ผมไปอ่านเจอคำถามในกระทู้ดังแห่งหนึ่ง
มีคนเข้าไปตั้งคำถามว่า....
“เงินเดือนแอร์โฮสเตส
150,000 บาท
เวอร์เกินไปไหม....”
เท่านั้นแหละครับ
มีคนเข้ามาเม้นท์มาเม้าท์มาตอบกันเยอะพอสมควร ต่างก็ตอบไปตามความคิดเห็น
หรือความรู้สึกของตัวเองต่าง ๆ นานา บ้างก็ว่าขี้โม้ไม่จริงหรอก เงินเดือนแสนห้านี่ต้องเป็นเงินเดือนของนักบินผู้ช่วย
(Co-Pilot) แล้วตะหาก เงินเดือนของแอร์ฯจะมาเท่ากับนักบินผู้ช่วยได้ยังไง
หรือบ้างก็ว่าพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินต้องทำงานหนักต้องคอยดูแลผู้โดยสารยิ่งเป็นไฟลท์ไกล
ๆ ก็เหนื่อยมากก็ต้องได้แสนห้าสิเหมาะสมแล้ว ฯลฯ
น่าแปลกที่ว่าผู้คนที่เข้ามาให้ความเห็นในเรื่องนี้ส่วนใหญ่ใช้
“ความรู้สึก” หรือความคิดเห็นส่วนตัวเข้ามาตอบมากกว่าที่จะใช้ “ข้อมูล” !!
ผมว่าเรื่องนี้ยังเป็นปัญหาในการทำงานของบ้านเราอยู่
เพราะเรามักใช้ความรู้สึก..มากกว่าการใช้ข้อมูลหรือเหตุผลเพื่อแก้ปัญหาหรือตอบคำถามน่ะสิครับ
มีคำพูดอยู่คำหนึ่ง
(ใครพูดผมก็จำไม่ได้แล้ว) ว่า “ใครมีข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง
คนนั้นได้เปรียบในการตัดสินใจอยู่เสมอ”
แต่น่าแปลกที่หลายครั้งในการแก้ปัญหาและตัดสินใจที่สำคัญ
ๆ ในระดับองค์กรหรือระดับชาติเรากลับใช้ความรู้สึกตัดสินใจ
แทนที่จะหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ อย่างรอบด้านและกลั่นกรองข้อมูลเหล่านั้นให้ดีเสียก่อน
แล้วจึงนำมาคิดวิเคราะห์เพื่อวางแผนแก้ปัญหาและตัดสินใจ
ซึ่งน่าจะทำให้การตัดสินใจแก้ปัญหาสำเร็จลุล่วงได้ดีกว่าการใช้ความรู้สึก หรือ
“มโน” ในการแก้ปัญหา
อย่างในกรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน ที่ผมเล่ามาให้ฟังข้างต้นนี่ก็เป็นเพียงภาพเล็ก ๆ ในภาพใหญ่ต่อไปเหมือนกันนะครับ
ปัจจุบันเป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร
อินเตอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย การหาข้อมูลไม่ใช่เรื่องยากเหมือนสมัยก่อน
สามารถเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็วและตรวจสอบความถูกต้องได้เร็วเช่นเดียวกัน
แต่ไม่มีใครสักคนหาข้อมูลหรือไปเช็คดูจากแหล่งต่าง
ๆ ดูว่าตกลงแล้วในสายการบินยี่ห้อต่าง ๆ
นั้นเขาจ่ายเงินเดือนแอร์ฯกันเดือนละเท่าไหร่, มีเงินเพิ่มพิเศษอะไรอีกหรือไม่
ซึ่งเมื่อเราได้ข้อมูลจากสายการบินต่าง ๆ
แล้วก็เราก็สามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อหาค่าเฉลี่ย
หรือเลือกใช้ข้อมูลที่มีได้ตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องมาใช้ความรู้สึกถกเถียงกันแบบนี้
ดังนั้น
ถ้าจะถามว่าตกลงเงินเดือนของแอร์โฮสเตสเดือนละ
150,000 บาทใช่หรือไม่
คำตอบก็คือต้องไปหาข้อมูลจาก “ตลาด” (หมายถึงตลาดแรงงานนะครับ)
คือบรรดาสายการบินต่าง ๆ
ที่เขาจ่ายกันอยู่แหละครับว่าเขาจ่ายกันเท่าไหร่ก็จะได้คำตอบที่ดีที่สุดมากกว่าการใช้ความรู้สึกมาตอบ
และตรงนี้ผมก็มีข้อคิดสำหรับผู้บริหารระดับสูงหรือเจ้าของกิจการในเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนจากตัวอย่างข้างต้นก็คือ....
คนที่เป็นผู้กำหนดค่าจ้างตัวจริงหรือ
“ตลาด” นะครับ ไม่ใช่นายจ้าง หรือผู้บริหารเป็นคนกำหนด ซึ่งยังมีเจ้าของกิจการหรือผู้บริหารระดับสูงหลายคนยังเข้าใจว่าฉันเป็นผู้กำหนดค่าจ้างในตำแหน่งงานต่าง
ๆ ในบริษัท
และก็กำหนดค่าจ้างตามใจฉันโดยไม่เคยไปดูเลยว่าในตลาดเขาจ่ายกันเท่าไหร่ในตำแหน่งต่าง
ๆ ที่ทำงานอย่างเดียวกัน
เมื่อพนักงานทำงานไปแล้วพบว่าตัวเองได้ค่าจ้างต่ำกว่าตลาดที่เขาจ่ายกันอยู่
ในที่สุดพนักงานคนนั้นก็จะลาออกเพื่อไปทำงานในบริษัทที่เขาจ่ายให้สูงกว่าที่พนักงานคนนั้นได้รับในปัจจุบัน
ถ้าจะถามว่าแล้วจะรู้ได้ยังไงว่าตลาดเขาจ่ายกันอยู่เท่าไหร่ในตำแหน่งงานต่าง
ๆ ?
คำตอบก็คือ บริษัทของท่านก็ต้องเข้าร่วมการสำรวจค่าตอบแทนกับองค์กรที่เขาเป็นคนกลางในการสำรวจค่าตอบแทนประจำปี
ซึ่งก็มีอยู่หลาย ๆ องค์กรที่เขาทำกันทุกปี เช่น สมาคมจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย
(PMAT) หรือบริษัท HR
Center จำกัด เป็นต้น
เพียงเท่านี้ท่านก็จะมีข้อมูลเรื่องค่าตอบแทนและสวัสดิการเพื่อเป็นฐานความคิดในเรื่องการบริหารค่าตอบแทนขององค์กรของท่านอย่างมีเหตุมีผลมากกว่าการใช้ความรู้สึกแล้วล่ะครับ
………………………………..