วันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ถูกบริษัทบอกให้เขียนใบลาออกเพราะไม่ผ่านทดลองงานจะฟ้องดีไหมจะได้อะไรบ้าง ?

            วันนี้ผมได้รับอีเมล์จากคนที่ทำงานในบริษัทแห่งหนึ่งมาได้ประมาณ 3 เดือนแล้วถูกบริษัทแจ้งให้เขียนใบลาออกโดยให้เหตุผลว่าผลการปฏิบัติงานไม่ดีทำงานไม่ได้อย่างที่บริษัทต้องการ

            พนักงานทดลองงานคนนี้แกก็เลยเขียนอีเมล์มาถามผมด้วยอารมณ์โกรธว่าแกควรจะเขียนใบลาออกดีไหม และถ้าไม่เขียนใบลาออกแกจะได้ค่าชดเชยหรือจะได้เงินอื่นอีกหรือไม่ หรือแกจะไปฟ้องศาลแรงงานได้หรือไม่ ฯลฯ

            ผมเข้าใจนะครับว่าแกคงจะโกรธและคิดว่าบริษัททำกับแกแบบไม่เป็นธรรมก็เลยอยากจะเอาคืน

            ผมก็ตอบไปเกี่ยวกับทางเลือกที่แกอยากรู้ในแง่ของกฎหมายแรงงานไปอย่างนี้ครับ

1.      ถ้าแกคิดว่าบริษัททำอย่างนี้แล้วไม่เป็นธรรมบริษัทกลั่นแกล้ง ก็ไม่ต้องเขียนใบลาออกแล้วให้บริษัททำหนังสือเลิกจ้าง ซึ่งบริษัทนี้ก็คงจะต้องระบุสาเหตุไม่ผ่านการทดลองงานว่าพนักงานมีผลการปฏิบัติงานไม่เป็นที่น่าพอใจเลยไม่ผ่านทดลองงาน

2.      เมื่อถูกเลิกจ้างตามข้อ 1 แกก็จะได้รับค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 งวดการจ่ายค่าจ้างตามกฎหมายแรงงาน แต่ถ้าเป็นค่าชดเชยตามอายุงานนั้นคงจะไม่ได้เพราะอายุงานยังไม่ครบ 120 วัน

3.      แต่ถ้าแกถูกเลิกจ้างเวลาจะไปสมัครงานที่บริษัทอื่นต่อไปก็ต้องระบุเอาไว้ในใบสมัครที่ใหม่ว่าพ้นสภาพการเป็นพนักงานจากที่เดิมเพราะถูกเลิกจ้างไม่ได้ลาออกเอง ซึ่งก็อาจจะมีผลทำให้ที่บริษัทใหม่เกิดข้อสงสัยในเรื่องการทำงาน

4.      แกถามผมว่าแล้วถ้าตอบว่าลาออกเองได้หรือไม่ คำตอบก็คือส่วนใหญ่บริษัททั้งหลายมักจะมีข้อความท้ายใบสมัครงานทำนองว่าผู้สมัครขอรับรองว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในใบสมัครงานนี้เป็นความจริงทุกประการ หากผู้สมัครปกปิดหรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จบริษัทมีสิทธิในการแจ้งเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยหรือค่าบอกกล่าวล่วงหน้าใด ๆ ทั้งสิ้น ฯลฯ ซึ่งเรื่องนี้ก็อาจจะเป็นปัญหากับแกในอนาคตได้ต่อไป

พร้อมกันนี้ก็เลยฝากข้อคิดให้แกไปอย่างนี้ครับ

1.      ผมก็ไม่ทราบหรอกนะครับว่าแกทำงานดีหรือไม่อย่างไร เพราะผมไม่ได้รู้จักมักจี่กันเป็นการส่วนตัวมาก่อน ดังนั้นเรื่องที่แกเล่ามาให้ผมฟังว่าตัวเองทำงานดี รับผิดชอบอย่างงั้นอย่างงี้น่ะ ผมเองก็ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง เพราะหลักจิตวิทยาทั่วไปของคนก็คือเราก็มักจะคิดเข้าข้างตัวเราเองเสียด้วย (ผมเคยเขียนเรื่อง Cognitive Dissonance การคิดหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองลองไปหาอ่านย้อนหลังดูนะครับ) ซึ่งถ้าหากมองในมุมของบริษัทแล้ว แกอาจจะทำงานไม่ดี ทำงานไม่ได้ผลอย่างที่หัวหน้าต้องการ หรือมีพฤติกรรมในการทำงานที่เขาไม่ชอบไม่ต้องการ เช่นมาสายบ่อย, งานผิดพลาดบ่อย ฯลฯ ก็เป็นได้

2.      จากเหตุผลในข้อแรกถ้าแกคิดว่าแกทำงานดีมีความรับผิดชอบแต่ถูกบริษัทกลั่นแกล้งอย่างไม่เป็นธรรม แกก็ควรจะถือเอาจุดนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการหางานใหม่ที่ตรงกับความรู้ความสามารถดีกว่าจะมาเสียเวลามาคิดฟ้องร้องบริษัทต่อความยาวสาวความยืดให้เป็นดราม่าวุ่นวาย

         ผมอยากให้คิดว่าการไม่ผ่านทดลองงานที่บริษัทแห่งนี้อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จในอนาคตของเราก็ได้ เราอาจจะไปได้ปังไปได้ดังและดีกว่านี้ แทนที่จะมาจมอยู่กับบริษัทแห่งนี้ก็ได้นะครับ ในขณะที่บริษัทนี้ก็จะเสียคนดีมีฝีมือที่จะมาทำประโยชน์ให้กับบริษัทไปด้วย นี่ผมหมายถึงว่าถ้าเราคิดว่าเราเก่งจริงเราแน่จริง เรามีของมีความสามารถจริงนะครับ 

           อีกอย่างอายุงานที่ทำที่นี่ก็ประมาณ 3 เดือนเอง ยังดีที่รู้ผลเร็วว่าเราไม่เหมาะกับบริษัทนี้ ดีกว่าทำงานที่นี่ไปแล้ว 4-5 ปีแล้วบริษัทเพิ่งจะมาบอกว่าไปกันไม่ได้ อย่างงี้จะเสียเวลาไปเปล่า ๆ มากกว่านี้เสียอีกนะครับ

3.      แต่ถ้าบริษัทประเมินผลการทำงานในช่วงทดลองงานอย่างเป็นธรรมจริง ๆ ไม่ได้เกิดจากอคติกลั่นแกล้งแล้ว เห็นว่าแกไม่ผ่านทดลองงานเพราะเราทำงานบกพร่อง ทำงานไม่ดีและมีพฤติกรรมในการทำงานไม่ได้อย่างที่บริษัทคาดหวังจริง ๆ แกก็ควรจะนำเอา Feedback ของบริษัทกลับมาคิดดู (โดยไม่เข้าข้างตัวเอง) ว่าแกมีพฤติกรรมในการทำงานที่ไม่เหมาะสมอย่างที่บริษัทบอกมาจริงหรือไม่ จะปรับปรุงแก้ไขเมื่อจะต้องไปทำงานในที่ใหม่ได้สักแค่ไหน

4.      จากเหตุผลที่ผมอธิบายมาทั้งหมดอยากให้แกลองกลับไปคิดผลดี-ผลเสียให้ดีระหว่างการให้บริษัทเขาทำหนังสือเลิกจ้างแล้วเราก็เสียประวัติด้วยว่าไม่ผ่านทดลองงานแล้วได้ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าประมาณ 1 เดือน กับการยื่นใบลาออกแม้ไม่ได้ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าแต่ก็ไม่เสียประวัติการทำงานแล้วนำบทเรียนครั้งนี้เป็นประสบการณ์ในการทำงานที่ใหม่ต่อไปอย่างไหนจะดีกว่ากัน

              ส่วนเรื่องการไปฟ้องศาลแรงงานนี่ผมว่าอย่าเพิ่งคิดไปไกลถึงขนาดนั้นเลยเพราะไม่ใช่ไปศาลแค่วันสองวันแล้วจบเรื่องนะครับ สู้เอาเวลาไปทำมาหากินจะดีกว่าไหม

5.      การไม่ผ่านทดลองงานไม่ได้หมายความว่าชีวิตเราล้มเหลว การที่เราทำงานไม่ได้ตามที่เขาคาดหวังก็ไม่ได้แปลว่าศักยภาพในตัวของเราลดลง สิ่งสำคัญก็คือเราหาความรู้ความสามารถความถนัด ของเราเจอแล้วหรือยังว่าคืออะไร เราอยากจะทำงานอะไรหรือพูดให้หรู ๆ ว่าเรามี “Passion” อยากจะทำอะไร 

                    ตรงนี้เป็นสิ่งจำเป็นเพราะจะเป็นเหมือนกับวิสัยทัศน์หรือเป้าหมายของตัวเราเอง ยกตัวอย่างง่าย ๆ ว่าวันนี้ถ้าเราจะออกจากบ้านแล้วเราก็ยังไม่มีเป้าหมายเลยว่าเราจะไปไหนดี ไปทำอะไร อย่างนี้ชีวิตก็เปะปะไป 1 วันแล้ว แต่ที่ผมพูดถึงนี่เป็นเป้าหมายระยะยาวในชีวิตของเราเลยนะครับที่เราควรจะต้องหาให้เจอจะได้เดินไปถูกทาง

            พี่ตูนเคยกล่าวว่า “เรือเล็กควรออกจากฝั่ง” ก็จริงอยู่ แต่ก่อนที่เรือเล็กจะออกจากฝั่งก็อย่าลืมวางแผนและมีเป้าหมายให้ชัดเจนเสียก่อนว่าจะไปที่ไหน ไม่ใช่พอออกจากฝั่งเลยลอยเคว้งคว้างสะเปสะปะเพราะถ้าเป็นอย่างงี้มีโอกาสล่มกลางทะเลในที่สุด

               หวังว่าเรื่องนี้คงจะทำให้คนที่ไม่ผ่านทดลองงานได้ข้อคิดอะไรดี ๆ กับตัวเองบ้างนะครับ


……………………………………