วันพุธที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2557

พนักงานขาดงานทำยังไงดี ?


            เรื่องที่ผมจะเอามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันวันนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอในบริษัทต่าง ๆ แต่บางครั้งบริษัทก็อาจจะยังไม่รู้ว่าควรจะทำยังไงดีกับเรื่องราวทำนองนี้

            ก็เรื่องพนักงานขาดงานน่ะสิครับ !

            พนักงานที่เคยมาทำงานกันทุกวันเห็นหน้าเห็นตากันอยู่ แต่พอวันดีวันร้ายอะไรสักอย่างแกก็กลายเป็นมนุษย์ล่องหนไม่มาทำงานซะงั้น โดยไม่ได้บอกได้กล่าวกับใครในที่ทำงาน เลยไม่มีใครรู้ว่าแกหายไปไหนหรือถูกใครอุ้มเป็นตายร้ายดียังไงก็ไม่มีใครบอกได้ เพราะแม้ว่าเพื่อนที่ทำงานหรือหัวหน้าพยายามจะโทรติดต่อแล้วก็ไม่มีสัญญาณตอบรับจากเลขหมายที่ท่านเรียก ฯลฯ

            เราควรทำยังไงดี ?

            ถ้าเป็นหัวหน้างานหรือ HR สายฮาร์ดคอร์ก็มักจะอ้างถึงมาตรา 119 (5) ของกฎหมายแรงงานดังนี้ครับ

มาตรา ๑๑๙  นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้....

... (๕)  ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร...(รายละเอียดของมาตรานี้เข้าไปดูในกูเกิ้ลนะครับ)

            ดังนั้น เมื่อพนักงานขาดงานหายไปตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป บางบริษัทก็ทำหนังสือเลิกจ้างพนักงานทันทีโดยอ้างเหตุผลตามมาตรา 119 (5) ข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพนักงานที่ขาดงานนั้นมีผลการปฏิบัติงานไม่ดี, ความประพฤติไม่ดี, ขายไม่ได้ตามเป้า ฯลฯ ซึ่งบริษัทก็จะได้ใช้เป็นสาเหตุในการเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน เรียกว่าคอยจ้องไว้เลยว่าถ้าพนักงานหายไปครบ 3 วันปุ๊บก็ทำหนังสือเลิกจ้างปั๊บทันใจวัยรุ่นกันเลยทีเดียว

            แต่....ช้าก่อนครับในเรื่องนี้ควรจะต้องทำให้รอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง เพราะถ้าพนักงานที่บริษัทเลิกจ้างเกิดประสบอุบัติเหตุไม่รู้สึกตัวเข้าไปนอนอยู่ไอซียูโดยที่ทั้งโทรศัพท์มือถือหรือกระเป๋าสตางค์ที่มีบัตรต่าง ๆ อยู่ถูกพลเมืองร้ายขโมยไป หรือไปเที่ยวแล้วเกิดภัยธรรมชาติหรือหลงป่าจนไม่สามารถจะติดต่อกลับมาได้  ฯลฯ ซึ่งต้องมาดูกันอีกทีหนึ่งว่า “มีเหตุผลอันสมควร” หรือไม่ เพราะหากมีการฟ้องศาลแล้วศาลท่านเห็นว่าที่พนักงานขาดงานไปนั้นมีเหตุผลอันสมควรแล้วก็อาจพิพากษาให้รับกลับเข้าทำงานก็เป็นได้

            ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาตามที่ผมบอกมาข้างต้นสิ่งที่บริษัทควรทำมีดังนี้

1.      บริษัทควรพยายามติดต่อตัวพนักงานให้ได้ซึ่งแน่นอนว่าเบื้องต้นคงต้องโทรศัพท์ติดต่อ แต่ถ้าไม่สามารถติดต่อทางโทรศัพท์ได้ ก็ควรจะต้องไปหาพนักงานที่บ้านพัก (หรือหอพัก) ของพนักงานเพื่อไปตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าพนักงานขาดงานไปด้วยเหตุใดกันแน่ (ควรมีพนักงานของบริษัทไปเป็นพยานด้วยนะครับ) ถ้าพบตัวแล้วพนักงานอยากจะลาออกก็ให้เขาเขียนใบลาออกโดยลงวันที่มีผลลาออกและเซ็นชื่อให้เรียบร้อยเพื่อเป็นหลักฐาน ซึ่งวิธีนี้จะยุติปัญหาทั้งหมด

2.      ถ้าไปหาพนักงานที่บ้านพัก (หรือหอพัก) แล้วไม่เจอตัวคือย้ายออกไปอยู่ที่อื่นและไม่มีใครทราบหรือติดต่อได้ หรือเจอตัวแล้วพนักงานก็กำลังเมาเหล้า หรือใช้ชีวิตตามปกติแต่บอกว่าไม่อยากไปทำงาน หรือพูดโยกโย้ไปมาโดยไม่มีเหตุผล ฯลฯ อย่างนี้บริษัทควรทำรายงานการไปเยี่ยมเยียน และก็ทำหนังสือเลิกจ้างโดยระบุสาเหตุของการเลิกจ้างตามมาตรา 119 (5) คือพนักงานละทิ้งหน้าที่ 3 วันทำงานติดต่อกันขึ้นไปโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรแล้วส่งเป็นไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังที่อยู่ของพนักงาน แล้วเก็บสำเนาลงทะเบียนไว้กับต้นฉบับหนังสือเลิกจ้างเพื่อเป็นหลักฐานทางบริษัท แล้วให้พยานที่ไปด้วยลงชื่อเป็นพยานในรายงานการไปเยี่ยมพนักงานดังกล่าว

3.      การจ่ายค่าจ้างก็จ่ายถึงวันสุดท้ายที่พนักงานมาทำงาน เช่นมาทำงานวันสุดท้ายคือวันที่ 10 พฤษภาคม และขาดงานไปตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคมเป็นต้นไป ก็จ่ายค่าจ้างถึงแค่วันที่ 10 พฤษภาคม เป็นต้น

ข้อควรระวังในการเลิกจ้างในกรณีขาดงานแบบนี้คือ หัวหน้างานจะต้อง “รู้จัก” ลูกน้องของท่านดีนะครับ ว่าใครเป็นมือวางอันดับหนึ่งที่มีพฤติกรรมเกเร ชอบขาดงาน หรือใครที่เป็นพนักงานที่ดีขยันขันแข็ง  แล้วอยู่ ๆ ก็ขาดงานหายไป พูดง่าย ๆ คือควรจะต้องพิจารณาเรื่องทำนองนี้อย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลังครับ

………………………………….