วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2555

HR ควรปรับตัวอย่างไรให้พร้อมรับ AEC (ตอนที่ 3)


            ผมได้เล่าให้ท่านฟังในเรื่องที่ว่าคนทำงาน HR ควรจะมีการปรับตัวอย่างไรให้พร้อมรับ AEC มาถึงตอนนี้เป็นตอนที่ 3 แล้วนะครับ เพื่อไม่ให้เสียเวลาเรามาพูดกันในข้อต่อไปดังนี้ครับ

7. มีความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมการทำงานที่แตกต่างกัน

ซึ่ง HR ควรจะต้องเข้าใจในเรื่องการทำงานต่างวัฒนธรรม (Cross Cultural) ของเพื่อนบ้านอาเซียนว่าเขามีวัฒนธรรมการทำงานที่เหมือนหรือแตกต่างกับเรายังไงบ้าง เช่น คนสิงคโปร์ก็มักจะมีสไตล์การทำงานแบบมั่นใจในตัวเองสูง กล้าแสดงความคิดเห็น มีกระบวนคิดที่เป็นระบบจะไปพูดลอย ๆ แล้วไม่มีข้อมูลหรือเหตุผลรองรับไม่ได้ ใช้ภาษาอังกฤษได้ดี หรือในกรณีไปทำงานที่บรูไนถ้าเป็นผู้หญิงเขาก็จะไม่ยื่นมือให้ผู้ชายจับ (กรณีจะเช็คแฮนด์) หรือไม่ควรใช้มือซ้ายส่งของให้กับผู้อื่น หรือกรณีไปอินโดนีเซียก็ไม่ควรลูบหัวคนอื่น (อันนี้ถือคล้าย ๆ กับคนไทย) แต่จะรวมถึงการลูบหัวเด็กเล็ก ๆ ก็ไม่สมควร และก็ไม่ใช้มือซ้ายส่งของรับของรวมถึงรับประทานอาหาร เป็นต้น ซึ่งถ้าหาก HR ได้ศึกษาทำความเข้าใจเรื่องเหล่านี้ได้ก่อนพนักงานก็จะสามารถให้คำแนะนำกับพนักงานในองค์กรได้ดีกว่าที่จะไม่รู้อะไรเลยแล้วรอให้พนักงานมาบอกจริงไหมครับ

          8. มีความรู้และเข้าใจในเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของแต่ละประเทศ

            เรื่องนี้เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับ HR อีกเรื่องหนึ่งเลยนะครับ ที่ HR จะต้องศึกษาเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น กฎหมายแรงงานของแต่ละประเทศ, กฎหมายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, กฎหมายเรื่องเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, ประกันสังคม, การทำเรื่องขออนุญาตทำงานในแต่ละประเทศว่ามีขั้นตอนวิธีการอย่างไร เป็นต้น

            เพราะบอกแล้วว่า HR จะต้องตอบข้อซักถามของพนักงานทั้งคนไทย และต่างชาติในปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับค่าตอบแทนและสวัสดิการ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือทั้งพนักงานไทยที่ไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน และพนักงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่มาทำงานในบ้านเราซึ่งเป็นบทบาทหน้าที่ของ HR ที่จะต้องให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือกับพนักงานในเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว ถ้า HR ยังไม่ทำความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้แล้วใครจะมาช่วยให้คำปรึกษาหรือให้ความช่วยเหลือกับพนักงานได้ล่ะครับ

            จากตรงนี้ผมเชื่อว่าท่านคงจะเห็นภาพแล้วว่าการทำงานของ HR ในยุค AEC จำเป็นจะต้องเดินออกมาจากมุมสบาย ๆ ทำงานแบบ Routine ไปวัน ๆ มาเป็นการทำงานที่จะต้อง “ถึงลูกถึงคน” และสนใจใฝ่หาความรู้ในเรื่องต่าง ๆ ให้มากขึ้นกว่าสมัยก่อนมากเลยนะครับ

          9. ระบบฐานข้อมูลบุคลากร หรือ HRIS (Human Resource Information System) เป็นเรื่องสำคัญ

            วันนี้บริษัทของท่านยังเก็บข้อมูลพนักงานด้วยกระดาษเป็นแฟ้ม ๆ ในตู้เหล็กสี่ลิ้นชักกันอยู่หรือเปล่าครับ ?

            ถ้าเป็นอย่างนั้น HR ก็ควรจะต้องคิดหาโอกาสในการเสนอฝ่ายบริหารเพื่อสร้างระบบจัดการฐานข้อมูลพนักงานโดยเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ได้แล้วครับ เพราะจะทำให้การจัดเก็บข้อมูลในลักษณะต่าง ๆ เช่น ข้อมูลทั่วไป, ข้อมูลการเลื่อนตำแหน่ง-โอนย้าย, ข้อมุลเกี่ยวกับการพัฒนาและฝึกอบรม, ข้อมูลประวัติการเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่ง, ข้อมูลการประเมินผลการปฏิบัติงาน ฯลฯ ไปจนถึงการเรียกใช้ข้อมูล และการออกรายงานตามความต้องการเพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการและตัดสินใจของฝ่ายบริหารรวดเร็วฉับไว ซึ่งถ้าหากยังเป็นระบบข้อมูลแบบกระดาษแบบเก่าอยู่กว่าผู้บริหารจะได้ข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจเรื่องอะไรก็ตามจะต้องล่าช้าอย่างแน่นอน แล้วจะไปแข่งขันกับใครเขาได้ล่ะครับ

            ผมก็ได้นำเสนอเรื่องที่คิดว่าคนที่ทำงานด้าน HR ควรจะต้องมีการเตรียมตัวอย่างไรเพื่อให้พร้อมรับกับ AEC ที่กำลังจะมาถึงในปี 2558 นี้พอสมควรแล้วนะครับ ถ้าหากจะมีอะไรนอกเหนือจากนี้ท่านก็ต้องลองไปหาข้อมูลดูจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อนำมาเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการแข่งขันระดับภูมิภาคในอนาคตอีกไม่นานนี้

            แต่ก็อย่างที่ผมบอกไว้ตอนแรกของบทความนี้นะครับว่า อยากจะให้ “ตื่นตัว” เพื่อให้พร้อมรับ แต่ไม่อยากจะให้ “ตื่นกลัว” จนเกินเหตุ

            เรื่องหนึ่งที่ผมเห็นว่าควรจะต้องปรับปรุงและพัฒนาให้เร็วที่สุดไม่ว่าจะเป็นคนที่ทำงาน HR หรือไม่ก็ตาม นั่นคือเราจำเป็นจะต้องพัฒนาทักษะการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษให้ดีขึ้นกว่านี้นะครับ เพราะจากข้อมูลของ EF Proficiency Index พบว่าทักษะการใช้ภาษาอังกฤษสำหรับประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักนั้น

ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 42 จาก 44 ประเทศครับ และภาษาอังกฤษก็ถือว่าเป็นภาษากลางที่ใช้กันทั่วโลกไม่แต่เฉพาะในอาเซียนเท่านั้น !

            ในความเห็นส่วนตัวของผมแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจะต้องหันมาให้ความสำคัญสำหรับการพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ (ที่ไม่ได้มีความหมายแค่ท่องจำศัพท์, ท่องไวยากรณ์, ผันกริยาสามช่อง ฯลฯ ได้แล้วเพียงแค่ไปสอบให้ได้คะแนนเต็มแต่ฟังและพูดกับชาวต่างชาติไม่ได้) ในทุกระดับตั้งแต่นักเรียนนักศึกษามาจนถึงคนทำงานเพื่อสร้างขีดความสามารถให้พร้อมกับการแข่งขันครับ

…………………………………….