วันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

สิ่งที่ลูกจ้างไม่ควรทำกับนายจ้างมีอะไรบ้าง

            ผมเคยเขียนเรื่องที่นายจ้างไม่ควรปฏิบัติกับลูกจ้าง หรือสิ่งที่หัวหน้า/ผู้บริหารไม่ควรปฏิบัติกับลูกน้องมาก็หลายครั้งจนกระทั่งดูเหมือนกับว่าฝ่ายลูกจ้างหรือฝ่ายลูกน้องเปรียบเหมือนพจมาน สว่างวงศ์ที่อยู่ในบ้านทรายทองแล้วถูกหญิงแม่หญิงใหญ่ใจร้าย (ซึ่งก็เปรียบเสมือนกับนายจ้าง) คอยข่มเหงพจมานอย่างไม่เป็นธรรมยังงั้นแหละ

            แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว ลูกจ้างหรือลูกน้องไม่ได้ดีเลิศประเสริฐศรีไม่มีที่ติเหมือนพจมาน สว่างวงศ์ที่จะถูกนายจ้างหรือหัวหน้าข่มเหงรังแกแต่เพียงฝ่ายเดียวซะเมื่อไหร่

           เรียกว่าต่อว่าฝ่ายนายจ้างมาเยอะแล้ว ก็ต้องย้อนกลับมาว่าฝ่ายลูกจ้างบ้างสิ

            เรามาดูกันไหมล่ะครับว่าพฤติกรรมแย่ ๆ อะไรบ้างที่ลูกจ้างทำไว้กับนายจ้าง

1.      ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการหาข้อผิดพลาดหรือขุดเอาเรื่องที่เป็นข้อเสียของหัวหน้าหรือผู้บริหารแล้วก็เอามานินทาว่าร้ายหรือมาด่าให้เพื่อนร่วมงานฟังได้ทุกวัน แถมเรื่องที่เอามาด่าหรือนินทาเป็นเรื่องที่ “เขาว่า” บ้าง หลายครั้งก็เป็นเรื่องที่ลูกน้องคิดไปเอง มโนไปเองบ้าง แทนที่จะเอาเวลาเหล่านี้ไปทำงานกลับเสียเวลาไปกับการเม้าท์เรื่องของหัวหน้า (หรือผู้บริหาร) เม้าท์บริษัทซึ่งนินทาไปแล้วก็ไม่มีอะไรที่ดีขึ้น หลายครั้งก็นินทาเรื่องเดิม ๆ ซ้ำซากเหมือนพายเรือวนในอ่าง

2.      ยักยอกทรัพย์สินบริษัทมาใช้ส่วนตัว เช่น เอาเครื่องเขียนปากกาดินสอกระดาษของบริษัทกลับไปให้ลูกใช้, แบ่งเอากาแฟของบริษัทกลับไปกินที่บ้าน, ผู้บริหารบางคนเบิกค่าเลี้ยงรับรองแต่เอาไปกินข้าวในครอบครัวแทนที่จะเป็นการเลี้ยงรับรองลูกค้า, เติมน้ำมันรถให้เมียแต่ไปเบิกในชื่อของพนักงาน ฯลฯ

3.      อู้งาน, เฉื่อยงาน, ลาป่วยเป็นนิจลากิจไปเที่ยวอยู่เป็นประจำ พูดง่าย ๆ คือไม่สนใจที่จะรับผิดชอบงานที่จะต้องทำ คอยดูปฏิทินแค่ว่าเมื่อไหร่จะมีวันหยุดยาว ๆ จะได้ไม่ต้องมาทำงาน (แต่ต้องไม่ลืมว่าบริษัทก็ต้องจ่ายเงินเดือนในวันที่พนักงานหยุดไม่มาทำงานนะครับ) ถ้าเดือนไหนไม่มีวันหยุดยาว ๆ เช่นในเดือนมิถุนายน หรือกันยายน ก็หาทางหยุดโดยวิธีมาตรฐานคือ “ลาป่วย” ทั้งที่ไม่ได้ป่วยจริง คือพูดง่าย ๆ ว่าขอให้ฉันได้มีวันหยุดพักในแต่ละเดือน (นอกเหนือจากวันหยุดประจำสัปดาห์หรือวันหยุดประเพณี) ก็แฮปปี้แล้ว แต่พอถึงตอนปลายปีฉันขอขึ้นเงินเดือนประจำปีและขอโบนัสต้องไม่น้อยกว่าคนอื่นนะ

4.      ทำตัวเป็นมาเฟียเป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่เป็นขาใหญ่สร้างอิทธิพลในองค์กร เช่น มีพฤติกรรมเป็นนักเลง กิริยาวาจาก้าวร้าว ข่มขู่ใครก็ตามที่เข้ามาขัดผลประโยชน์ของตัวเองในองค์กร

5.      ใช้บริษัทเป็นที่ประกอบอาชีพเสริมรวมถึงใช้อุปกรณ์ของบริษัทเช่น โทรศัพท์, คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ในการประกอบอาชีพเสริมในเวลางาน เช่น พนักงานบางคนมีอาชีพเสริมคือขายเครื่องสำอางค์, ขายเสื้อผ้า, ครีม, อาหารเสริมสุขภาพ ฯลฯ ก็อาศัยเวลางานนั้นแหละครับในการอัพเฟซบุ๊ครีวิวสินค้า หรือติดต่อขายของกับลูกค้าแล้วทำงานประจำเหมือนกับงานอดิเรก

6.      เรื่องนี้สืบเนื่องมาจากข้อ 5 แต่เป็นอาชีพเสริมที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย เช่น บางคนก็รับแทงหวย (เผลอ ๆ รับเป็นเจ้ามือหวยอีกต่างหาก) เป็นโต๊ะบอล, ปล่อยเงินกู้นอกระบบ ฯลฯ แล้วก็ใช้เวลางานและอุปกรณ์ของบริษัทในการติดต่อลูกค้าเช่นเดียวกับข้อ 5 แหละครับ

7.      เอาเปรียบบริษัทแบบตอดเล็กตอดน้อย เช่น ต้องไปติดต่องานนอกสถานที่ค่าแท็กซี่ตามจริงคือ 200 บาท แต่กลับมาก็เขียนเบิก 250 บาท หรือผู้บริหารบางคนเมื่อถึงเวลาที่จะต้องคืนรถยนต์ประจำตำแหน่งและรับรถยนต์คันใหม่มาใช้ แทนที่จะคืนรถยนต์คันเก่าภายใน 7 วันตามระเบียบบริษัท ก็กลับทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้แล้วนำรถประจำตำแหน่งคันเก่าไปให้ภรรยาใช้ต่ออีก 6 เดือนค่อยคืนรถคันเก่ากลับมา แล้วก็เบิกค่าซ่อมบำรุงรถและค่าน้ำมันสำหรับทั้งรถประจำตำแหน่งทั้งคันใหม่และคันเก่า

8.      ได้ทุนของบริษัทให้ไปเรียนต่อโดยบริษัทคาดหวังว่าเมื่อเรียนจบแล้วจะกลับมาทำงานทำประโยชน์ให้กับบริษัท ซึ่งบางบริษัทก็ไม่ได้ให้เซ็นสัญญาเพราะถือว่าซื้อใจกันแบบสัญญาใจ แต่พอพนักงานเรียนจบก็กลับยื่นใบลาออกไปทำงานที่อื่น ทำให้ฝ่ายบริหารมีนโยบายในการจับพนักงานเซ็นสัญญาใช้ทุนสำหรับพนักงานรุ่นต่อ ๆ มา

9.      ใช้ทรัพยากรของบริษัทแบบทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ เช่น เบิก Stationary ก็เบิกกันแบบเผื่อเหลือหลายครั้งที่ผมเคยเจอการสั่งซื้อสั่งทำแบบฟอร์มที่ใช้ในงานที่มากเกินความจำเป็น และหลังจากสั่งซื้อมาได้ไม่นานก็มีการเปลี่ยนแบบฟอร์มใหม่ทำให้แบบฟอร์มเดิมต้องทิ้งไปอย่างน่าเสียดายเพราะพนักงานคิดว่านั่นเป็นเงินของบริษัทไม่ใช่เงินของตนเอง อันนี้รวมไปถึงไม่ช่วยกันเป็นหูเป็นตาในเรื่องการประหยัดค่าไฟฟ้า, น้ำประปาให้กับบริษัทเพราะถือว่าไม่เกี่ยวกับฉัน

10.   ได้งานใหม่ก็ยื่นใบลาออกวันนี้แล้วมีผลวันพรุ่งนี้ทันที เพราะไปรับปากที่ใหม่เอาไว้ว่าจะไปเริ่มงานได้ทันที โดยไม่สนใจว่าบริษัทจะมีระเบียบเอาไว้ยังไง บริษัทจะหาคนมาทดแทนรับมอบโอนงานได้ทันหรือไม่ บริษัทจะมีความเสียหายอะไรบ้างในการลาออกแบบกระทันหันแบบนี้

ที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นนี้เป็นเพียงพฤติกรรมบางส่วนที่ผมนึกออกหรือเคยเจอมา ถ้าลูกจ้างหรือพนักงานยกพฤติกรรมของนายจ้างหรือฝ่ายบริหารว่าทำอย่างนั้นอย่างนี้ไม่เหมาะสม ฝ่ายลูกจ้างหรือพนักงานก็ต้องหันกลับมาทบทวนดูตัวเองด้วยเหมือนกันว่าพฤติกรรมที่ผมยกมานี้มันเหมาะสมและยุติธรรมกับนายจ้างหรือผู้บริหารหรือไม่เช่นเดียวกัน

            ฝากไว้ให้คิดดูนะครับ


………………………………………….