เรื่องนี้ก็จะเป็นตอนที่ 2 ต่อมาจากหลักกูและ Me
too ในตอนที่แล้วนะครับ
คือถ้าผู้บริหารในองค์กรไหนที่ยึดหลักกูมากกว่าหลักเกณฑ์ พนักงานก็จะมองดูและเอาตัวเองเข้าไปเปรียบเทียบในเรื่องนั้น
ๆ อยู่เสมอ
ถ้าผู้บริหารตัดสินใจเรื่องใดที่เกี่ยวกับเพื่อนของเขา เมื่อถึงทีของเขา ๆ
ต้องได้รับการปฏิบัติที่เหมือนกัน
หรือที่เรียกเล่น ๆ กันว่า “Me too” แปลว่า “กูด้วย”
เช่น เมื่อเพื่อนของเขามาทำงานสาย
แล้วหัวหน้าก็ไม่ว่ากล่าวตักเตือนอะไรเลยเพราะเพื่อนคนนี้เป็นลูกรักคนโปรดของหัวหน้า
พอถึงทีเขามาสายบ้างแล้วหัวหน้ามาตักเตือนเขาก็จะบอกกับหัวหน้าว่า
“แล้วทำไมทีเพื่อนผมมาสายพี่ถึงไม่เคยตักเตือนบ้างเลย ทำไมถึงมาเตือนแต่ผมคนเดียว
อย่างงี้พี่ก็สองมาตรฐานน่ะสิ....ฯลฯ”
หรือตัวอย่างในตอนแรกที่หัวหน้าตัดสินใจให้พนักงานทดลองงานที่มีปัญหาสารพัดผ่านการทดลองงานและให้บรรจุเป็นพนักงานประจำ
พอถึงทีของฉันหัวหน้าก็ต้องบรรจุให้ฉันเป็นพนักงานประจำด้วยเหมือนกันไม่ว่าฉันจะทำงานไม่ดียังไงหัวหน้าก็ต้องบรรจุให้ฉันด้วย
นี่เป็นตัวอย่างของหลักกูและ Me too แบบง่าย
ๆ ที่พบเห็นได้ทั่วไป
ซึ่งในกรณีนี้ถ้าหัวหน้าทำตามกติกาทำตามหลักเกณฑ์ก็คือไม่ว่าลูกน้องคนไหนมาทำงานสาย
หัวหน้าก็จะต้องเรียกมาตักเตือนตามขั้นตอนของบริษัทจากตักเตือนเป็นวาจาจนตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร
หรือถ้าใครผลงานไม่ดีก็จะต้องไม่ผ่านการทดลองงานตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทกำหนดเอาไว้
แต่พอหัวหน้าใช้หลักกู (หรือกติกู) ไม่ทำตามหลักเกณฑ์ (กติกา) แล้ว แถมหัวหน้าก็อ้างเหตุผลเข้าข้างตัวเองแบบแถ
ๆ (หรือ Cognitive Dissonance) ลูกน้องก็จะขอ “Me
too” ด้วยการเปรียบเทียบกับเพื่อนด้วยเช่นเดียวกัน
เพราะเมื่อเพื่อนได้สิทธิจากหัวหน้าตามหลักกู ฉันก็จะต้องได้สิทธินั้นบ้าง
(Me too) ถ้าฉันไม่ได้สิทธิเหมือนที่เพื่อนได้ก็แสดงว่าหัวหน้าไม่ยุติธรรม
ก็จะเกิดการพูดกันไปในวงกว้างว่าหัวหน้าสองมาตรฐาน ฯลฯ
และหลายครั้งที่เกิดเรื่องลุกลามบานปลายเกิดการประท้วงยื่นข้อเรียกร้องของพนักงานก็เพราะฝ่ายบริหารใช้หลักกู
แล้วพนักงานจะขอ Me too นี่แหละครับ
เพื่อลดปัญหาหลักกูเหนือหลักเกณฑ์และ Me too จึงจำเป็นที่หัวหน้าจะต้องทำตามกติกาทำตามหลักเกณฑ์ครับ แม้ลูกน้องอาจจะมองว่าหัวหน้าเฮี๊ยบเจ้าระเบียบ
แต่จะไม่มีใครมาว่าหัวหน้าไม่ยุติธรรมสองมาตรฐาน
และลดโอกาสที่จะเกิดปัญหาบานปลายในอนาคต
การทำตามหลักเกณฑ์นี้ผมก็ไม่ได้บอกให้หัวหน้าจะต้องเป็นทาสของหลักเกณฑ์กฎระเบียบนะครับ
!!
ถ้าหลักเกณฑ์ไหนที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัย
(อาจจะเนื่องจากหลักเกณฑ์นั้นเขียนมานานแล้ว) ก็สามารถเสนอขอแก้ไขปรับปรุง Update ได้
แต่สิ่งสำคัญคือเมื่อแก้ไขแล้วสิ่งสำคัญคือทุกคนไม่ว่าทั้งหัวหน้าหรือลูกน้องจะต้องกลับมายึดหลักเกณฑ์หรือกติกาเหมือนเดิม
เมื่อไหร่ไม่ยึดกติกาผู้คนในองค์กรก็ยังปั่นป่วนอยู่อย่างนั้นต่อไปแหละครับ
และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พนักงานที่ทำงานดีมีวินัยและทำตามหลักเกณฑ์กติกาก็จะลาออกทิ้งองค์กรไปในที่สุด
จึงสรุปตรงนี้ได้ว่าถ้าหัวหน้าหรือผู้บริหารคนไหนยังชอบใช้หลักกูก็เตรียมรับปัญหาที่จะเกิดจาก Me
too เอาไว้ด้วยตามหลักอิทัปปัจจยตา (Causes &
Effects หรือ เมื่อมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย..สิ่งนี้จึงเกิดขึ้นตามมา)
นั่นแหละครับ