เรื่องที่เราจะเอามาเม้าท์กันวันนี้มาจากเสียงคุยกันของพนักงานสองคนที่เพิ่งเข้ามาทำงานไม่นานกำลังพูดถึงหัวหน้าของเขาคือ
หัวหน้าบอกว่า “เพิ่งเข้ามาใหม่เหรอต้องขยันเรียนรู้งานหน่อยนะ
ภายในเดือนนี้คุณต้องทำงานให้เท่ากับคนเก่าให้ได้
อย่ามาทำเป็นเด็กอ่อนหัดในแผนกของผม งานในแผนกมีเยอะแยะต้องขวนขวายเรียนรู้เอาเอง....”
แถมเมื่อทำงานผิดพลาดก็ถูกด่า และยังชอบโยนความผิดมาให้แบบหาแพะรับบาปอีกด้วย ฯลฯ
ผมได้ยินเข้าก็เลยเอามาตั้งชื่อเรื่องวันนี้ว่า
“หัวหน้าของท่านเป็นคนยังไง ?” เพื่อแชร์ประสบการณ์ของท่านว่าเคยเจอหัวหน้างานแบบไหนมาบ้าง
แต่สิ่งสำคัญคือ....ท่านได้ข้อคิดอะไรจากประสบการณ์ที่ท่านเจอหัวหน้างานของท่านบ้าง
!!
ผมมักจะพูดในห้องอบรมเวลาทำ Workshop ทักษะหัวหน้างานเพื่อให้คนที่เป็นหัวหน้าผู้บังคับบัญชาหรือเป็นผู้นำทีมงานได้เตือนสติตัวเองอยู่เสมอว่า....
“หัวหน้าจะอยู่ในสายตาลูกน้องอยู่เสมอ
และเม้าท์อะไรก็ไม่มันส์เท่าเม้าท์หัวหน้า”
ท่านที่เคยเข้าคอร์สที่ผมบรรยายมาคงจำได้นะครับ
J
ไม่ว่าหัวหน้าจะมีพฤติกรรมการแสดงออกด้วยสีหน้า
ท่าทาง หน้าตา ภาษากาย หรือคำพูดคำจาอะไรออกมา
บรรดาลูกน้องจะคอยจับจ้องมองหัวหน้าอยู่เสมอ คล้าย ๆ กับลูกที่จะคอยสังเกตพฤติกรรมคำพูดคำจาของพ่อแม่นั่นแหละครับ
หรือจะพูดว่า
“หัวหน้าอยู่ในสายตาลูกน้องอยู่เสมอ” ก็ไม่ผิดครับ !
ถ้าหัวหน้ามีพฤติกรรมที่ดี
เหมาะสม คำพูดคำจาให้เกียรติลูกน้อง มีเหตุมีผล อดทนรับฟังลูกน้อง
มีวัตรปฏิบัติที่ดี ควบคุมอารมณ์ได้ดี เป็นนักแก้ปัญหาตัดสินใจที่ชัดเจนมีเหตุมีผลมีไอเดียใหม่
ๆ แปลกที่หลายครั้งทำให้เราทึ่งว่าทำไมพี่เขาถึงได้เก่งอย่างงี้
ทำไมเราถึงไม่คิดในมุมนี้บ้างนะ มีความเป็นผู้ใหญ่
คอยสอนงานให้คำแนะนำปรึกษาเหมือนพี่สอนน้อง ฯลฯ
พฤติกรรมอย่างงี้คงไม่มีลูกน้องคนไหนไม่ต้องการ
แถมยังจะเป็นแม่เหล็กดึงดูดลูกน้องที่เก่ง ๆ เอาไว้ แม้ว่าจะมีเงื่อนไขข้อเสนอดี ๆ
เช่น มีบริษัทอื่นมาติดต่อจะดึงตัวไปทำงานด้วย
ลูกน้องก็อาจจะตอบปฏิเสธไปเพราะเคารพศรัทธาหัวหน้าคนนี้อยากจะทำงานด้วย
ทำงานแล้วสบายใจแถมได้ความรู้ในงานเพิ่มมากขึ้นไปทุกวัน
แต่ในทางกลับกัน....
ถ้าหัวหน้าคนไหนแสดงพฤติกรรมที่ร้าย
ๆ เป็นประจำ อารมณ์ร้ายโวยวายเสียงดัง มีโทสะเป็นเจ้าเรือน
ชอบตวาดลูกน้องเหมือนอีเย็นนางทาส
เวลาลูกน้องมีปัญหาจะเข้าไปถามก็จะสวนกลับออกมาว่าอะไรกันทำงานมาตั้งนานแล้วปัญหาแค่นี้ไม่มีสมองคิดแก้ไขเองบ้างเลยหรือไง
อะไร ๆ ก็ต้องให้พี่มาช่วยทุกเรื่องเป็นเด็ก ๆ หรือไง ไม่เอา ๆ ไปแก้ไขกันเอาเอง
ส่งงานให้ทันตามกำหนดก็แล้วกันพี่ไม่รับฟังอะไรทั้งนั้น
แถมยังคอยโยนความผิดให้ลูกน้องเป็นประจำ แต่เวลาลูกน้องทำผลงานดี ๆ
ก็จะไปเสนอหน้ารับความดีความชอบกับฝ่ายบริหาร เวลาลูกน้องทำดีก็ไม่เคยจำ
แต่พอทำพลาดก็ไม่เคยลืม แถมยังเป็นพวกแค้นฝังหุ่น ฯลฯ
หัวหน้าแบบนี้และเป็นเหยื่อเม้าท์มอยของลูกน้องกันมันส์นักแหละ
แล้วลองถามตัวเองดูสิครับว่าหัวหน้าที่มีพฤติกรรมทำนองนี้ เราอยากจะทำงานด้วยไหม ?
มันถึงได้เป็นที่มาของคำที่ผมมักชอบพูดอยู่เสมอ
ๆ ว่า “เราไม่สามารถเลือกหัวหน้าที่ดีสำหรับเราได้..แต่เราสามารถจะเลือกเป็นหัวหน้าที่ดีสำหรับลูกน้องได้”
เสมอ
แต่การเป็นหัวหน้าที่ดีสำหรับลูกน้องไม่ได้หมายถึงว่าต้องเป็นหัวหน้าที่ตามใจลูกน้องทุกอย่าง
ไม่กล้าตำหนิว่ากล่าวตักเตือนลูกน้องเมื่อลูกน้องทำในสิ่งไม่ถูกต้อง
ไม่ใช่อย่างนั้นนะครับ
ผมเชื่อว่าท่านจะต้องพบกับหัวหน้าของท่านที่ดีและไม่ดีมาอย่างที่ผมเล่ามาข้างต้นกันแล้ว
ดังนั้นจากประสบการณ์ของท่านที่พบมาผมเชื่อว่าเมื่อท่านอ่านมาถึงตรงนี้ท่านคงจะต้องแยกแยะและเลือกพฤติกรรมในการทำงานของท่านกับลูกน้องได้ว่าพฤติกรรมอะไรที่ควรหรือไม่ควร
เพื่อให้ลูกน้องเกิดความศรัทธาเชื่อมั่น
และมีแรงจูงใจในการทำงานที่เพิ่มขึ้นทุกวัน
วันนี้ท่านที่เป็นหัวหน้างานเริ่มสร้างพฤติกรรมที่ดี
ๆ และลดพฤติกรรมเชิงลบกับลูกน้องบ้างหรือยังล่ะครับ ?
…………………………………