ตรงนี้ก็คงต้องย้อนกลับมาดูหลักการลาป่วยตามกฎหมายแรงงานอย่างงี้ครับ
ตามมาตรา 32 ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า “ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง
การลาป่วยตั้งแต่สามวันทำงานขึ้นไป นายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งหรือของสถานพยาบาลของทางราชการในกรณีที่ลูกจ้างไม่อาจแสดงใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งหรือของสถานพยาบาลของทางราชการได้
ให้ลูกจ้างชี้แจงให้นายจ้างทราบ..”
การที่บริษัทออกระเบียบว่าการลาป่วยทุกครั้งจะต้องเอาใบรับรองแพทย์มาแสดงนั้นจึงมีประเด็นให้คิดว่าบางครั้งพนักงานอาจกินยาแล้วนอนพักอยู่บ้านไม่ได้ไปหาหมอ จะไปเอาใบรับรองแพทย์ที่ไหนมาล่ะ
ในขณะที่ถ้าลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไปก็น่าจะต้องไปหาหมอได้แล้ว ในมาตรา 32 ถึงได้พูดถึงว่านายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองแพทย์
แต่ถ้าพนักงานไม่ได้ไปหาหมอก็จะไม่มีใบรับรองแพทย์ก็ให้พนักงานชี้แจงเหตุผลความจำเป็นให้ทางบริษัททราบก็ได้
ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่าพนักงานที่ลาป่วยนั้น
“ป่วยจริง” หรือ “ป่วยปลอม” !!
ถ้าบริษัทพิสูจน์ทราบชัดเจนว่าพนักงาน
“ป่วยปลอม”
บริษัทก็สามารถไม่อนุมัติการลาและถือเป็นการขาดงานโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
พร้อมทั้งออกหนังสือตักเตือนและไม่จ่ายค่าจ้างในวันที่ขาดงานนั้นได้ (No work no pay)
และถ้าพิสูจน์ได้ว่าพนักงาน
“ป่วยปลอม” ตั้งแต่ 3 วันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
บริษัทก็สามารถเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้น
แต่ถ้าพนักงาน “ป่วยจริง” บริษัทก็ต้องให้พนักงานลาป่วยได้ตามที่ป่วยจริง
ปิดท้ายว่าการลาป่วยบ่อยเสียจนหย่อนสมรรถภาพในการทำงานอาจเป็นสาเหตุให้ถูกเลิกจ้างโดยได้รับค่าชดเชยก็ได้นะครับ