วันพุธที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

พนักงานอู้งาน..หัวหน้าเพิกเฉย..ผลคือ..แล้วควรแก้ไขยังไง ?

            วันนี้ผมมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟังอีกแล้วนะครับ เป็นเรื่องของลูกจ้างฟ้องนายจ้างว่าเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ซึ่งกรณีแบบนี้ถ้านายจ้าง (หรือหัวหน้างาน) มีวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องแล้วคงไม่ต้องรับหมายศาลและต้องไปแก้ข้อกล่าวหาให้เสียเวลาทำงานโดยใช่เหตุ

            เรื่องเป็นอย่างงี้ครับ

            บริษัทรับพนักงานเข้ามาใหม่มีการกำหนดระยะเวลาทดลองงานไว้ 90 วัน บริษัทไม่ได้ทำสัญญาจ้างงาน เรียกว่าเป็นการรับพนักงานเข้ามาทำงานโดยไม่มีสัญญาจ้างก็ได้ครับ

ระหว่างทดลองงานพนักงานปฏิบัติงานไม่ดี ไม่รับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมาย ทำงานบกพร่อง มาขอลาหยุดไป 2 วัน ขาดงานไปอีก 1 วันโดยไม่แจ้งหัวหน้าให้ทราบ แต่สืบทราบว่าที่ลาหยุดและขาดงานไปก็ไปธุระเรื่องเรียนต่อปริญญาโท บริษัทได้เคยทำหนังสือตักเตือนเรื่องการทำงานไม่เสร็จตามเวลาที่กำหนด และงานก็ไม่ได้ตามเป้าหมายที่มอบหมายให้

            ก่อนจะครบทดลองงานในเดือนที่ 3 เมื่อพนักงานได้รับหนังสือตักเตือนให้ปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น พนักงานก็แจ้งขอลาออกด้วยวาจาโดยไม่ได้ยื่นใบลาออก และบอกว่าจะมีผลลาออกตั้งแต่วันรุ่งขึ้นเป็นต้นไป และพนักงานก็ไม่ได้มาทำงานอีก หัวหน้างานก็ไม่ได้ติดตามขอใบลาออกจากพนักงาน

            เวลาผ่านไป 5 เดือนหลังจากพนักงานไม่มาทำงาน พนักงานก็ไปฟ้องศาลแรงงานว่าบริษัทเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเรียกร้องค่าบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหาย

            จากกรณีศึกษา (จากเรื่องจริง) ข้างต้นนี้เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการเรียนรู้จากความผิดพลาด (ของผู้บริหารหรือของบริษัท) ซึ่งผมอยากจะชี้ให้ท่านได้เห็นว่าถ้าหัวหน้างาน (หรือบริษัท) รู้ว่าควรจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อป้องกันไม่ให้ต้องมานั่งแก้ปัญหากันในอนาคต ซึ่งจะได้เป็นข้อคิดและแนวทางสำหรับทั้ง HR และ Line Manager เพื่อปฏิบัติต่อไปด้วย
            ผมอยากจะให้ข้อสังเกต แง่คิด และข้อเสนอแนะดังนี้

1. บริษัทควรจะทำสัญญาจ้างงานทุกครั้งนะครับ เพราะยังมีความเชื่อ (บอกต่อ ๆ กันมา) ผิด ๆ ว่าถ้าไม่มีสัญญาจ้างก็ไม่มีใบเสร็จ ลูกจ้างจะไปฟ้องศาลแรงงานไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ไม่จริงนะครับ เพราะแม้ไม่มีสัญญาจ้างงาน ศาลท่านก็ยังสามารถสืบพยานหลักฐาน และพยานบุคคลเพื่อยืนยันสภาพการเป็นนายจ้างลูกจ้างได้อยู่ดี ดังนั้นการทำสัญญาจ้างงานจะเป็นหลักฐานที่ชัดเจนทั้งสองฝ่ายครับ

2. เมื่อพนักงานผลงานไม่ดี ไม่จำเป็นต้องรอให้ครบ (หรือรอให้ใกล้ ๆ ครบ) ทดลองงาน (ในที่นี้คือ 90 วัน) หรอกครับ เพราะถ้าเป็นหัวหน้างานที่เอาใจใส่ติดตามการทำงานของลูกน้องอย่างจริง ๆ จัง ๆ นั้น จากประสบการณ์ผมน่ะสัก 2 เดือนก็พอจะมองออกแล้วว่าพนักงานมีผลการทำงานเป็นยังไง ควรจะผ่านทดลองงานหรือไม่ แต่ผมก็ยังเห็นหัวหน้างานอีกไม่น้อยที่ยังต้องทำตามกฎคือรอให้ใกล้ ๆ ครบกำหนดทดลองงาน เหตุผลของหัวหน้างานเหล่านี้ก็คือ “ให้โอกาส” พนักงานทดลองงาน แต่จากประสบการณ์ของผมแล้วเมื่อพบว่าพนักงานทดลองงานขาดคุณสมบัติหรือมีไม่มีความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งงานนั้น ๆ แล้ว การ “ให้โอกาส” ต่อเพียงแค่ 1-2 เดือนก็ไม่ทำให้ผลงานดีขึ้น หรือปรับปรุงตัวได้ดีขึ้นแบบผิดหูผิดตาหรอกครับ โดยเฉพาะพนักงานทดลองงานที่มีพฤติกรรมที่ไม่ดี เช่น มาสาย, ขาดงาน, เกเร, ชอบฝ่าฝืนหรือทำผิดกฎระเบียบ ฯลฯ

3. จากข้อ 2 เมื่อพนักงานทดลองงานผลงานไม่ดีก็ควรพิจารณาและหาข้อสรุป (สำหรับหัวหน้างาน) ให้ชัดเจนว่าพนักงานคนนี้ยังพอจะปรับปรุงตัวหรือการทำงานให้ดีขึ้นได้หรือไม่โดย....

3.1 ถ้ายังปรับปรุงตัวได้ และยังให้โอกาสพนักงานรายนี้ก็แจ้งผลการทำงาน และสิ่งที่หัวหน้าต้องการเห็นการปรับปรุงตัว โดยมีเป้าหมายและระยะเวลาในการปรับปรุงตัวให้ชัดเจน แต่ไม่ควรให้เกิน 120 วัน เว้นแต่ว่าบริษัทพร้อมจะจ่ายค่าชดเชยในกรณีพนักงานปรับปรุงตัวไม่ได้และไม่ยอมเขียนใบลาออก (ซึ่งค่าชดเชยก็คือค่าจ้างอัตราสุดท้ายคูณ 30 วัน ตามมาตรา 118) ถ้าพนักงานสามารถปรับปรุงตัวให้ดีขึ้นได้ก็บรรจุเป็นพนักงานประจำ

3.2 กรณีพนักงานไม่สามารถปรับปรุงตัวได้ ก็แจ้งผลและนำข้อมูลที่พนักงานปฏิบัติงานไม่ได้ตามเป้าหมายมาอธิบายด้วยเหตุด้วยผล ไม่ควรใช้อารมณ์หรือหาเรื่องทะเลาะกับพนักงาน พูดง่าย ๆ ว่าก็ควรจะจบและจากกันด้วยดีจะดีกว่า ซึ่งกรณีนี้ส่วนใหญ่พนักงานทดลองงานมักจะเขียนใบลาออก โดยบริษัทควรจะเตรียมใบลาออกเอาไว้และระบุวันที่มีผลเอาไว้เลย แล้วส่งให้พนักงานเซ็นใบลาออกในห้องที่แจ้งผลการทดลองงานนั้นแหละครับ

กรณีนี้ไม่ควรให้พนักงานออกจากห้องแจ้งผลไปเขียนใบลาออกแล้วค่อยนำมายื่นภายหลัง เพราะจะมีโอกาสเกิดปัญหาแบบที่เป็นกรณีศึกษาในวันนี้ ก็คือพนักงานไม่มาทำงานในวันรุ่งขึ้นและไม่ส่งใบลาออก แถมบริษัทก็ยังไม่ติดตามใบลาออกจากพนักงาน (เหมือนกรณีข้างต้น) ผลก็คือถูกพนักงานไปฟ้องเลิกจ้างไม่เป็นธรรมในที่สุดครับ

3.3 นอกจากนี้ บริษัทควรจะเตรียมหนังสือเลิกจ้างโดยระบุสาเหตุการเลิกจ้างคือมีผลการปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ตามที่บริษัทกำหนดอย่างไร และระบุวันที่มีผลเลิกจ้างเอาไว้ให้ชัดเจน ซึ่งหนังสือเลิกจ้างนี้จะลงนามโดยกรรมการผู้จัดการหรือผู้มีอำนาจในการเลิกจ้างของบริษัท โดยหนังสือเลิกจ้างนี้จะยื่นให้พนักงานในกรณีที่พนักงานไม่ยอมเซ็นใบลาออก บริษัทก็จำเป็นต้องยื่นหนังสือเลิกจ้างเพราะไม่ผ่านทดลองงานเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน

แต่หนังสือเลิกจ้างนี้ควรจะเป็นวิธีสุดท้ายนะครับ จะใช้ในกรณีที่พนักงานไม่ยอมเขียนใบลาออก ซึ่งต้องแจ้งให้พนักงานทราบว่าถ้ารับหนังสือเลิกจ้างไปแล้วมันจะไม่คุ้มกันเพราะเขาจะนำไปเป็นหลักฐานฟ้องศาลแรงงานได้ก็จริง แต่เขาจะต้องกรอกประวัติในใบสมัครของบริษัทแห่งใหม่ว่าพ้นสภาพจากเดิมด้วยสาเหตุใด ซึ่งหากใส่ข้อมูลว่าถูกเลิกจ้างเพราะไม่ผ่านทดลองงานก็จะทำให้เกิดปัญหาข้อสงสัยและจากบริษัทแห่งใหม่และทำให้บริษัทใหม่ปฏิเสธไม่รับเข้าทำงานก็ได้ ซึ่งส่วนใหญ่พนักงานทดลองงานไม่อยากเสียประวัติและมักจะยื่นใบลาออกครับ

3.4 หากพนักงานแจ้งลาออกแล้วไม่ได้ยื่นใบลาออก (ก็บริษัทอยากไม่เตรียมให้เขาเซ็นเอาไว้ก่อนอย่างที่ผมบอกไว้ในข้อ 3.2 นั่นแหละครับ) และหายไปโดยไม่มาทำงานในวันต่อมา บริษัทจะต้องติดตามใบลาออกมาให้ได้ โดยโทรแจ้งพนักงานว่าถ้าไม่ส่งใบลาออก (ตัวจริงนะครับ ส่งมาทาง Fax ไม่ได้ครับ) มาให้ บริษัทก็จะถือว่าขาดงาน และบริษัทต้องทำหนังสือเลิกจ้างเนื่องจากละทิ้งหน้าที่ 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร (ก็เขาขาดงานไปจริง ๆ นี่ครับ กรณีนี้ก็ต้องรอให้เขาขาดงานไปสัก 1 สัปดาห์ก็ได้ถ้าเห็นว่าไม่ส่งใบลาออกมาแน่ ๆ แล้วถึงจะทำหนังสือเลิกจ้างครับ) ซึ่งจะทำให้เขาเสียประวัติเพิ่มขึ้นไปอีก และถ้ายังไม่ส่งใบลาออกมาให้ บริษัทก็ต้องทำหนังสือเลิกจ้างพร้อมระบุสาเหตุและวันที่เลิกจ้างส่งเป็นจดหมายลงทะเบียน (เก็บสำเนาการลงทะเบียนไว้กับสำเนาหนังสือเลิกจ้างเป็นหลักฐานที่บริษัท) ส่งไปยังที่อยู่ของพนักงานครับ เมื่อทำอย่างนี้แล้วบริษัทก็จะมีหลักฐานเกี่ยวกับการพ้นสภาพของพนักงานรายนี้ชัดเจน ดีกว่าไม่มีหลักฐานอะไรจะไปใช้อ้างอิงในศาลแรงงาน

3.5 เมื่อพนักงานทดลองงานเกเร ขาดงาน เช่นในกรณีที่ผมบอกมาข้างต้น บริษัทมีสิทธิไม่อนุมัติการลา และถือเป็นการขาดงานโดยบริษัทสามารถหักค่าจ้างในวันที่ขาดงานได้และสามารถทำหนังสือตักเตือนไม่ให้ขาดงานอย่างนี้อีกได้ ซึ่งถ้าพนักงานขาดงานจนบริษัทออกหนังสือตักเตือนเป็นครั้งสุดท้ายว่าหากขาดงานแบบนี้อีกบริษัทจะเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย แล้วให้สำเนาหนังสือตักเตือนกับพนักงานเอาไว้ทุกครั้ง หากพนักงานยังขาดงานอีกบริษัทก็ทำหนังสือเลิกจ้างได้เลยครับด้วยสาเหตุพนักงานประพฤติผิดกฎระเบียบ คำสั่งของบริษัทครับ

            เพื่อเสริมความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้น ผมอยากให้ท่านเข้าไปที่ http://tamrongsakk.blogspot.com หมวดกฎหมายแรงงาน ซึ่งผมได้อธิบายเรื่องเกี่ยวกับการเลิกจ้างเอาไว้หลายเรื่อง ลองไปอ่านดูนะครับ

            จากที่ผมอธิบายมาทั้งหมดนี้ ผมเชื่อว่าหัวหน้างานทุกท่านคงจะได้ข้อคิด และทราบวิธีปฏิบัติกับพนักงานที่ประพฤติตัวไม่ดีหรือมีปัญหาเหล่านี้ได้อย่างถูกต้องแล้วนะครับ

อย่าลืมว่าการปฏิบัติกับพนักงานนั้นควรปฏิบัติด้วยหลักความเป็นธรรม ไม่ใช้อคติ หรือทำไปโดยต้องการกลั่นแกล้ง รังแกพนักงานที่ไม่ได้ทำความผิดหรือต้องการจะบีบบังคับพนักงานที่ดี ๆ ให้เดือดร้อนนะครับ

ผมเชื่อว่ากฎแห่งกรรมนั้นมีจริงอยู่เสมอ ใครทำดีย่อมได้ดี ทำไม่ดีก็ย่อมจะได้รับผลร้ายในภายหลังครับ !!


……………………………