ทุกคนที่ทำงานก็ล้วนแต่อยากจะได้รับการปรับเงินเดือนให้เพิ่มมากขึ้นกันทั้งนั้นจริงไหมครับ
หรือถ้าใครไม่อยากได้รับการปรับเงินเดือนเพิ่มก็ขอให้ยกมือขึ้น
:-)
ถ้าจะถามว่า “เงินเดือนมีองค์ประกอบอะไรบ้าง?”
ในมุมมองของผม
เงินเดือนก็จะมีสมการง่าย ๆ แบบนี้ครับ....
เงินเดือน = P+C
P=Performance
คือผลการปฏิบัติงานในอดีตที่ผ่านมาว่าพนักงานคนนั้น ๆ
มีผลการปฏิบัติงานดีหรือไม่ดีอย่างไรบ้าง ซึ่งแต่ละคนก็จะถูกประเมินผลงานโดยหัวหน้างานซึ่งปัจจุบันแต่ละบริษัทก็จะมีระบบการประเมินผลงานทั้งแบบมีตัวชี้วัด
(KPIs) และไม่มีตัวชี้วัด (ประเมินผลงานโดยใช้แบบฟอร์มสำเร็จรูป) C=Competency คือสมรรถนะหรือความสามารถของพนักงานแต่ละคนว่ามี
K S A ในตัวเองเหมาะกับงานที่ตนเองต้องรับผิดชอบมาก-น้อยแค่ไหนซึ่งK
S A ก็คือ....
ความรู้ในงานที่ทำ
(Knowledge) หมายถึง
พนักงานมีความรู้ในงานที่จะต้องปฏิบัติมาก-น้อยแค่ไหน ซึ่งความรู้ในงานนี้ไม่ใช่ความรู้ที่จบคุณวุฒิปริญญาอะไรมา
หรือไม่ใช่เรื่องของวุฒิบัตรที่ผ่านการอบรมหลักสูตรอะไรมา แต่เป็นความรู้ในเนื้องานที่จะต้องปฏิบัติแบบรู้ลึกรู้จริงอย่างที่หน่วยงานนั้น
ๆ ต้องการ
ทักษะในงานที่ทำ
(Skills) หมายถึง
พนักงานจะต้องมีความสามารถในการลงมือปฏิบัติงานที่รับผิดชอบได้จริง
ซี่งสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้เกิดความชำนาญในงานที่ทำอย่างที่หน่วยงานนั้น ๆ
ต้องการ
คุณลักษณะภายในหรือนิสัยที่สอดคล้องกับงานที่ทำ
(Attributes) หมายถึง คุณลักษณะส่วนบุคคลเป็นอุปนิสัยใจคอหรือสิ่งที่เป็นตัวตนของคน
ๆ นั้น เช่น การเป็นคนที่มีทัศนคติเชิงบวก, มีความอดทน, ความขยันขันแข็ง, ความละเอียดรอบคอบ,
ความรับผิดชอบ, มีความมุ่งมั่น, มีจิตสำนึกในการบริการ, มีความซื่อสัตย์ ฯลฯ
ซึ่งท่านจะเห็นได้ว่าคุณลักษณะภายในเหล่านี้จะค่อนข้างเป็นนามธรรมและเป็นอุปนิสัยของแต่ละคน
ซึ่งต้องใช้เวลาทำงานร่วมกันหรือใช้ชีวิตร่วมกันพอสมควรถึงจะเริ่มเห็นว่าคน ๆ
นั้นมีคุณลักษณะภายในเป็นยังไง เหมาะสมกับตำแหน่งงานนั้น ๆ หรือไม่
เป็นคนดีจริงหรือไม่
ซึ่ง Competency เป็นเรื่องของปัจจุบันและอนาคตของแต่ละคน นั่นคือองค์กรคาดหวังว่าในวันนี้พนักงานอาจจะยังมี
K S A อยู่เท่านี้ แต่ในอนาคตองค์กรและหัวหน้างานก็คาดหวังจะให้พนักงานพัฒนาขีดความสามารถใน
K S A ให้เพิ่มมากขึ้นหรือให้เก่งมากขึ้นกว่านี้
จาก P+C นี่แหละครับจึงเป็นที่มาของการจ่ายเงินเดือนของทุกองค์กร
ผมยกตัวอย่างเช่น....
วันนี้บริษัทจะสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกผู้สมัครงานเข้ามาทำงาน
ผู้สัมภาษณ์ก็จะต้องดูว่าผู้สมัครงานคนไหนที่มีผลการปฏิบัติงาน (Performance) ในอดีตเป็นยังไง มีประสบการณ์ทำงานทำอะไรสำเร็จเป็นรูปธรรมมาบ้าง
(แม้แต่ผู้สมัครงานที่เพิ่งจบใหม่บริษัทก็ยังต้องดู Portfolio เลยว่าเคยมีผลงานทำกิจกรรมในตอนเรียนที่เหมาะกับตำแหน่งงานที่เปิดรับมากน้อยแค่ไหน)
กรรมการสัมภาษณ์ก็ยังต้องประเมินอีกว่าผู้สมัครรายไหนมีความรู้ในงาน
(Knowledge)
มีทักษะในงาน (Skills) ที่จะต้องปฏิบัติในตำแหน่งงานที่สมัครมามาก-น้อยกว่ากัน
และยังต้องดูว่าผู้สมัครงานรายไหนที่มีคุณลักษณะภายใน (Attributes) หรือลักษณะนิสัยที่สอดคล้องเหมาะสมกับตำแหน่งงานนั้น ๆ
เมื่อบริษัทเปรียบเทียบผู้สมัครงานและตัดสินใจคัดเลือกผู้สมัครงานที่เหมาะสมกับตำแหน่งงานนั้นแล้ว
จึงมาพิจารณาอัตราเงินเดือนที่เหมาะสมตาม P+C ของผู้สมัครงานคนนั้น ๆ
เมื่อเข้ามาเป็นพนักงานและทำงานไปจนถึงช่วงที่บริษัทจะต้องพิจารณาขึ้นเงินเดือนประจำปี
บริษัท (หรือหัวหน้างานนั่นแหละครับ) ก็จะพิจารณาขึ้นเงินเดือนประจำปีโดยประเมินจาก
P+C อีกเช่นเดียวกัน
เมื่อถึงเวลาที่จะพิจารณาเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่ง
บริษัทก็จะพิจารณาปรับเงินเดือนให้กับพนักงานที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งด้วยหลัก P+C อีกนั่นแหละ
นี่ผมพูดรวมไปถึงการปรับเงินเดือนพนักงานที่มีความโดดเด่นเป็นกรณีพิเศษ (Talent)
ก็อยู่ในหลัก P+C ด้วยเหมือนกันนะครับ
ผมหวังว่าเมื่อพูดมาถึงตรงนี้แล้ว
ท่านคงจะต้องมองย้อนกลับมาที่ตัวของท่านเองและประเมินตัวเองอย่างตรงไปตรงมาว่าในตอนนี้ตัวของท่านมี
P และ C (หรือ K S A) อยู่ในระดับไหน
เราลองมาดูสมการนี้อีกสักครั้งนะครับ
เงินเดือน = P+C
ถ้าใครอยากได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นก็ต้องเพิ่ม
P และ C ในตัวเอง
ถ้า P หรือ
C เท่าเดิม เงินเดือนก็จะถูกปรับขึ้นน้อยในแต่ละปี ดูง่าย ๆ
ก็คือคนที่ทำงานไปแล้วก็ได้รับการขึ้นเงินเดือนประจำปีไปประมาณปีละ 5 เปอร์เซ็นต์ไปเรื่อย ๆ นี่แหละครับคือ P และ C
ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหรือเพิ่มขึ้นน้อย
คน ๆ นั้นก็จะต้องทำใจว่าจะถูกคนรุ่นหลังรุ่นน้องที่เข้ามาใหม่มีเงินเดือนจี้ติดหลังหรืออาจจะแซงได้ในที่สุดเหมือนที่ผมเคยอธิบายไว้ในเรื่อง
“การขึ้นเงินเดือนประจำปีไม่ใช่ความก้าวหน้า” ไปแล้ว
โลกนี้ไม่มีอะไรฟรีนะครับ
ดังนั้นคนที่อยากจะได้รับเงินเดือนเพิ่มมากขึ้นจำเป็นจะต้องค้นหาและพัฒนาตัวเองให้มี
C หรือ K S A ให้เพิ่มขึ้นเก่งขึ้นซึ่งก็จะทำให้เกิดผลงานหรือ
P ตามมา ที่ไม่ใช่เพียงการทำงานแบบจบไปวัน ๆ
โดยทุกอย่างเหมือนเดิม !!
P+C นี่แหละครับที่จะเป็น
“มูลค่า” หรือ “คุณค่า” ในตัวของแต่ละคนที่จะทำให้บริษัทที่ทำอยู่ในปัจจุบันจะเห็นความสำคัญและควรจะต้องปรับเงินเดือนเพิ่มให้มากกว่าการขึ้นเงินเดือนปีละ
5 เปอร์เซ็นต์ไปทุกปี
เพราะถ้าบริษัทที่เราทำอยู่ในปัจจุบันไม่เห็นความสำคัญใน
P+C ที่เพิ่มขึ้น ไม่เลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้นหรือไม่ปรับเงินเดือนเพิ่มให้เหมาะสมกับ
P+C ก็แน่นอนว่าเมื่อไหร่ที่มีบริษัทไหนที่เห็นคุณค่าของ P+C
ในตัวของท่าน บริษัทนั้นก็พร้อมจะจ่ายเงินเดือนที่สูงมากกว่าบริษัทเดิมที่ท่านทำงานอยู่เพื่อดึงตัวไปทำประโยชน์ให้กับบริษัทของเขาต่อไป
หรือแม้แต่ท่านที่สร้างและสั่งสม
P+C ในตัวที่มากเพียงพอก็จะสามารถออกมาทำอาชีพอิสระ
หรือเป็นเจ้าของกิจการก็มีให้เห็นอยู่ไม่น้อยเลยนะครับ
สิ่งสำคัญคือท่านสะสมและสร้าง
P+C
ให้เพียงพอที่จะทำให้เกิดคุณค่าและมีมูลค่าในตัวเองให้เพิ่มขึ้น
หรือเป็นคนมีของจนทำให้คนรอบข้างมองเห็นบ้างแล้วหรือยังล่ะครับ
………………………………………….