วันเสาร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

การสัมภาษณ์แบบ Structured Interview คือยังไง ?

            หลายองค์กรแต่งตั้งหัวหน้างานหรือผู้บริหารมาเป็นกรรมการสัมภาษณ์โดยแนวคิดที่ว่าคนที่เป็นหัวหน้าก็ควรจะมีโอกาสสัมภาษณ์คนที่จะเป็นว่าที่ลูกน้องในอนาคต เพื่อดูตัวและพูดคุยกันเสียก่อน ซึ่งก็จะมีผู้สมัครงานมาให้สัมภาษณ์หลาย ๆ คนเพื่อให้ผู้บริหารหรือว่าที่หัวหน้าได้คัดเลือก

            แต่จากประสบการณ์ของผมก็มักจะพบว่าผู้จัดการหรือหัวหน้างานที่ได้รับมอบหมายให้มาเป็นกรรมการสัมภาษณ์นั้นมักจะไม่ได้เตรียมตัวอะไรมาก่อนเข้าห้องสัมภาษณ์เลย หรือเรียกเป็นศัพท์เทคนิคว่า “Unstructured Interview”

แต่ผมมักจะเรียกตามประสาของผมว่าเป็นวิธีการสัมภาษณ์แบบ “จิตสัมผัส” !

เพราะกรรมการสัมภาษณ์จะเข้ามาในห้องสัมภาษณ์จะไม่ได้เตรียมตัวอะไรมาล่วงหน้าเลยแม้แต่การอ่านใบสมัครงานของคนที่ตัวเองจะต้องมาสัมภาษณ์ และก็จะมาสัมภาษณ์แบบไม่ได้เตรียมคำถามมาไว้ล่วงหน้าจึงมักสัมภาษณ์แบบเปะปะ คิดตั้งคำถามไปเรื่อย ๆ เหมือนการพูดคุยพบปะทั่ว ๆ ไป

 ซึ่งแน่นอนว่าคำถามต่าง ๆ ที่ใช้กับผู้สมัครงานแต่ละคนในตำแหน่งงานเดียวกันก็ไม่เหมือนกัน แล้วแต่วันไหนองค์ไหนจะลงประทับทรงหัวหน้างานให้ถามอะไรก็ว่ากันไปตามนั้น

            พูดง่าย ๆ ว่าถ้ามีผู้สมัครงานในตำแหน่งงานนี้สัก 5 คน กรรมการสัมภาษณ์ก็จะถามไปคนละอย่างไม่ซ้ำคำถามกันก็ว่าได้

          แล้วอย่างนี้จะเอาหลักเกณฑ์อะไรมาตัดสินใจล่ะครับว่า ผู้สมัครคนไหนมีคุณสมบัติเหมาะตรงกับงานในตำแหน่งนั้นมากที่สุด ?

            ก็คงไม่แคล้วใช้ “สมองซีกขวา” หรือใช้ความรู้สึกหรือสัญชาติญาณ หรือใช้ลางสังหรณ์หรือหนักกว่านั้นคือใช้ “อคติ” ในการตัดสินใจคัดเลือกคนน่ะสิครับ แล้วองค์กรจะได้คนที่เหมาะสมมาทำงานด้วยหรือไม่ท่านก็คงจะเดาคำตอบได้นะครับ

            มีคำพูดหนึ่งที่ว่า “คำตอบที่ถูกต้อง..ย่อมมาจะคำถามที่ถูกต้อง” ดังนั้นหากผู้สัมภาษณ์ยังไม่รู้จักตั้งคำถามให้ดีแล้วจะหวังว่าเราจะได้คำตอบจากผู้สมัครเพื่อคัดเลือกคนที่เหมาะสมนั้นย่อมเป็นไปได้ยากด้วยใช่ไหมครับ ?

            แต่ถ้าหากกรรมการสัมภาษณ์เตรียมคำถามมาก่อนเข้าห้องสัมภาษณ์และใช้คำถามเดียวกันนั้นกับผู้สมัครงานทุกคน (ในตำแหน่งงานเดียวกัน) โดยคำถามนั้นตั้งขึ้นตามสมรรถนะความสามารถ หรือ Competency ในตำแหน่งนั้น ๆ ขึ้นมา ผมสมมุติว่าตำแหน่งงานพนักงานขายเราต้องการความสามารถเรื่องทักษะการขายเราก็จะต้องเตรียมคำถามในเรื่องทักษะการขาย เช่น

            “คุณมีการเตรียมตัวก่อนการไปพบลูกค้าอย่างไรบ้าง ?”

            “เมื่อลูกค้าปฏิเสธไม่ให้คุณเข้าพบ..คุณมีวิธีอย่างไรบ้างที่จะทำให้ลูกค้ายอมพบคุณจนได้ ?”

            ซึ่งในแต่ละคำถามท่านก็ควรจะต้องมี “เป้าหมาย” ให้ชัดเจนว่าถ้าผู้สมัครตอบมาแบบไหนจะไม่ได้คะแนนเลยเพราะแสดงว่าไม่รู้หรือไม่มีประสบการณ์ในเรื่องนั้นจริง หรือตอบแบบไหนจะได้ 1 คะแนน 2 คะแนน และเมื่อรวมกันทุกข้อคำถามแล้วผู้สมัครคนไหนได้คะแนนรวมสูงสุดคนนั้นก็น่าจะเป็นคนที่เหมาะสมกับตำแหน่งงานนั้นมากที่สุด แล้วท่านก็ใช้คำถามนี้แหละกับผู้สมัครงานในตำแหน่งพนักงานขายทุกคนเหมือนกัน

          แบบนี้แหละครับที่เป็นหลักของการสัมภาษณ์แบบที่เรียกว่า “Structured Interview”


…………………………………..