วันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2564

สาเหตุและแนวทางลดผลกระทบ Great Resignation หลังโควิด 19

             ต้องยอมรับกันนะครับว่าการแพร่ระบาดของโควิด 19 มาตั้งแต่ต้นปี 2563 ส่งผลกระทบกับโลกใบนี้หลาย ๆ ด้าน หนึ่งในนั้นคือมีการพยากรณ์กันว่าจะมีการลาออกครั้งใหญ่หรือ Great Resignation ของพนักงานทั่วโลก

            มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่น่าสนใจคือ

1.      กระทรวงแรงงานของสหรัฐแจ้งว่าในเดือนเมษายน 2564 มีคนลาออกจากงาน 4 ล้านคนซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก

2.      บริษัทจัดหางาน Bankrate ระบุว่า 55 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานกำลังจะหางานใหม่ภายในปีหน้า

3.      บริษัทไมโครซอฟท์บอกว่าพนักงานของตัวเอง 41 เปอร์เซ็นต์กำลังคิดจะเปลี่ยนอาชีพและ0tลาออกภายในสิ้นปี 2564

4.      บริษัท Personio (เป็นบริษัทซอฟแวร์ด้าน HR) สำรวจคนทำงานในอังกฤษและไอร์แลนด์พบว่า 38 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามวางแผนจะลาออกในอีก 6 เดือน ถึง 1 ปี

(ข้อมูลข้างต้นมาจากเว็บไซด์ workpointtoday.com วันที่ 2 กย.2564)

จากข้อมูลข้างต้นผมก็เลยมาคิดต่อว่าในเมืองไทยจะมีโอกาสเกิดปัญหาการลาออกครั้งใหญ่เหมือนข่าวในต่างประเทศหรือไม่

“ถ้า” ในบ้านเราจะมีโอกาสเกิดปัญหาดังกล่าวน่าจะมีสาเหตุมาจากเรื่องไหนบ้าง ?

ผมก็เลยสรุปสาเหตุเบื้องต้นเอาไว้อย่างนี้ครับ

1.      Mindset ของทั้งนายจ้างและลูกจ้างเปลี่ยนไป เช่น ฝั่งนายจ้างก็จะเริ่มเห็นว่าบางตำแหน่ง บางงานไม่จำเป็นต้องเข้ามาทำงานแต่สามารถให้ทำงานที่ไหนก็ได้เพียงแต่ส่งผลลัพธ์ของงานที่ต้องการมาให้เท่านั้นก็พอ

ดังนั้นเรื่องของเวลาในการเข้าทำงานหรือเข้าที่ทำงานจึงไม่ใช่เรื่องจำเป็น บริษัทก็อาจจะตกลงเปลี่ยนสภาพการจ้างใหม่กับพนักงาน

ในขณะที่ฝั่งของลูกจ้างเองก็เริ่มเคยชินกับสภาพการทำงานใหม่ที่เปลี่ยนไป รู้สึกว่าตัวเองมีอิสระมากขึ้น ได้ทำงานอะไรที่จะเป็นโอกาสใหม่ ๆ ในชีวิตมากขึ้น ก็เลยไม่อยากกลับไปใช้ชีวิตเป็นมนุษย์ Office เหมือนเดิม ก็จะเริ่มมองหาบริษัทที่ให้เงื่อนไขใหม่ ๆ นี้กับตัวเอง

2.      ลดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น ทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้างก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายของตัวเอง (ถ้ามีการเปลี่ยนสภาพการทำงานใหม่) ไปได้หลายเรื่อง เช่น ฝั่งนายจ้างจะประหยัดค่าเช่าสถานที่ทำงาน, ค่าน้ำประปา, ค่าไฟฟ้า, ค่าวัสดุสำนักงาน ฯลฯ

ส่วนฝั่งลูกจ้างจะประหยัดค่าเดินทางมาทำงาน, ค่าใช้จ่ายกินอยู่ระหว่างทำงาน แถมยังมีเวลาเหลือ (ที่ไม่ต้องหมดเวลาไปกับเดินทางไปทำงาน) มาใช้ให้เป็นประโยชน์สำหรับตัวเองและครอบครัว รวมถึงไม่ต้องมาเสียสุขภาพกับมลภาวะทั้งระหว่างการเดินทางและในที่ทำงาน (บางบริษัท) แถมมีเวลาดูแลสุขภาพของตัวเองทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้อีกต่างหาก

3.      ถูกปฏิบัติจากฝ่ายบริหารอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกฎระเบียบข้อบังคับคำสั่ง ที่เอาเปรียบพนักงานเกินควรมาแต่เดิม รวมไปถึงได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากหัวหน้าจนถึงจุดฟางเส้นสุดท้าย ก็เลยถือโอกาสช่วงโควิดนี้เปลี่ยนงานไปหาที่อื่นที่คิดว่าจะดีกว่านี้

4.      เกิดภาวะ Burnout Syndrome พนักงานที่เหนื่อยล้าจากการทำงานแบบเดิมมานานก็อาจจะเกิดภาวะที่เรียกว่าหมดไฟและหมดใจในการทำงาน (ในที่ทำงานปัจจุบัน) ที่เรียกว่า “Burnout Syndrome” ก็เลยมองหางานใหม่

5.      ตลาดแรงงานมีแนวโน้มที่จะหาคนมาทำงานด้วยสภาพการทำงานใหม่ที่เปลี่ยนไปจากเดิม จากที่ผมเล่ามาข้างต้นว่าจากสถานการณ์โควิดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับ Mindset ในการทำงานไม่ว่าจะเป็นฝั่งนายจ้างหรือลูกจ้าง ซึ่งทางฝั่งของบริษัทหลายแห่งก็จะมีการเปลี่ยนนโยบายในการรับคนเข้าทำงานที่ไม่ต้องเข้าที่ทำงานทุกวันและมีการยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้นซึ่งก็ตรงกับความต้องการของลูกจ้าง จึงเป็นโอกาสของคนที่จะเริ่มมองหางานในวิถีการทำงานแบบใหม่อย่างที่ตัวเองคาดหวังเพิ่มขึ้น

แล้วจะลดผลกระทบเรื่องนี้ได้ยังไง ?

1.      ทบทวนนโยบายที่ไม่เป็นธรรม บริษัทควรตรวจสอบดูว่ามีนโยบายใดบ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือผิดกฎหมายแรงงาน เช่น การออกกฎ ระเบียบ คำสั่งข้อบังคับ การทำสัญญา ประกาศ ฯลฯ ถ้ามีนโยบายที่ไม่เป็นธรรมกับพนักงาน หรือเอาเปรียบมากเกินไปก็ต้องปรับปรุงแก้ไขเสียใหม่

2.      แก้ไขปัญหาที่ตัวหัวหน้าเพื่อลดการลาออก โดยสำรวจดูว่ามีหัวหน้า/ผู้บริหารในหน่วยงานไหนที่ขาดทักษะในการบริหารลูกน้อง มีการปฏิบัติกับลูกน้องอย่างไม่เป็นธรรม มีปัญหาด้าน ทัศนคติ EQ, Leadership แล้วทำแผนหาทางพัฒนาหัวหน้า/ผู้บริหารที่มีปัญหาเหล่านี้

เรื่องนี้จากประสบการณ์ผม ผมเห็นว่าแม้จะเป็นเรื่องไม่ง่ายในการแก้ปัญหานี้ แต่ถ้าผู้บริหารระดับสูงรู้ปัญหาแล้วยังหลับตาข้างหนึ่ง หรือยังปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ ยังไม่แก้ไขนี้อย่างจริงจังก็จะเกิดปัญหาแบบเดิม ๆ วนเวียนไม่จบสิ้น เพราะสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้คนตัดสินใจลาออกก็คือหัวหน้าครับ

ผู้บริหารระดับสูงจึงต้องกล้า Feedback ตัวปัญหาและหาทางแก้ไขแบบจริงจัง

3.       ทบทวนวิธีการทำงานใหม่ โดยมุ่งผลลัพธ์ของงานเป็นหลักมากกว่าการลงเวลามาทำงาน งานไหนที่จะ WFH ได้ งานไหนที่ควรจะ Outsource ออกไป จะปรับเปลี่ยนระบบหรือวิธีการทำงานแบบไหนถึงจะเหมาะกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เรื่องนี้ฝ่ายบริหารต้องมาวิเคราะห์ลักษณะของงานในองค์กรร่วมกันแบบแยกแยะความแตกต่างของแต่ละตำแหน่งงาน ไม่ควรมองแบบองค์รวม แล้วหาข้อสรุปเกี่ยวกับวิธีการทำงานใหม่ร่วมกัน

4.      ทบทวนระบบค่าตอบแทนและสวัสดิการให้สอดคล้องกับวิถีใหม่ เช่น ความแตกต่างระหว่างการจ่ายค่าตอบแทนคนที่เข้าทำงานตามปกติ, คนที่ทำงานแบบ WFH, คนที่ทำงานแบบ Outsource ฯลฯ จะมีระบบการจ่ายแบบไหน ยังไง มีเงื่อนไขอะไรบ้าง หรือวิธีการประเมินผลงานเพื่อการขึ้นเงินเดือน, การปรับเงินเดือน, การจ่ายโบนัสของคนแต่ละกลุ่มควรทำอย่างไร เป็นต้น

5.      สำรวจปัญหาในองค์กรที่จะทำให้พนักงานเกิด Burnout แล้วหาทางแก้ไข

ทั้งหมดนี้หวังว่าจะเป็นไอเดียให้กับท่านที่กำลังวางแผนรับมือกับการทำงานแบบ Next Normal เพื่อนำไปปรับใช้กันดูนะครับ