วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการ “เลิกจ้าง”



คำว่า เลิกจ้าง ที่เราเคยได้ยินได้ฟังหรือได้อ่านในหน้าหนังสือพิมพ์คงจะเป็นเรื่องที่หลายคนอกสั่นขวัญแขวนโดยเฉพาะคนที่เป็นลูกจ้างที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นเลย ถึงแม้ว่าเรา ๆ ท่าน ๆ ไม่อยากจะได้ยินได้ฟังคำ ๆ นี้ก็ตามผมก็ยังอยากจะให้ท่านได้ทำความเข้าใจกับเรื่องของการเลิกจ้างเอาไว้ล่วงหน้าเพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันเอาไว้ก่อนแบบรู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหามก็ยังดีครับ
สัญญาจ้างสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ ?
             เมื่อมีการจ้างงานก็ต้องมีการสิ้นสุดการจ้างงานด้วยเช่นเดียวกัน คล้ายกับคำกล่าวที่ว่า ไม่มีงานเลี้ยงใดที่ไม่เลิกรา ใช่ไหมครับ อยู่ที่ว่าการสิ้นสุดการจ้าง หรืองานเลี้ยงที่เลิกร้างราไปนั้นจะเป็นการสิ้นสุดหรือการเลิกราที่ดีหรือไม่อย่างไร
            เรามาดูกันนะครับว่าสัญญาจ้างจะสิ้นสุดกันเมื่อไหร่กันบ้าง ซึ่งการสิ้นสุดของสัญญาจ้างนั้น ท่านว่ามีอยู่ 3 วิธีคือ
          1. เมื่อนายจ้างบอกเลิกจ้าง หรือองค์กรเป็นผู้บอกเลิกจ้างพนักงานหรือลูกจ้าง ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมากมายหลายหลาก เช่น บริษัทประสบวิกฤติขาดทุน, ขาดสภาพคล่องทางการเงิน, พนักงานมีผลปฏิบัติงานไม่ดี, มีปัญหาสุขภาพ, พนักงานมีความประพฤติเกเร, หมอดูทายว่าดวงของลูกจ้างจะเป็นกาลกิณีกับบริษัทจะทำให้บริษัทล่มจม ฯลฯ
            เหตุผลดังที่ผมยกตัวอย่างมาข้างต้นนี่แหละครับที่มักจะเป็นสาเหตุที่นายจ้างหรือบริษัทเป็นผู้บอกเลิกจ้างลูกจ้างได้
            สรุปง่าย ๆ ว่าถ้านายจ้างอยากจะเลิกจ้างลูกจ้างเมื่อไหร่ก็สามารถทำได้โดยการบอกเลิกจ้างหรือทำหนังสือเลิกจ้างลูกจ้างได้ทันที และจะมีผลในวันที่นายจ้างระบุ
            ส่วนเรื่องที่ว่านายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้างตามอายุงานหรือไม่ต้องจ่ายก็ต้องไปว่ากันในรายละเอียดของสาเหตุการเลิกจ้างกันต่อไปนะครับ
          2. เมื่อลูกจ้างบอกเลิกจ้าง ในส่วนของลูกจ้างก็มีสิทธิในการบอกเลิกสัญญาจ้างได้เช่นเดียวกัน ซึ่งวิธีการบอกเลิกจ้างจากทางฝั่งของลูกจ้างที่เราคุ้นเคยกันดีก็คือการเขียนใบลาออกแล้วส่งให้กับหัวหน้างานหรือส่งให้กับนายจ้างนั่นเองครับ และถ้าลูกจ้างระบุวันที่มีผลในใบลาออกเมื่อไหร่ก็จะพ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างในวันนั้นโดยไม่ต้องรอให้นายจ้างอนุมัติ แม้ว่าวันที่มีผลลาออกจะไม่ถูกต้องตามระเบียบบริษัทที่กำหนดไว้ เช่น บริษัทมีระเบียบว่าการลาออกจะต้องแจ้งล่วงหน้า 30 วัน แต่ลูกจ้างยื่นใบลาออกวันนี้ให้มีผลวันพรุ่งนี้ก็ย่อมทำได้ครับ แต่ถามว่าลูกจ้างที่ดีควรทำอย่างนี้หรือไม่ท่านคงจะตอบตัวเองได้นะครับ ส่วนสาเหตุของการบอกเลิกการจ้างจากทางฝั่งของลูกจ้างก็เช่น ไปหางานใหม่, ไปศึกษาต่อ, สุขภาพไม่ดี, เบื่อหน้าหัวหน้างาน, ได้แฟนรวยหรือถูกหวยรางวัลใหญ่ ฯลฯ
            ในกรณีที่ลูกจ้างยื่นใบลาออกนั้น ลูกจ้างจะไม่ได้รับค่าเชย, ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าใด ๆ นะครับเพราะถือว่าลูกจ้างสมัครใจจะบอกเลิกสัญญาจ้าง (ด้วยการยื่นใบลาออกเอง)
            เมื่อดูจากทั้งข้อ 1 และข้อ 2 แล้วท่านจะเห็นได้ว่าทั้งนายจ้างและลูกจ้างต่างก็มีสิทธิเสมอกันในการบอกเลิกสัญญาจ้างซึ่งกันและกันจริงไหมครับ
3. เมื่อสัญญาจ้างครบกำหนดระยะเวลา เช่น บริษัท BBB ทำสัญญาจ้างนายสัมฤทธิ์เข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2556 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2557 เป็นระยะเวลา 1 ปี เมื่อนายสัมฤทธิ์ ทำงานไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2557 พอวันรุ่งขึ้นคือ 1 พฤษภาคม 2557 ก็ไม่ต้องมาทำงานกับบริษัทอีก โดยที่บริษัทก็ไม่ต้องทำหนังสือเลิกจ้าง โดยนายสัมฤทธิ์ก็ไม่ต้องเขียนใบลาออกและนายจ้างก็ไม่ต้องมาจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าหรือค่าชดเชยตามอายุงาน เพราะถือว่าการรจ้างงานนี้สิ้นสุดไปโดยสัญญาจ้างที่ระบุระยะเวลาไว้ชัดเจนดังกล่าว
            แต่ปัญหาของการเลิกจ้างนั้นมักจะเกิดจากข้อ 1 เป็นหลักเสียมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่นายจ้างเลิกจ้างแบบกระทันหันไม่ได้มีวี่แววมาก่อน เรียกว่าวันร้ายคืนร้ายก็เรียกพนักงานมารับหนังสือเลิกจ้างแล้วให้เก็บของไปเลย หรือเช้าวันรุ่งขึ้นพนักงานอาจจะมาทำงานตามปกติแต่พอมาถึงหน้าโรงงานก็พบประกาศ ปิดโรงงาน อะไรทำนองนี้
หากนายจ้างเลิกจ้างพนักงานโดยที่พนักงานไม่มีความผิดทางวินัยร้ายแรงล่ะ ?
            ในกรณีที่นายจ้างหรือบริษัทเลิกจ้างพนักงานที่ไม่ได้กระทำความผิดนั้น ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานปีพ.ศ.2541 ได้คุ้มครองลูกจ้างไว้ตามมาตรา 118 ซึ่งผมสรุปตารางเพื่อความเข้าใจแบบง่าย ๆ ดังนี้ครับ
อายุงาน                                                         ค่าชดเชย (ค่าจ้างอัตราสุดท้าย)
120 – ไม่เกิน 1 ปี                                                                       30 วัน
1 – ไม่เกิน 3 ปี                                                                           90 วัน
3 – ไม่เกิน 6 ปี                                                                           180 วัน
6 -  ไม่เกิน 10 ปี                                                                         240 วัน
10 ปีขึ้นไป                                                                                 300 วัน
กรณีไหนบ้างที่นายจ้างเลิกจ้างแล้วไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 118 ?
            พอผมเล่ามาถึงตรงนี้คงจะมีหลายท่านสงสัยแล้วกระมังครับว่า แล้วมีไหมที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ?”
            มีครับ ก็กรณีที่ลูกจ้างหรือพนักงานกระทำความผิดเข้าข่ายมาตรา 119 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ปี พ.ศ.2541 ดังต่อไปนี้ครับ
มาตรา 119 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้
(1)  ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
(2)  จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
(3)  ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
(4)  ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด
(5)  ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร
(6)  ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
ในกรณีที่ถ้าเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
            หากลูกจ้างหรือพนักงานทำความผิดเข้าข่ายข้อใดข้อหนึ่งในหกข้อนี่แหละครับที่บริษัทหรือนายจ้างสามารถจะบอกเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ ท่านก็ลองดูความผิดแต่ละข้อสิครับว่าสมควรจ่ายค่าชดเชยให้ไหมล่ะ
            อย่างไรก็ตามหากลูกจ้างมีความผิดตามมาตรา 119 ข้างต้นนั้น นายจ้างจะต้องระบุสาเหตุของการเลิกจ้างว่าลูกจ้างมีความผิดในข้อใดให้ชัดเจนในหนังสือเลิกจ้างด้วย
เพราะหากไม่ระบุสาเหตุการเลิกจ้างไว้ให้ชัดเจนว่าลูกจ้างมีความผิดในเรื่องใดแล้ว นายจ้างจะมาอ้างภายหลังแล้วไม่จ่ายค่าชดเชยไม่ได้นะครับ
            ผมเล่าให้ท่านฟังมาถึงตรงนี้เชื่อว่าท่านจะเข้าใจเรื่องของการเลิกจ้างที่ชัดเจนมากขึ้นแล้วนะครับว่าการเลิกจ้างนั้นจะมีผลกระทบอะไรบ้าง โดยเฉพาะการที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างนั้น ย่อมจะมีผลกระทบต่อตัวของลูกจ้างไม่น้อยเลย
ส่วนการที่ลูกจ้างจะบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยการเขียนใบลาออกนั้นก็มักจะทำตามกฎระเบียบของบริษัทกันเป็นส่วนใหญ่ จะมีอยู่บ้างก็ส่วนน้อยที่ไม่ทำตามกฎเกณฑ์ของบริษัท แต่ปัญหาที่เรา ๆ ท่าน ๆ มักจะได้พบเห็นก็มักจะเป็นการเลิกจ้างทางด้านของนายจ้างหรือบริษัทและไม่ทำตามกฎหมายแรงงานอย่างที่ผมได้บอกมาข้างต้นนี่แหละครับ จึงเป็นที่มาที่ผมเลยต้องให้ทุกฝ่ายได้ทราบกันอีกครั้งหนึ่งเพื่อความเข้าใจที่ตรงกันและมีการปฏิบัติอย่างถูกต้องทั้งสองฝ่ายครับ

…………………………………………