อันที่จริงผมเคยเขียนเรื่อง
“รู้เขา-รู้เราด้วย D I S C” ไปเมื่อหลายปีที่แล้วรวม 4
ตอน แต่เมื่อผมนำมาอ่านทบทวนดูแล้วก็เห็นว่ายังมีเนื้อหาที่น่าจะปรับปรุงแก้ไขใหม่ให้ดีมากขึ้นก็เลยนำทั้ง
4 ตอนมาแก้ไขแล้วเรียบเรียงใหม่เป็น 5 ตอนเพื่อให้ละเอียดมากยิ่งขึ้น
ซึ่งผมจะค่อย ๆ ทะยอยนำมาลงไปทีละตอนนะครับ
หากผมจะถามท่านว่า “ท่านเคยประสบปัญหาในการพูดจา ติดต่อสื่อสาร หรือทำงานประสานงานกับผู้คนบ้างหรือไม่
?” คงจะมีน้อยคนนะครับที่ตอบว่าไม่เคยมีปัญหาลองคิดดูง่าย ๆ
ว่าแม้แต่ภายในครอบครัวเดียวกัน บางครั้งยังเกิดการกระทบกระทั่งไม่เข้าใจกันเพราะการพูดจาก็มีให้เห็นอยู่
นับประสาอะไรกับการทำงานท่านก็จะต้องมีการพูดจาติดต่อสื่อสาร
หรือประสานงานซึ่งกันและกัน ซึ่งบางครั้งท่านก็สามารถประสานงานกันได้ราบรื่น
แต่หลายครั้งที่ท่านเกิดปัญหาตลอดจนมีความขัดแย้งกับผู้คนที่ท่านจำเป็นจะต้องประสานงานด้วย
อย่างที่โบราณเขาเรียกว่า “ศรศิลป์ไม่กินกัน” ยังไงล่ะครับ
แต่ถ้าจะถามว่าสาเหตุของศรศิลป์ไม่กินกันน่ะมันเป็นเพราะอะไรล่ะ
? ชักจะตอบได้ยากขึ้นแล้วใช่ไหมครับ เพราะท่านก็จะมองอีกฝ่ายหนึ่งในมุมของท่านแล้วสรุปรวดรัดว่าเขาไม่เข้าใจในสิ่งที่ท่านพูดเพราะเป็นอย่างงั้นอย่างงี้
ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็จะมองและคิดกับท่านในทำนองเดียวกัน
ยิ่งหากไม่พยายามค้นหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดการกระทบกระทั่งซึ่งกันและกัน
แถมต่างฝ่ายต่างยึดมั่นถือมั่นในหลักการ ความคิด ความเชื่อ ฯลฯ ของตัวเองแล้ว
ปัญหานั้นก็มีแต่จะบานปลายหนักขึ้นจนถึงขั้นทำลายล้างกันไปข้างหนึ่งก็มีให้เราเห็นได้บ่อย
ๆ ไปนะครับ
อะไรเป็นสาเหตุของความไม่เข้าใจกันล่ะครับ
?
จากที่ผมพูดมาข้างต้น
จึงมีการศึกษาถึงความแตกต่างกันของคน โดยนักจิตวิทยาที่ชื่อ Dr.William Moulton
Marston
แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดโดยเขียนเป็นหนังสือที่ชื่อ The
Emotions of Normal People และจำแนกคนเราออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ
ได้ 4 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทไม่มีประเภทใดที่ดีที่สุด
หรือแย่ที่สุด ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์และการปรับตัวเองตามแบบของตนเอง
และนี่เองครับจึงเป็นที่มาของคำว่า
D I S C ที่เราจะพูดถึงกันในวันนี้
ภูเขาน้ำแข็งกับพฤติกรรมของคน
ท่านคงเคยได้ยินคำว่า “ภูเขาน้ำแข็ง” หรือ Iceberg กันมาบ้างแล้ว
และหลายท่านคงทราบว่าเจ้าภูเขาน้ำแข็งที่ผมพูดถึงนี้จะมีส่วนน้อยที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา ในขณะที่ส่วนใหญ่ของภูเขาน้ำแข็ง (ประมาณ 9
ใน 10 ส่วน) จมซ่อนอยู่ใต้น้ำ
ทำนองเดียวกันเราจะรู้จักคนเพียงผิวเผินเฉพาะส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็ง
แต่จริง ๆ แล้วยังยังมีส่วนที่ยังไม่รู้เกี่ยวกับคนที่ซ่อนอยู่อีกตั้งเยอะ
หรือเรียกว่ารู้หน้าไม่รู้ใจตามรูปนี้ครับ
ส่วนที่ท่านจะพบเห็นได้ชัดคือส่วนที่
(1) ใช่ไหมครับเพราะเป็นสิ่งที่วัดได้จับต้องสัมผัสได้
แต่ส่วนที่ (2) เป็นสิ่งที่ต้องใช้การสังเกตหรือการค้นหาที่ต้องใช้เวลานานกว่าส่วนที่
(1) เพื่อที่จะยืนยันได้ว่าเป็นเช่นนั้นจริง ๆ
เมื่อท่านอ่านเรื่องนี้จนจบท่านจะได้แนวทางในการสังเกต
และพอจะบอกได้ว่าพฤติกรรมของผู้สมัครงานคนนั้น ๆ น่าจะเป็นอย่างไร
ธรรมชาติของมนุษย์
สังเกตไหมครับว่าเวลาที่เราอยู่ที่บ้านเราทำตัวอย่างไร
และเมื่อเราต้องมาสวมหัวโขนอยู่ในที่ทำงาน เราทำตัวเหมือนอยู่ที่บ้านหรือไม่ ?
เช่น...
อยู่ที่บ้านเราอาจจะสวมเสื้อยืด
นุ่งกางเกงขาสั้นแบบสบาย ๆ เดินออกไปรอบ ๆ บ้าน
หรือไปซื้อของที่ตลาดก็สวมรองเท้าแตะไป
แต่พอมาอยู่ที่ทำงานเราอาจจะต้องแต่งตัวให้ดูดีดูเหมาะสม
ฯลฯ
หลาย ๆ คนก็จะอึดอัดถ้าเราเป็นคนชอบแต่งตัวตามสบาย
หลายคนที่สมัยเรียนหนังสือก็ใส่เสื้อนุ่งยีนส์ไปเรียน
ไม่เคยผูกเน็คไท แต่วันแรกที่ต้องไปสัมภาษณ์งานก็ต้องผูกไท ก็ต้องให้รุ่นพี่
(ที่จบไปทำงานก่อนหน้า) สอนให้เพราะผูกไม่เป็น แถมเมื่อทำงานก็ยังต้องผูกเน็คไทอยู่ทุกวันทั้งที่รู้สึกอึดอัดเพราะความไม่เคยชิน
นี่ไงครับชีวิตที่แตกต่างกันระหว่างที่บ้านหรือเวลาที่เป็นส่วนตัวของเรากับที่ทำงาน
จากที่ผมพูดมาทั้งหมดนี้เพื่อที่จะให้ท่านได้ทบทวนภาพของคน
และพฤติกรรมของคนที่แตกต่างกันตามพื้นฐาน หรือพื้นเพที่แตกต่างกันไป
ซึ่งจะสะท้อนถึงความเก่งหรือความสามารถทั้งทางทักษะฝีมือ
และความสามารถทางอารมณ์ที่แตกต่างกันไปด้วย
ซึ่งเจ้า “ความเก่ง” ที่ผมพูดถึงนี้มักจะเป็นทักษะทางธรรมชาติที่ไม่เหมือนกับการเรียนเลข
เรียนภาษา หรือความรู้อื่น ๆ
ซึ่งทุกท่านก็ใช้ทักษะหรือความเก่งเฉพาะตัวนี้ในการทำงาน
หรือในชีวิตประจำวันอยู่ทั้งโดยที่รู้ตัวและโดยไม่รู้ตัว
ทักษะความสามารถที่ท่านใช้อยู่ทุก ๆ
วันในการโต้ตอบ ตัดสินใจ แก้ไขปัญหาต่าง ๆ
ในชีวิตประจำวันที่ผมพูดถึงนี้แหละครับที่คุณ William Marston บอกว่ามันเป็นสไตล์
(Style) ของแต่ละบุคคลและแกก็ได้ค้นคว้าและเขียนเป็นหนังสือที่ชื่อ
The Emotions of Normal People ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า
D I S C ที่ผมนำมาเล่าให้ท่านฟังในเบื้องต้นนี้ไงล่ะครับ
วันนี้หมดเนื้อที่พอดี
ขอยกยอดให้ท่านติดตามตอนต่อไปนะครับ.....
…………………………………………….