ผมได้อ่านคำถามในกระทู้ของเว็บไซด์แห่งหนึ่งมีคำถามตามหัวเรื่องข้างต้น
พร้อมกับคำอธิบายจากผู้ตั้งกระทู้ทำนองว่า HR อยากจะรู้เงินเดือนของผู้สมัครไปทำไม
เขาจะเรียกเงินเดือนใหม่เท่าไหร่ก็เรื่องของเขา ประมาณว่าทำไม HR ต้องไปอยากรู้อยากเห็นเรื่องส่วนตัว (เกี่ยวกับเงินเดือน)
ของผู้สมัครด้วยล่ะ
เห็นว่าคำถามน่าสนใจดี
เลยอยากจะนำมาอธิบายให้เข้าใจตรงกันดังนี้
1. ท่านอาจจะมองว่า
HR ทำไมต้องไปละลาบละล้วงยุ่งเรื่องส่วนตัว (เงินเดือน)
ของผู้สมัครงานด้วย นี่เป็นมุมมองจากฝั่งผู้สมัครงานที่คงอยากจะมีความเป็นส่วนตัว แต่ถ้ากลับกันท่านเป็นผู้สัมภาษณ์ล่ะ
ท่านอยากจะรู้ไหมครับว่าผู้สมัครที่เรากำลังสัมภาษณ์อยู่น่ะปัจจุบันรับเงินเดือนอยู่เท่าไหร่
และถ้าเขาจะมาทำงานกับบริษัทของเราเขาเรียกเงินเดือนเท่าไหร่
เงินเดือนที่เขาเรียกมามันมากหรือน้อยกว่าที่ผู้สมัครได้รับอยู่ในปัจจุบันเท่าไหร่
แล้วท่าน (ที่เป็นกรรมการสัมภาษณ์)
จะรู้วิธีคิดของผู้สมัครงานรายนี้ได้ยังไงว่าเขาคิดยังไงถึงได้ต้องการเงินเดือนเท่านี้
ดังนั้นท่านต้องมองในมุมของบริษัทที่ท่านจะไปสมัครงานด้วยไม่ควรมองแต่มุมของผู้สมัครเพียงด้านเดียว
2. ถ้ากรรมการสัมภาษณ์คนไหน
(ทั้ง Line Manager หรือ HR ก็ตาม)
ไม่หาข้อมูล (หรือมีข้อมูล) เงินเดือนของผู้สมัครงานอย่างที่ผมบอกมาตามข้อ
1 แล้ว จะตัดสินใจเรื่องการจ้างกันยังไงล่ะครับ เช่น
ผู้สมัครงานใส่เงินเดือนที่ต้องการมา 30,000 บาท
หากท่านเป็นกรรมการสัมภาษณ์จะไม่อยากรู้หรือครับว่าแล้วปัจจุบันผู้สมัครงานรายนี้เงินเดือนเท่าไหร่
แล้วเงินเดือนที่ขอมา 30,000 บาทน่ะมากหรือน้อยกว่าที่ผู้สมัครได้รับอยู่เท่าไหร่
3. จากข้อ
2 ผมยกตัวอย่างเพิ่มเติมดังนี้
3.1 สมมุติผู้สมัครใส่เงินเดือนที่ต้องการมา 30,000 บาท
แต่ปัจจุบันได้รับอยู่ 15,000 บาท กรรมการสัมภาษณ์จะได้มีประเด็นที่จะถามวิธีคิดหรือเหตุผลของผู้สมัครว่าเหตุใดถึงเรียกเงินเดือนเพิ่มขึ้นจากเดิม
15,000
บาท แล้วเปรียบเทียบกับผู้สมัครรายอื่นว่าใครมีเหตุมีผล มีคุณสมบัติ
ความสามารถเหมาะตรงกับตำแหน่งนี้มากกว่ากัน ดังนั้นถ้าผู้สมัครรายนี้ตอบแบบไม่มีเหตุผล
คิดมาเองลอย ๆ ว่าอยากได้ 30,000 ก็ใส่ 30,000 อย่างนี้แล้ว ถ้าท่านเป็นกรรมการสัมภาษณ์
ท่านควรจะรับผู้สมัครรายนี้ไหมครับ
3.2 สมมุติผู้สมัครใส่เงินเดือนที่ต้องการมา 30,000 บาท
แต่ปัจจุบันผู้สมัครรายนี้เงินเดือนปัจจุบัน คือ 30,000 บาท ถ้าท่านเป็นกรรมการสัมภาษณ์ก็คงจะต้องสอบถามเพิ่มเติมว่าทำไมจะเปลี่ยนงานทั้งทีผู้สมัครกลับต้องการเงินเดือนเท่าเดิม
(หรือบางกรณีผมเคยเจอว่าขอน้อยกว่าเงินเดือนปัจจุบันเสียอีก)
ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ปกติแน่นอนจริงไหมครับ ที่คนจะเปลี่ยนงานเปลี่ยนสภาพการทำงาน
เปลี่ยนที่ทำงาน ต้องปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนร่วมงานใหม่
หรืองานความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้น ฯลฯ แต่ขอเงินเดือนเท่าเดิมหรือน้อยกว่าเดิม
3.3
เคยมีพนักงานมาขอหนังสือรับรองจากฝ่ายบุคคลโดยอ้างว่าจะไปขอบัตรเครดิต
แล้วก็ปลอมลายเซ็นของผม (ผมเซ็นไปในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบุคคล)
โดยไปทำหนังสือรับรองการทำงานใหม่แล้วใส่เงินเดือนให้เพิ่มจากเดิม เพื่อไปเป็นหลักฐานสมัครงานในบริษัทแห่งใหม่แทน
ซึ่งบริษัทนั้นเขาถามอัตราเงินเดือนเดิมและพนักงานก็แจ้งเท็จเป็นอัตราที่ตรงกับหนังสือรับรองการทำงาน
(ฉบับปลอม) ซึ่งฝ่ายบุคคลที่ทำงานใหม่โทรศัพท์กลับมาที่บริษัทผม ความก็เลยแตก ซึ่งถ้าบริษัทแห่งใหม่ไม่ถามอัตราเงินเดือนปัจจุบันก็คงจะรับพนักงานที่มีพฤติกรรมทุจริตเข้ามาร่วมงานไปแล้ว
จากตัวอย่างทั้งสามข้อข้างต้นนี่แหละครับ
ที่บริษัท (หรือ HR)
จำเป็นต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับเงินเดือนปัจจุบันของผู้สมัครงาน
เพื่อการพิจารณาประกอบการสัมภาษณ์เพื่อหาผู้สมัครงานที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับตำแหน่งงาน
และสามารถเลือกคนที่ใช่มาทำงาน
4. สำหรับบริษัทที่มีการทำโครงสร้างเงินเดือน
(Salary Structure) อย่างถูกต้องโดยการสำรวจข้อมูลตำแหน่งงานจากตลาดแรงงานนั้น
จะมีอัตราการจ้างของทุกตำแหน่งงานอยู่แล้วซึ่งอัตราจ้างเหล่านี้จะยืดหยุ่นได้บ้างตามคุณสมบัติของผู้สมัครงาน
แม้ว่าผู้สมัครงานจะเรียกเงินเดือนมาน้อยหรือมาก (ตามที่ผู้สมัครงานคาดหวัง)
เท่าไหร่ก็ตาม แต่บริษัทที่มีโครงสร้างเงินเดือนก็จะพิจารณาให้ได้เท่าที่เป็นไปตามโครงสร้างเงินเดือนเท่านั้น
ไม่ใช่ขอมากได้มากหรือขอน้อยได้น้อยนะครับ
เพราะถ้าการจ่ายเงินเดือนไม่เป็นไปตามราคาตลาดแล้ว
โดยเฉพาะในกรณี Under
pay มากเกินไป (คือการจ่ายเงินเดือนให้พนักงานน้อยกว่าที่ตลาดเขาจ่ายกัน)
ในที่สุดพนักงานก็จะลาออกไป เนื่องจากบริษัทจ่ายต่ำกว่าตลาด แต่ที่ HR
ต้องการทราบเงินเดือนปัจจุบันของผู้สมัครงาน
รวมถึงเงินเดือนก่อนหน้านี้ก็เพื่อจะดูว่าผู้สมัครมีประวัติการทำงาน
(ที่สัมพันธ์กับอัตราก้าวหน้าของเงินเดือน) อย่างไร และผู้สมัครมีเหตุ-ผลในการตอบที่สมเหตุสมผลหรือไม่อย่างไร
ประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราเงินเดือนที่เหมาะสมของผู้สมัครและสอดคล้องกับโครงสร้างเงินเดือนของบริษัทครับ
หวังว่าเราคงจะเข้าใจตรงกันแล้วนะครับ
…………………………..