ผมไปเจอกระทู้คำถามในเว็บไซด์ชื่อดังแห่งหนึ่งว่าที่บริษัทของผู้ตั้งกระทู้มีระเบียบการลาป่วยว่า กรณีที่พนักงานลาป่วยจะต้องใช้ใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลมาแสดงต่อบริษัทเท่านั้น
ถ้าพนักงานไปหาหมอที่คลีนิคจะใช้ใบรับรองแพทย์จากคลีนิคมาแสดง
บริษัทจะไม่ถือเป็นการลาป่วย
ถ้าบริษัทมีระเบียบแบบนี้ก็แสดงให้เห็นชัดเจนเลยครับว่าฝ่ายบริหารเห็นว่าใบรับรองแพทย์จากคลีนิคเชื่อถือไม่ได้
ใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลน่าเชื่อถือกว่า ??
ผมก็อยากตั้งคำถามย้อนกลับไปที่ฝ่ายบริหารที่ออกกฎระเบียบทำนองนี้เหมือนกันนะครับว่าเขาใช้ตรรกะอะไรในการคิดแบบนี้
?
เพราะแพทย์แทบทั้งหมดที่ไปตรวจรักษาที่คลีนิคก็ล้วนแต่เป็นแพทย์ที่ตรวจรักษาที่โรงพยาบาลแหละครับ
เวลาเขียนใบรับรองแพทย์ก็ใช้เลขผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์เลขเดียวกัน
พูดง่าย
ๆ ว่าหมอคนเดียวกันออกใบรับรองแพทย์ที่โรงพยาบาล บริษัทยอมรับใบรับรองแพทย์
แต่ถ้าหมอไปตรวจที่คลีนิค
บริษัทกลับบอกว่าใบรับรองแพทย์นี้ใช้ไม่ได้ ?
แค่ตรรกะความคิดก็ย้อนแย้งในตัวเองแล้วครับ
ลองมาดูเรื่องนี้กันว่ากฎหมายแรงงานบอกไว้ว่ายังไง
ตามมาตรา 32 บอกไว้ชัดเจนว่า
“....การลาป่วยตั้งแต่สามวันทำงานขึ้นไป นายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งหรือของสถานพยาบาลของทางราชการ..”
ดังนั้นจึงสรุปแบบฟันธงได้เลยว่าใบรับรองแพทย์ที่เป็นแพทย์ตัวจริงเสียงจริงใช้เป็นหลักฐานได้ทั้งหมด
บริษัทจะไปแยกเองว่าไม่รับใบรับรองแพทย์จากคลีนิคจึงขัดกฎหมายแรงงาน
บริษัทไหนที่ยังมีระเบียบที่ย้อนแย้งอย่างที่เล่ามาข้างต้นก็ควรแก้ไขใหม่นะครับ
เพราะถ้าพนักงานไปร้องเรียนแรงงานเขตหรือไปฟ้องศาลแรงงาน บริษัทก็แพ้คดีนี้แน่นอนครับ