วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2563

คำถามจากงานสัมมนา “ถาม-ตอบปัญหาค่าตอบแทน” เมื่อวันที่ 23 มค.63 (1)


ถาม : มีหลักเกณฑ์อะไรบ้างที่บ่งบอกว่าเงินเดือนของพนักงานที่ได้รับนั้นเหมาะสม

ตอบ :   1. ค่างานในตำแหน่งนั้น (ถ้าบริษัทนั้นมีการประเมินค่างานแล้ว)

            2. ผลการปฏิบัติงาน (Performance) ของพนักงาน

            3. เงินเดือนของพนักงานอยู่ตรงไหนในกระบอกเงินเดือนใน Job Grade นั้น (ถ้ามีโครงสร้างเงินเดือนแล้ว) ซึ่งจะบอกได้ว่าเงินเดือนที่พนักงานได้รับในขณะนี้เหมาะสมหรือยังเมื่อเทียบกับตลาด (ถ้าบริษัทมีการ Match job และออกแบบโครงสร้างเงินเดือนได้อย่างเหมาะสม) เงินเดือนปัจจุบันของพนักงานอยู่ตรงไหน Under หรือ Over pay แค่ไหนเมื่อเทียบกับที่ตลาดเขาจ่ายกัน

            4. ศักยภาพและ Competency ของพนักงานเป็นยังไงบ้าง มีจุดเด่นจุดด้อยตรงไหน มีขีดความสามารถมากน้อยแค่ไหนเหมาะกับตำแหน่งงานนั้นไหม (ถ้าบริษัทมีระบบสมรรถนะและมีผลการประเมิน Competency)

            ทั้งหมดที่ผมบอกมานี้เป็นตัวสำคัญที่จะตอบคำถามนี้ได้ชัดเจนขึ้น แต่ถ้าบริษัทไหนยังไม่มีการประเมินค่างาน, ไม่มีโครงสร้างเงินเดือน, ไม่มีระบบที่จะวัดหรือประเมินศักยภาพหรือประเมินขีดความสามารถของพนักงานรองรับ ก็คงไม่แคล้วการ “ใช้ความรู้สึก” หรือใช้ “หลักกู” มาบอกว่าเงินเดือนที่บริษัทจ่ายให้พนักงานตอนนี้เหมาะสมหรือไม่ ซึ่งมีแนวโน้มจะผิดเพี้ยนได้ง่าย และจะตอบไม่ได้ชัดเจนว่าเหมาะหรือไม่เหมาะเพราะอะไรครับ

ถาม : เมื่อพนักงานถึงวัยเกษียณ บริษัทต้องจ่ายอะไรบ้าง

ตอบ : บริษัทต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 118 (ตามอายุงาน) ครับ แต่ในหลายบริษัทอาจจะมีการจ่ายเงินอื่น ๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากที่กฎหมายแรงงานกำหนดไว้ก็ได้ เช่น มีการให้ทอง, ให้เงินรางวัลที่อยู่ถึงเกษียณ ฯลฯ ในงานเลี้ยงส่งพนักงานเกษียณเพื่อให้พนักงานที่ยังไม่เกษียณเห็นว่าบริษัทให้ความสำคัญกับพนักงานจนถึงเกษียณ ซึ่งตรงนี้ก็คงแล้วแต่นโยบายของแต่ละบริษัทครับ แต่ที่แน่ ๆ คือต้องจ่ายค่าชดเชยครับ


...............................