมั่นใจในต้นทุน
(คือ P+C) ในตัวเองเสียก่อน เพราะถ้าเรายังไม่มั่นใจในคุณค่าของเรา
แล้วจะให้ใครเขามามั่นใจในตัวเราได้อีกล่ะครับ
เมื่อไปสมัครงานกับบริษัทใหม่ก็แน่นอนว่าผู้สมัครงานก็ควรจะต้อง Mark
up เงินเดือนให้เพิ่มขึ้นจากเดิมเหมือนกับแม่ค้าที่ต้องขายส้มให้ได้กำไรเพิ่มขึ้น
เพราะคงไม่มีแม่ค้าคนไหนที่ขายส้มไปเท่ากับต้นทุนที่ซื้อมาจริงไหมครับ
?
การเปลี่ยนงานทั้งทีจะต้องเปลี่ยนที่ทำงาน,
สภาพแวดล้อมในการทำงานก็เปลี่ยนไป,
ต้องปรับตัวให้เข้ากับที่ใหม่ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน, หัวหน้า,
วัฒนธรรมองค์กรในที่ใหม่ ฯลฯ
ที่สำคัญคือต้องทำงานให้ได้ตามเป้าหมายหรือตามความคาดหวังของบริษัทแห่งใหม่
ซึ่งถ้าทำไม่ได้ตามที่บริษัทใหม่คาดหวังเขาอาจจะไม่ให้ผ่านทดลองงานก็มีหวังตกงานเคว้งคว้างแล้วก็ต้องมาหางานกันใหม่อีก
จากเหตุผลข้างต้นในความเห็นของผมแล้วการเปลี่ยนงานควรจะมีการปรับเพิ่มขึ้นไม่ควรจะต่ำกว่า
25 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนปัจจุบันที่เราได้รับอยู่เพื่อให้คุ้มกับความเสี่ยงในการไปทำงานในที่ใหม่
แต่สำหรับผู้สมัครงานที่มั่นใจว่าตนเองมีผลงานดีเด่นมาก ๆ มีความรู้ความสามารถที่ตลาดต้องการตัวอีกไม่น้อยก็อาจจะ Mark up ค่าตัวได้มากกว่า 25 เปอร์เซ็นต์เป็น 50 หรือบางกรณีอาจได้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ผมก็เคยเห็นมาแล้ว
ก็ขึ้นอยู่กับ “คุณค่า” หรือ P+C ในตัวคน ๆ
นั้นว่าจะมีมากและเป็นที่ต้องการของตลาดสักขนาดไหน เพราะคนที่เก่ง ๆ
มีความสามารถนั้นตลาดยังต้องการตัวอยู่เสมอ
หวังว่าเรื่องนี้จะเป็นไอเดียให้กับท่านที่ไม่รู้ว่าจะตั้งเงินเดือนที่ต้องการไว้เท่าไหร่ดี
สิ่งสำคัญที่อยากจะย้ำก็คือ....
ถ้าใครสามารถพัฒนาตัวเองให้มีผลงานมีความรู้ความสามารถมีความเชี่ยวชาญ หรือพูดง่าย ๆ ว่า “เป็นคนมีของ” ตรงกับที่บริษัทนั้น ๆ ต้องการ
คน ๆ
นั้นก็จะมีของพอที่จะไปอวดไปพูดคุยต่อรองเงินเดือนกับบริษัทที่ไปสมัครงานได้
แต่ในทางกลับกันถ้าใครที่ยังไม่พัฒนาตัวเอง
ทำงานแบบแค่ให้จบไปวัน ๆ ผลงานก็ไม่มี ความสามารถในงานก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นคือพูดง่าย
ๆ ว่าไม่มีของในตัวเอง
ไม่ได้มีความรู้ความสามารถในงานนั้นจริงแถมยิ่งเป็นคนที่มีทัศนคติเชิงลบอยู่เสมอแล้วล่ะก็
อย่าว่าแต่ขอเพิ่มขึ้น
25 เปอร์เซ็นต์เลย
แค่ขอเงินเดือนเท่าเดิมเขาก็ยังไม่รับเข้าทำงานเสียด้วยซ้ำ !
ขอให้ท่านที่อ่านบทความนี้ประเมินคุณค่าในตัวเองและตั้งเงินเดือนที่ต้องการได้เหมาะสมและตรงกับ P+C
ในตัวเรานะครับ
........................