วันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2562

สัจธรรมเกี่ยวกับการประเมินผลการปฏิบัติงาน


            ทุกบริษัทคงจะต้องมีการประเมินผลการปฏิบัติงานกันเป็นปกติอยู่แล้ว และก็มักจะนำผลการปฏิบัติงานมาใช้ในการบริหารงานบุคคลอีกหลาย ๆ เรื่อง เช่น นำมามีผลกับการขึ้นเงินเดือนประจำปี, การจ่ายโบนัส, การเลื่อนตำแหน่ง, การปรับเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษ, การพัฒนาพนักงาน ฯลฯ

            ระบบการประเมินผลที่ใช้กันอยู่ก็จะมีหลาย ๆ รูปแบบ เช่น บางบริษัทก็ยังใช้ระบบวิธีการประเมินแบบจิตสัมผัส (Rating Scale) บางแห่งก็ใช้ระบบ Balanced Scorecard (BSC) มีตัวชี้วัดแบบ KPIs (Key Performance Indicators) หรือมีตัววัดผลงานแบบ KPIs แต่ไม่ใช่ BSC ก็มี 

         บางแห่งก็กำลังอยากจะตามกระแสในปัจจุบันคือไม่มี KPIs แล้วเปลี่ยนมาเป็น OKRs (Objectives and Key Results) ดีกว่าจะได้ไม่ตกกระแส ก็ว่ากันไปนะครับ

            แต่เรื่องที่ผมจะแชร์ในวันนี้เพียงแค่อยากจะให้คนที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลงานได้ย้อนกลับมาดูสัจธรรมในการประเมินผลแบบ Back to the basic ที่มักเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาในการประเมินผลการปฏิบัติงานและทำให้เกิดดราม่าในการทำงานระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง

            ซึ่งอาจจะเป็นข้อคิดสำหรับผู้บริหารที่มองแต่เพียงว่าปัญหาอยู่ที่ตัวระบบหรือตัวเครื่องมือโดยไม่มองปัญหาหลักที่ทำให้ระบบเกิดปัญหา จะได้กลับมาคิดใหม่และแก้ปัญหาให้ตรงจุดมากขึ้น

            ลองดูรูปข้างล่างนี้สิครับ

            ภาพหนึ่งภาพแทนคำพูดเป็นร้อยคำ

          จึงสรุปได้ว่าต่อให้ระบบ/เครื่องมือ/วิธีการประเมินผลจะเลิศเลอเพอเฟ็คยังไงก็ตาม สุดท้ายคือถ้าผู้ประเมิน “ไม่ดี” หมายถึง ผู้ประเมินไม่ยุติธรรม, ไม่เที่ยงตรง, เลือกที่รักมักที่ชัง, ไม่เข้าใจระบบ วิธีการ และเครื่องมือในการประเมินที่ดีพอ, มีอคติทั้งกับตัวลูกน้องหรือมีอคติกับระบบหรือเครื่องมือในการประเมิน, ไม่ร่วมมืออย่างจริงจังในการประเมิน ฯลฯ

          ก็จะทำให้การประเมินผลการปฏิบัติงานเกิดปัญหาขึ้นได้อยู่เสมอ!!

            ต่อให้บริษัทจะพยายามเปลี่ยนระบบ หรือเปลี่ยนเครื่องมือตลอดจนวิธีการประเมินยังไงก็ตาม ผลก็คือยังเกิดปัญหาจากการประเมินผลงานอยู่นั่นเอง!!

             ตรงนี้ผมเลยอยากจะฝากข้อคิดสำหรับผู้บริหารองค์กรไว้ว่า....

            ก่อนที่จะคิดเปลี่ยนระบบ เปลี่ยนเครื่องมือ หรือเปลี่ยนวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานจากเดิมไปสู่ระบบใหม่ ๆ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีต้นทุนในการเปลี่ยนอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นการจ้างที่ปรึกษาเข้ามาวางระบบให้ หรือการจ้างวิทยากรมาสอนระบบประเมินใหม่ ๆ ก็ตาม

          ลองหันกลับมาหาทางแก้ไขหรือพัฒนาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ประเมินให้ดีเสียก่อนจะดีไหมครับ

            เช่น การพิจารณาเลื่อนตำแหน่งคนขึ้นมาเป็นผู้บริหารในระดับใดก็ตามควรมีการพิจารณาในเรื่องของภาวะผู้นำ, ทัศนคติในการทำงาน, การควบคุมอารมณ์ รวมถึง People Skill ประกอบด้วย แทนที่จะพิจารณาเฉพาะคนที่เก่งงานด้าน Technical Skill เพียงอย่างเดียว หรือไม่ควรเลื่อนตำแหน่งให้กับคนที่ทำงานมานานเพียงอย่างเดียวแต่ขาดความสามารถด้าน People Skill

            รวมไปถึงการพัฒนาพนักงานตั้งแต่ระดับ Operation ให้มีความพร้อมในเรื่อง People Skill สำหรับการก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้างานหรือเป็นผู้บริหารตั้งแต่ระดับต้น ๆ และมีความพร้อมที่จะก้าวต่อไปตาม Career Path ในอนาคต

            สื่อสารให้ผู้ประเมินเข้าใจถึงหลักการ, วิธีการ, ระบบ, เครื่องมือการประเมินให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันเสียก่อนเพราะจะเจอหลายครั้งที่ผู้บริหารระดับบน ๆ เข้าใจเครื่องมือและวิธีการกำหนด KPIs แต่พอมีการสื่อสารถ่ายทอดลงมายังผู้บริหารระดับล่าง ๆ ก็เกิดความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนไม่ตรงกัน หรือบางแห่งแม้แต่ผู้บริหารเองก็ยังไม่เข้าใจระบบหรือเครื่องมือประเมินอย่างถ่องแท้เลยก็เอามาใช้ให้เกิดความสับสนกันมากขึ้นไปอีก

            เพราะสัจธรรมในเรื่องนี้คือ..

          ถ้าผู้ประเมินดีมีคุณภาพแล้ว ไม่ว่าจะใช้ระบบหรือเครื่องมือวิธีการใดในการประเมินผลก็จะมีคุณภาพตามไปด้วยเสมอ

          แต่ถ้าผู้ประเมินไม่มีคุณภาพแล้ว แม้บริษัทจะลงทุนไปในระบบใดไปเท่าไหร่ก็ตาม ผลการประเมินก็ยังคงมีปัญหาอยู่อย่างนั้นแหละครับ การเปลี่ยนเครื่องมือหรือวิธีการประเมินก็จะเป็นเพียงเหล้าเก่าในขวดใหม่เท่านั้นเอง

            ฝากไว้ให้คิดนะครับ

………………………….