วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

เรื่องของ “หลักกู” และ “Me too” ตอนที่ 1

             ประเทศชาติต้องมีกฎหมาย องค์กรก็ต้องมีกฎเกณฑ์กฎระเบียบอันนี้เป็นเรื่องสำคัญลำดับแรกเพราะคนมาทำงานหรือมาใช้ชีวิตอยู่รวมกันถ้าไม่มีกฎเกณฑ์กติกา ใครอยากทำอะไรก็ทำตามใจตัวเองก็จะเกิดปัญหาตามมาเยอะแยะไปหมด

            ขนาดบ้านเมืองมีขื่อมีแปมีกฎหมายก็ยังมีคนละเมิดกฎหมายให้เราเห็นกันได้ทุกวัน เช่น จอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่น, ขับรถย้อนศร, มอเตอร์ไซค์วิ่งบนทางเท้าแล้วบีบแตรไล่คนที่เดินบนทางเท้าให้หลีกทางให้, หาบเร่แผงลอยยึดพื้นที่ทางเท้าขายของแล้วให้คนต้องลงมาเดินถนน ฯลฯ

 

            ถ้าถามคนที่ทำผิดเหล่านี้ว่าเขารู้ไหมว่ามันผิด ?

 

            ผมก็เชื่อว่าเขารู้ แต่เขาก็จะหาข้ออ้างเข้าข้างตัวเองที่ฝรั่งเรียกว่า Cognitive Dissonanceเช่น เมื่อจอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่นก็จะบอกกับตัวเองว่า “จอดแป๊บเดียวคงไม่เป็นไรหรอก”

หรือ เมื่อขับรถย้อนศรก็จะมีเหตุผลว่า “ถ้าจะให้วิ่งไปกลับรถก็อีกไกลย้อนศรไปนิดเดียวจะได้ไม่เปลืองน้ำมัน” หรือหาบเร่แผงลอยไปยึดพื้นที่ทางเท้าขายของก็จะบอกกับสื่อว่า “เพราะฉันยากจน”

 

            การคิดเข้าข้างตัวเองแบบ Cognitive Dissonance นี้จะเกิดขึ้นไปกับคนทุกระดับไม่ว่าคน ๆ นั้นจะเป็นคนงานพ่อค้าแม่ขายลูกจ้างพนักงาน ไม่ยันผู้บริหารระดับองค์กรหรือประเทศชาติ

 

            สำหรับคนที่คิดเข้าข้างตัวเองแบบนี้ก็มีแนวโน้มจะใช้หลักกูเหนือกว่าหลักเกณฑ์ครับ

 

            เช่น....

 

            พนักงานที่ถูกจับได้ว่าทุจริตก็จะบอกว่าทำไปเพราะต้องหาเงินไปส่งลูกเรียน ถ้าไม่ทำอย่างนี้ลูกอาจจะต้องออกจากโรงเรียน

 

            หัวหน้างานที่เสนอให้บรรจุพนักงานทดลองงานเป็นพนักงานประจำ ทั้ง ๆ ที่พนักงานทดลองงานมาสายไม่เอาใจใส่ในงานงานผิดพลาดเยอะมาก ฯลฯ โดยให้เหตุผลว่าไม่อยากเสียเวลาไปสรรหาคัดเลือกพนักงานมาใหม่แล้วต้องมาเสียเวลาสอนงานกันอีกตั้งหลายเดือน แถมตอนนี้งานก็เยอะเดี๋ยวไม่มีคนช่วยเคลียร์งาน

 

            นี่ก็เป็นตัวอย่างของการใช้หลักกูเหนือหลักเกณฑ์

 

            วันนี้องค์กรของเรามีพนักงานและผู้บริหารที่ยึดหลักเกณฑ์หรือหลักกูในการทำงานล่ะครับ ?

 

            ถ้าคนส่วนใหญ่ยังยึดหลักเกณฑ์มากกว่าหลักกู องค์กรก็ยังคงโอเคเดินหน้าไปได้ตามปกติเพราะทุกคนปฏิบัติตามกติกา

 

            แต่ถ้าองค์กรไหนมีคนส่วนใหญ่ยึดหลักกูมากกว่าหลักเกณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารที่มีพฤติกรรมยึดหลักกู ก็ทำนายว่าองค์กรนั้นจะมีแต่พนักงานเก่าแก่ที่เขาคุ้นชินกับพฤติกรรมของฝ่ายบริหารแล้ว

 

แต่องค์กรนั้นจะไม่สามารถเก็บรักษาทั้งคนที่เข้ามาใหม่และคนที่มีความรู้ความสามารถและมีวินัยเอาไว้ได้ ถึงแม้จะมีคนดีมีฝีมือเข้ามาทำงานด้วยก็มักจะอยู่ได้ไม่นานก็ต้องลาออกไปในที่สุด

 

          เพราะศีลไม่เสมอกันน่ะสิครับ

 

            ในตอนนี้พักไว้เท่านี้ก่อนนะครับแล้วผมจะมาคุยปัญหาของหลักกูและ Me too ต่อในตอนต่อไปครับ